xs
xsm
sm
md
lg

ทช.จับมือ มทร.ตรัง จัดตั้งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ตรัง - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจับมือ ม.ราชมงคลศรีวิชัยตรัง จัดตั้งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน ซึ่งถือเป็น 1 ในโครงการ “มาเรียมโปรเจค” ภายใต้แผนพะยูนแห่งชาติ

วันนี้ (3 ธ.ค.) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วย นายไมตรี แสงอริยนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (สบทช.) ตรัง ได้เดินทางไปยังที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) วิทยาเขตตรัง ร่วมกับ ผช.ศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, ผช.ศ.ดร.ประเสริฐ ทองหนูนุ้ย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อันดามันตอนล่างบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทีมงานผู้ประสานงาน

โดยได้ร่วมกันประชุมและลงตรวจสอบพื้นที่อาคารศูนย์ศึกษาธรรมชาติของ มทร.ตรัง เนื้อที่กว่า 20 ไร่ ซึ่ง มทร.ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ให้ใช้พื้นที่เพื่อเตรียมจัดตั้งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง (ตรัง-กระบี่-สตูล) เป็นการชั่วคราว ในระยะเริ่มแรกเป็นเวลา 3 ปี ตามนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างและหน้าที่ความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นใหม่ และเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับ มทร. ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561
 


 
ทั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันทางวิชาการในการศึกษาวิจัย และเฝ้าระวังรักษาทรัพยากรในพื้นที่ ทั้งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย อีกทั้งยังเป็น 1 ในโครงการ “มาเรียมโปรเจค” ภายใต้แผนพะยูนแห่งชาติ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่เลือกพื้นที่จังหวัดตรัง เนื่องด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมติดทะเลและชายฝั่ง เป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่กว่า 18,000 ไร่ และแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่กว่า 180 ตัวของประเทศไทย จนทำให้อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้รับการประกาศเป็นมรดกอาเซียน และยังได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site)

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เดิมกรม ทช. มีพื้นที่งานวิจัยอยู่ 6 จังหวัด ส่วนของภาคใต้อยู่ที่ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งค่อนข้างห่างไกล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสถานีศึกษาวิจัยในพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูล เฝ้าระวังดูแลรักษา อนุรักษ์ฟื้นฟู ดังนั้น ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ที่ทางกรมอาจจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณมาจัดสร้างโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ของ มทร.ตรัง โดยไม่ต้องส่งไปรักษาที่จังหวัดภูเก็ต และช่วยให้ลดอัตราการตาย โดยเฉพาะ “มาเรียมโปรเจค” ซึ่งเป็น 1 ในแผนพะยูนแห่งชาติ เพื่อให้พะยูนมีเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นที่น่าพอใจในระยะ 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับการตายของพะยูนที่อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุนั้น ขณะนี้ได้กำชับกับทางเจ้าหน้าที่กรม ทช. ทั้งการลาดตระเวนเฝ้าระวัง ร่วมกับการทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งกับกลุ่มเครือข่ายและกลุ่มชาวประมง เพราะสัตว์ทะเลและชาวประมงใช้ทะเลร่วมกัน แต่จะต้องรู้บทบาทของตัวเอง รู้ขอบเขตพื้นที่ทำประมง รู้ขอบเขตพื้นที่การกระจายของพะยูน ลดความเร็วของเรือ และไม่ใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายกับพะยูน ซึ่งตอนนี้พี่น้องชาวประมงมีจิตสำนึกร่วมกันในหวงแหนรักษาทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากมากขึ้น
 






กำลังโหลดความคิดเห็น