พังงา - ชาวถ้ำน้ำผุดกว่า 20 คน รวมตัวถือป้ายเรียกร้องให้มีการตรวจสอบที่ดินรัฐ จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ 59 ไร่ ถูกกลุ่มทุนออกโฉนดในเขตป่าชายเลนวังหม้อแกง ต.ท้ายช้าง อ.เมือง จ.พังงา
วันนี้ (28 พ.ย.) นายสมนึก ระฆัง ทนายความผู้รับมอบอำนาจ นำชาวบ้านเมืองพังงา กว่า 20 คน ถือป้ายเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ พร้อมเข้ายื่นหนังสือปรึกษาหาข้อเท็จจริงกรณีที่ดิน จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ 59 ไร่ ซึ่งถูกอ้างสิทธิจากกลุ่มทุน ทั้งที่เข้าใจว่าอยู่ในเขตป่าชายเลนวังหม้อแกง ต.ท้ายช้าง อ.เมือง จ.พังงา ต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพังงา โดยมี นายวิรัช ตั่นสกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพังงา พร้อมด้วย นายรุจน์ ทองขจร หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 20 วังหม้อแกง พังงา เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดพังงา และ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพังงา เข้าร่วมการพูดคุย
โดยทางชาวบ้านได้ยื่นข้อร้องเรียนขอให้ทางจังหวัดพังงาตรวจสอบที่ดินดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในเขต หมู่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมืองพังงา ซึ่งชาวบ้านถือครองอยู่ก่อนที่ส่วนราชการออกเอกสารสิทธิให้แก่บริษัทแห่งหนึ่ง ขณะที่ชาวบ้านไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ ทั้งที่ที่ดินเดิมเป็นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 30 ทำให้เกิดข้อพิพาท อีกทั้งบริษัทเอกชนที่อ้างสิทธิดังกล่าวได้ขายให้แก่ภาครัฐ เพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพังงา
ต่อมา มีการตรวจสอบจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบมีการออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ออกโฉนดในที่ดินบนที่ดินป่าชายเลน โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ยื่นหนังสือขอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิทั้ง 7 แปลง เนื้อที่ 59 ไร่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมที่ดิน ชาวบ้านที่เข้ายื่นหนังสือพร้อมขอให้ภาครัฐดำเนินการตรวจสอบการได้มาของที่ดินดังกล่าว ชอบหรือมิชอบโดยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 20 วังหม้อแกง พังงา ยอมรับว่ามีการตรวจสอบที่ดินพบว่ามีเอกสารยืนยันว่าเป็นที่ดินป่าชายเลนตามมติ ครม. ส่วนขั้นตอนการเพิกถอนอยู่ในชั้นของทางกรมที่ดิน
ผลสรุปของการร่วมกันแก้ปัญหาชาวบ้านถ้ำน้ำผุดในครั้งนี้ ทางหัวหน้าสำนักงานจังหวัดพังงา ได้เสนอตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งให้ระยะเวลากรรมการสอบภายใน 3 เดือน และสามารถขยายเวลาได้อีก 30 วัน จากนั้นผลเป็นประการใดให้ชาวบ้านและหน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมรับฟังเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
ด้าน นายบัญชา ถิ่นลิพอน ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ตนเองเป็นรายหนึ่งที่เป็นคู่ความกับทางบริษัทที่อ้างเอกสารสิทธิและต่อสู้กันมายาวนาน กระทั่งมีเอกสารยืนยันว่า การออกเอกสารสิทธิให้กลุ่มทุนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีเอกสารไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่นอกพื้นที่ของรัฐ คือ นอกเขตป่าชายเลน ทั้งที่ความเป็นจริงอยู่ในเขตป่าชายเลน ตามมติ ครม.ปี 30 โดยถือว่าเจ้าหน้าที่บางรายพยายามใช้อำนาจหน้าที่ส่อไปในทางมิชอบ เรื่องนี้จึงต้องมีคำตอบให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริง