xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรสตรีชายแดนใต้รณรงค์ลดความรุนแรงในครอบครัวและไม่ทำร้ายผู้หญิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
นราธิวาส - องค์กรสตรีชายแดนใต้ รณรงค์ลดความรุนแรงในครอบครัว และรณรงค์ “I AM STRONG” เราไม่ทำร้ายผู้หญิง เนื่องในวันยุติความรุนแรงสตรีสากล เน้นย้ำทุกฝ่ายต้องจับมือยุติทำร้ายเด็กและสตรี

วันนี้ (24 พ.ย.) ที่ห้องประชุมบรมราชกุมารี คณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดนราธิวาส ทางเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดให้มีกิจกรรมการอบรมเพื่อพัฒนาแกนนำสตรีในชุมชน เป็นจิตอาสาเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว ตามโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแกนนำสตรีเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน ลดความรุนแรงในครอบครัว และรณรงค์ “I AM STRONG” เราไม่ทำร้ายผู้หญิง โดยกลุ่มแกนนำเครือข่ายผู้หญิง และผู้นำศาสนา 13 อำเภอ จ.นราธิวาส เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้กว่า 350 คน

ในการนี้ มี นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น.ต.หญิง โนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส นางชารีนา เจ๊ะละ ประธานชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส นางรอซีดะ บูซู ประธานเครือข่ายยุติความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.รูฮานา สาแมง จากมหาวิทยาลัยฟาตอนี นายอับดุลการิม การี เจ้าหน้าที่ฝ่ายไกล่เกลี่ย คณะกรรมการอิสลาม จังหวัดนราธิวาส ร่วมบรรยายและให้ความรู้แก่ผู้ร่วมงานเสวนา สืบเนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women)
 


 
ทั้งนี้ เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัวและสร้างสันติสุขจังหวัดปัตตานี เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จชต. สนับสนุนโดย ศอ.บต.และองค์กรอ็อกแฟม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการป้องกันและให้ความช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ภัยคุกคามทางเพศในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมบูรณาการทำงานกับทีมสหวิชาชีพในระดับจังหวัด และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรี ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐในระดับตำบล ทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอันนำไปสู่การสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง

นางรอซีดะ บูซู ประธานเครือข่ายยุติความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ข้อมูลความรุนแรงต่อผู้หญิงในปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีปัญหาความรุนแรงมากขึ้น แค่ข้อมูลตามที่จัดเก็บของสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่า แต่ละปีมีการร้องทุกข์การใช้ความรุนแรงในครอบครัว เฉลี่ยปีละ 200 กว่ารายในแต่ละที่ เป็นตัวเลขที่น่าใจหาย จำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือบุคคลในครอบครัว

ซึ่งทางองค์กรมีแผนที่จะเดินหน้าเข้าถึงชุมชนในอนาคตอันใกล้ เพราะฐานครอบครัวอยู่ในชุมชน และชุมชนคือสังคมแตกย่อยที่จะเป็นสังคมใหญ่ ต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้เข้าถึงครอบครัว เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก นี่เพียงข้อมูลในอีกด้านหนึ่งเท่านั้น และบางคน บางครอบครัวไม่กล้าที่จะร้องทุกข์ ก็มีไม่น้อย สาเหตุมาจากอาย หรือไม่พร้อมหลายๆ ด้าน
 


 
และครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญที่สุดที่จะพัฒนาคนและสังคม อันจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต และสืบเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ได้ส่งผลกระทบรอบด้าน โดยเฉพาะครอบครัว ขยายไปยังชุมชนกระจายไปยังสังคม สถาบันพื้นฐานเกิดภาวะระส่ำระสาย ขาดซึ่งผู้นำครอบครัวอันเป็นเสาหลักในการดำเนินชีวิต ขาดที่พึ่งพิงได้ที่จะใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นวัฏจักร

“การช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ทอดทิ้งกันของคนในชุมชนสามารถจะประคับประคองสังคมให้เดินไปด้วยกัน นับเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักและร่วมกันส่งเสริม ครอบครัว ชุมชน สังคม สามารถฝ่าฟันความรุนแรงอันเกิดจากคนในครอบครัว หรือชดเชยลดความรุนแรง ท่ามกลางความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นางรอซีดะ บูซู กล่าว

ด้าน นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยถึงกรณีบทบาทสตรีหรือผู้หญิง จากสถานการณ์ความไม่สงบต่อเนื่องกว่า 15 ปี ปัญหาความรุนแรงถูกสะสมมานาน สตรีและเด็กได้รับผลกระทบทั้งตรงและทางอ้อม บทบาทสตรีในฐานะผู้เป็นแม่ในครอบครัว จึงมีความสำคัญ ไม่เพียงแต่ปัญหาสถานการณ์ยาเสพติดก็แพร่ระบาด หน้าที่สำคัญนี้เป็นหน้าที่ของทุกคน และนักศาสนาด้วยที่จะต้องช่วยกัน และสถาบันครอบครัว เป็นพื้นฐานแรกในบ้านที่จะสร้างความเข้าใจ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา และยอมรับว่า ณ ปัจจุบันมีผู้หญิงที่เป็นมุสลิมเข้าร้องทุกข์ร้องเรียนปัญหาครอบครัวมากขึ้น จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหาข้อยุติ และส่งเสริมความรู้ เพื่อยุติความรุนแรงที่จะขยาย และให้ลดลงหรือหมดไปในที่สุด
 


กำลังโหลดความคิดเห็น