คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้ / โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
“มะกรูด” พืชสมุนไพรที่อยู่คู่กับครัวไทยมาช้านาน
.
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มะขู (แม่ฮ่องสอน), มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ), ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้) เป็นต้น
.
มีชื่อสามัญคือ Kaffir lime, Leech lime, Mauritius papeda และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus hystrix DC. จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)
.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
.
“ลำต้น” สูง 2-8 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามยาวเล็กน้อย
.
“ใบ” เป็นใบประกอบลดรูป รูปไข่ มีใบย่อย 1 ใบเรียงสลับ ใบรูปไข่ลักษณะคล้ายใบไม้ 2 ใบต่อกัน คอดกิ่วที่กลางใบ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร ใบสีเขียวแก่ ค่อนข้างหนา พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน มีกลิ่นหอมมาก ใบด้านบนสีเข้ม ด้านใต้สีอ่อน
.
“ดอก” ออกเป็นช่อ 3-5 ดอก กลีบดอกหนาสีขาว 4-5 กลีบ รูปไข่แกมรี ปลายมนแหลม ด้านนอกมีต่อมน้ำมัน มีกลิ่นหอม กลีบร่วงง่าย
.
“เกสรเพศผู้” มีก้านเกสรสีขาว อับเรณูสีเหลืองอ่อน มีจำนวนมาก “เกสรเพศเมีย” สีเหลืองแกมเขียวคล้ายรูปกระบอง ยอดเกสรมีลักษณะกลม
.
“ผล” สีเขียวเข้มคล้ายมะนาว ผิวเปลือกนอกขรุขระขนาดประมาณ 3-7 เซนติเมตร ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลอ่อนสีเขียวแก่ ผลสุกมีสีเหลืองสด ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ผลของพันธุ์ที่มีผลขนาดเล็กจะมีผิวขรุขระน้อย ภายในมีเมล็ดจำนวนมากและไม่มีจุกที่ขั้ว
ประโยชน์ของมะกรูด
.
มะกรูดมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงและต้านทานโรค ช่วยทำให้เจริญอาหาร
.
ใช้สระผมเพื่อทำความสะอาด ทำให้ผมดกเงางาม ป้องกันผมหงอก แก้ปัญหาผมร่วง ความเปรี้ยวของน้ำมะกรูดยังมีฤทธิ์เป็นกรดช่วยขจัดคราบแชมพู หรือชำระล้างสิ่งอุดตันต่างๆ ตามรูขุมขนบนหนังศีรษะ แล้วยังทำให้ผมหวีง่ายอีกด้วย โดยการผ่ามะกรูดเป็น 2 ชิ้น เมื่อสระผมเสร็จให้เอามะกรูดสระผมซ้ำ ด้วยการใช้มะกรูดยีให้ทั่วบนผม แล้วล้างออก จะช่วยทำความสะอาดผมได้
.
ช่วยทำให้ผิวไม่แห้ง ด้วยการนำมะกรูดมาผ่าซีกลงในหม้อต้ม สำหรับนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำอาบเพื่อทำความสะอาดร่างกาย
.
สามารถนำไปใช้ไล่แมลงบางชนิดได้ เช่น มอดและมดในข้าวสาร เนื่องจากน้ำมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก มีกลิ่นฉุน ด้วยการใช้ใบมะกรูดสดๆ ประมาณ 4-5 ใบต่อข้าว 1 ถัง แล้วฉีกใบเป็น 2 ส่วนให้กลิ่นออก แล้วใส่ลงในถังข้าวสาร เมื่อใบมะกรูดแห้งแล้วก็ให้เปลี่ยนใบใหม่ สำหรับเปลือกผลของมะกรูดก็สามารถใช้ในการไล่ยุงและกำจัดลูกน้ำได้ โดยการนำเปลือกมาตากแห้งและเผาไฟจะช่วยไล่ยุงได้ดี
.
มะกรูดมักจะนิยมนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงอาหารในหลายๆ ชนิด โดยเฉพาะเครื่องแกงจำเป็นอย่างขาดไม่ได้เลยที่จะใช้ใบและผิวมะกรูดนำมาเป็นส่วนผสม
.
สรรพคุณในส่วนต่างๆ ของมะกรูด
.
“ใบมะกรูด” มีรสปร่า กลิ่นหอม ดับกลิ่นคาว แก้ไอ แก้ช้ำใน
.
“ผลมะกรูด” ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางออก ใส่มหาหิงค์แล้วปิดจุก หรือนำไปเผาไฟจนดำเกรียม บดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งใช้กิน จะช่วยขับลมแก้ปวดท้อง หรือใช้ป้ายลิ้นเด็กอ่อนเป็นยาขับขี้เทาได้ ใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้องในเด็กอ่อนด้วย
.
“น้ำมะกรูด” มีรสเปรี้ยว ใช้ผลมะกรูดผ่าซีกเติมเกลือ ลนไฟให้เปลือกนิ่ม บีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อยๆ ช่วยกัดเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสีย ฟอกโลหิต ขับระดู ขับลมในลำไส้ ใช้ถูฟันแก้เลือดออกตามไรฟัน
.
“ผิวมะกรูด” มีรสปร่า กลิ่นหอมร้อน ขับลมในลำไส้ ขับระดู ขับผายลม ฝานบางๆ ชงน้ำเดือดใส่การบูรเล็กน้อย กินแก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ และช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดี
.
“ราก” มีรสจืดเย็น แก้ไข้ ถอนพิษสำแดง แก้ลมจุกเสียด กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ
ข้อควรระวัง
.
การใช้น้ำมันหอมระเหยมะกรูดมาใช้ทาภายนอก หลังจากทาแล้วภายใน 4 ชั่วโมงไม่ควรให้ผิวหนังบริเวณที่ทานั้นสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง เพราะอาจจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นไหม้ได้
.
สำหรับ “มะกรูด” นอกจากจะถือเป็น “สมุนไพรก้นครัว” แล้ว ยังต้องถือว่าเป็น “ไม้มงคล” ที่ควรปลูกไว้บริเวณบ้านด้วย โดยเชื่อกันว่าปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขนะขอรับ
บรรณานุกรม
- https://www.doctor.or.th › article › detail
- https://medthai.com › สมุนไพร