โดย... พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ
ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยไม่มี “ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่การวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่า “ขัด” หรือ “แย้ง” ต่อรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน และถูกยกเลิกไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญในอดีตมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภาที่ประชาชนเลือกตั้งมา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติโดยส่วนใหญ่ ดังเช่น
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นครั้งแรกมีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาแต่งตั้งเป็นประธานคณะตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอื่นอีก 14 คน
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีก 4 คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 คน โดยกำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เป็นผู้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละ 3 คน และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นประธาน
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีก 4 คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์หรือสาขารัฐศาสตร์อีก 6 คน ซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภาละ 3 คน ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
การวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการกระทำใดมีข้อความ “ขัด” หรือ “แย้ง” ต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น เห็นควรเป็นอำนาจขององค์กรที่ยึดโยงกับประชาชนคือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกตั้งมาและเป็นผู้ร่างกฎหมาย
เนื่องเพราะย่อมมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ตราออกมา ดังนั้น โครงสร้างของ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” จึงสอดคล้องต่อหลักการประชาธิปไตย
ส่วนอำนาจของผู้พิพากษา ตุลาการ หรือศาล ไม่ใช่ผู้บัญญัติกฎหมายเหมือนฝ่ายนิติบัญญัติ หน้าที่หลักของฝ่ายตุลาการคือ การพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีโดยทั่วไป อันเป็นการพิจารณาข้อเท็จจริง เพื่อปรับว่าเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายใด อันเป็นการบังคับใช้กฎหมายเป็นคดีๆ ไป
ในอดีต “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ได้มีผลงานที่ดี เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน ในฐานะองค์กรพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ