xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตและงาน และการปฏิบัติการบนพื้นที่ทางสังคมของ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์... คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้  /  โดย... รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ม.ทักษิณ
 


 
เมื่อครั้งได้รับการคัดเลือกเป็นองค์ปาฐกถาประจำปีมูลนิธิโกมล คีมทอง พ.ศ.2552 ในหัวข้อ “อุดมคติที่ยังมีตัวตน ตนเล็กคือความหวังท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “หมอจุ๊ก” ได้พูดไว้อย่างรวบรัดถึงประสบการณ์การร่วมต่อสงสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโครงการพัฒนาของรัฐว่า
 
“ถ้าคนเล็กๆ กล้าที่จะออกมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล แม้การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้เวลา แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าต้องมีคนเริ่ม เริ่มด้วยสิ่งที่เราเห็นและกล้าเผชิญกับสิ่งที่จะเป็น แน่นอนว่าเมื่อออกมาเผชิญกับอำนาจรัฐ คุณก็จะถูกตอบโต้ได้เป็นธรรมดา คือเราคนเล็กๆ สามารถเคลื่อนไหวทางสังคมได้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้สำเร็จ แต่ว่าจะเป็นหนึ่งในพลังที่ช่วยกันทำให้อุณหภูมิของน้ำร้อนขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อความร้อนถึงระดับหนึ่ง พลังอีกไม่มากเมื่อใส่ไปอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของน้ำจากของเหลวกลายเป็นก๊าซ เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะของอำนาจของโครงการได้” 
 
ผมคิดว่าคือฐานคิดสำคัญที่ทำให้หมอจุ๊กให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวทางสังคมในความหมายของการระดมมวลชน เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า “สะสมชัยชนะ” ทั้งการก่อผลสะเทือนในเชิงโครงสร้างสังคม การขานรับของสังคม ที่สำคัญคือการสะสมรูปการสำนึก และอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนและมวลชนผู้ถูกกดขี่ ที่ไกลกว่าสถานการณ์ที่กางกั้น การต่อสู้เฉพาะหน้า เฉพาะเรื่อง เฉพาะถิ่น ไปสู่การสร้างประชาชนที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยมวลชน หรือประชาธิปไตยทางตรง ที่ก่อรูปและสถาปนาขึ้นด้วยพลังและอำนาจประชาชน
 
“เราสนใจประชาธิปไตยทางตรง ไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบผู้แทน สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือไปสนับสนุนให้ชาวบ้านเข้มแข็ง เพื่อให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตเขาตรงๆ ซึ่งก็คือการประท้วง เพราะการคัดค้านอย่างสุภาพไม่มีในโลก คัดค้านอย่างไรก็ต้องมีการแสดงออกซึ่งเป็นวิธีการที่จริง ที่ผ่านมาการคัดค้านโดยการยื่นหนังสือไม่เคยประสบความสำเร็จ”
 
ในฐานะคนคุ้นเคย ทำให้บางครั้งคราผมคิดว่าหมอสุภัทรนี่จัดเป็นพวก Radical Democracy Movement? เอามากๆ ไม่ใช่นิยมความรุนแรงนะ แต่คือการเอาตัวเองไปเป็น “เนื้อหนึ่งที่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับความเจ็บปวดและข้อเรียกร้องของมวลชน” การเอาประชาชน-ชุมชนเป็นตัวตั้ง ใช้สิทธิทางการเมืองมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องเฉพาะจุด ไม่มีกรอบอุดมการณ์ตายตัว
 .
แม้แต่ตัวหมอจุ๊กเองก็ไม่ปฏิเสธ แถมยังยอมรับอย่างเบิกบานด้วยซ้ำไป!!
 .
“ทิ้งไม่ได้ เราชอบงานเคลื่อนไหวด้วย มีความสุข มันเป็นตัวตนไปแล้ว จริงๆ มันเป็นอัตตาแบบหนึ่งนะ ได้ไปหมู่บ้าน จับไมค์ ให้ข้อมูล...แพ้ชนะไม่รู้ แต่สู้ไว้ก่อน
  

ภาพจากเฟซบุ๊ก Supat Hasuwannakit
 
อัตตาและตัวตนใหม่ บางครั้งทำให้ใครบางคนหลงลืมว่า เขาเป็นคุณหมอ!! 
 .
ครั้งหนึ่งระหว่างร่วมประชุมที่บ้านจีนในรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา “พี่หนู” พรรณิภา โสตถิพันธ์เกิดอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หมอจุ๊กที่ร่วมประชุมอยู่ด้วยรีบลุกแล้วถลาเข้าไปช่วย จับชีพจรแล้วทำสีหน้าจริงจังก่อนพูดว่า “นั่งพักเดียวก็หายครับ” แต่พี่หนูมองหน้าแบบลังเล เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง และแล้วพูดเสียงดังฟังชัดกันทั้งวงประชุมว่า “พี่ไปหาหมอดีกว่า” จากนั้นก็ขอตัวออกจากที่ประชุมไปอย่างรีบๆ
 .
ทั้งห้องประชุมปล่อยฮากันทุกคน มีเพียงหมอจุ๊กคนเดียวที่ทำหน้าแบบงงๆ!!
 .
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ก็มีข้อจำกัดในหลายประการ เช่น การสลายขั้วมวลชน การปิดล้อมของรัฐและทุน การหยิบยื่นสงเคราะห์แบบประชารัฐ ประชานิยม การกล่อมเกลามวลชนด้วยวิธีการที่แยบยล ซ่อนเงื่อน เป็นต้น ทำให้หมอจุ๊กหันไปปฏิบัติการทางสังคมและการเมืองผ่านการสร้างพื้นที่รูปธรรมในเชิงอุดมคติและคุณภาพมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
 
การปฏิบัติการไม่ใช่เพียงแค่การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่คือการผนวกเอาการเคลื่อนไหว การระดม และการจัดตั้งฐานมวลชนให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการบนพื้นที่ทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรม ผ่านการสร้างคุณค่า ชุดความคิด วิธีคิดแบบใหม่ ด้วยข้อมูล และการปฏิบัติการอย่างด้วยรูปธรรมที่สัมผัส รับรู้และจับต้องได้ และใช้สิ่งนั้นเลาะตะเข็บการเปลี่ยนแปลง ทำลายความชอบธรรมของอำนาจนำ
 
พลังงานทางเลือกอาจเป็นข้อเสนอในเชิงอุดมคติ แต่คือการแปลงความคิด ความฝัน จินตนาการ แรงบันดาลใจ และการอุทิศตนสู่การปฏิบัติการสร้างรูปธรรมเชิงพื้นที่ ประเด็น กิจกรรม ฯลฯ บนฐานการมีส่วนร่วม เคารพในหลักการประชาธิปไตย การเชื่อมั่นในพลังอำนาจประชาชนและคนเล็กคนน้อย ถือเป็นการบ่อนเซาะอำนาจนำ ทุนนิยมอำมหิต รัฐบรรษัทนิยม ได้อย่างทรงพลัง ได้รับการขานรับ/สอดรับกับอารมณ์ ความรู้สึก ความคาดหวังของสาธารณชนอย่างเต็มๆ
 
ยิ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับความโดดเด่นด้วยการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยดิจิทัล” ซึ่งก็คือการใช้ข้อมูลหรือการสื่อสารออนไลน์ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการสื่อสารด้านประชาธิปไตยของประชาชนด้วยรูปธรรมที่ว่าด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ขบวนของคนเล็กคนน้อยปรากฏตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน อันเป็นการสั่งสมยืนยันความเชื่อ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ของหมอยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นไปในทุกวัน
 .
-----------------------------------------------------------------------
 .
หมายเหตุ : เนื่องในโอกาสจัดงานงานปาฐกถาพิเศษ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ในโอกาสรับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เรื่อง “อุดมคติที่เป็นไปได้ ความหวัง ความฝัน เพื่อสร้างสังคมใหม่” ณ ห้องประชุมปาริชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา เมื่อวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562


กำลังโหลดความคิดเห็น