ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แม่ทัพภาค 4 ปิดปากเงียบเรื่องประกาศ “เคอร์ฟิว” ในพื้นที่ 9 อำเภอของ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา “เบตง-สุไหงโก-ลก” เมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวชายแดนใต้ติดโผด้วย ขณะที่พ่อค้าและนักธุรกิจหวั่นกระทบหนัก
จากกรณีการฆ่าหมู่ 15 ศพ ชรบ. อรบ. และ ผรส. ที่ป้อมยามจุดตรวจ “ทางลุ่ม” บ้านทุ่งสะเดา หมู่ 5 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา และเป็นเหตุให้กองทัพภาคที่ 4 ประกาศเคอร์ฟิวส์ในพื้นที่ 9 อำเภอของ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา นั่นคือ อ.สุไหงโก-ลก อ.ศรีสาคร และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.จะนะ เทพา นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 ถึง 30 พ.ย.2563 ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ถึงการออกคำสั่งเคอร์ฟิวในครั้งนี้ ถึงเหตุผลที่ประกาศเคอร์ฟิวส์ในพื้นที่ ซึ่งไม่มีความรุนแรง และเป็นพื้นที่ซึ่งมีการปลดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากกองทัพภาคที่ 4 ไปแล้วกว่า 2 ปี เพื่อขอทราบเหตุผล แต่ พล.ท.พรศักดิ์ ไม่ตอบ โดยตอบเพียงว่าไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิวส์ในพื้นที่ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ
ในขณะที่ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สระ ผบช.ภ.9 ซึ่งผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวในครั้งนี้ว่า เป็นการทำให้การคลี่คลายสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่นั้น ผบช.ภ.9 ไม่ตอบ โดยกล่าวเพียงว่าตำรวจได้ทำหน้าที่ในการคลี่คลายคดีอย่างเต็มที่แล้ว
ขณะที่พ่อค้า และนักธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจ อย่าง อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่อยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยว กล่าวว่า อ.เบตง และ อ.สุไหงโก-ลก เป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีเหตุรุนแรงมาร่วม 2 ปี การประกาศเคอร์ฟิวส์จะส่งผลกระทบการธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งเป็นหน้าเทศกาลคริสต์มาส ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วต้องได้รับผลกระทบแน่นอน อยากให้กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทบทวนให้ดี เพราะที่ถูกที่ควรการประกาศเคอร์ฟิวส์ ต้องประกาศในพื้นที่ซึ่งมีการก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เมืองเศรษฐกิจ และที่สำคัญเป็นเมืองที่ไม่มีเหตุรุนแรง
สำหรับความคืบหน้าในการติดตามคนร้ายผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในผู้ถูกจับกุมใน อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการให้ข่าวว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มโจรที่ถล่มป้อมยาม ชรบ.ทางลุ่มนั้น เจ้าหน้าที่ซึ่งทำการสอบสวน เปิดเผยว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้ แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มแนวร่วม หรือคนร้ายกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเคยก่อเหตุหลายๆ เหตุการณ์ในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา นำตัวมาสอบสวนเพื่อที่จะหารายละเอียดว่ามีการเชื่อมโยงกับกลุ่มคนร้ายที่ถล่ม ชรบ.ทางลุ่มหรือไม่เท่านั้น ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่พบความเชื่อมโยง
เช่นเดียวกับคำสั่งของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ให้ ฉก.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สั่งการให้กำลังพลในทุกพื้นที่ตรวจสอบสุสานว่ามีการฝังศพคนร้ายหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยในการเป็นที่รักษาพยาบาลคนเจ็บ เพราะจากหลักฐานต่างๆ ที่ชุดลาดตระเวนเดินเท้าพบในเส้นทางหลบหนีของคนร้าย พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 2-3 คน และหนึ่งในนั้นบาดเจ็บสาหัส ต้องมีการตัดไม้ทำเปลหามไปรักษาตัว
ซึ่งในการสืบสวน เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบ ตรวจค้นหมู่บ้านเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในเทือกเขาใน ต.ลำพะยา เพราะเชื่อว่าคนเจ็บต้องมีการใช้รถยนต์ในการหลบหนี เพื่อไปยังสถานที่พยาบาล โดยในเบื้องต้นพบว่ามีแนวร่วมระดับเปอร์มูดอ ในพื้นที่ ต.ลำพะยา ต.ลำใหม่ อ.เมืองยะลา มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำคนเจ็บหลบหนี
สำหรับเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บของขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ใน 15 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไม่เคยตรวจพบว่าผู้บาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ถูกนำไปรักษาพยาบาลที่ไหน ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อดีตแนวร่วมระดับสูงที่ออกจากขบวนการแล้ว ได้เปิดเผยให้ทราบว่า ใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา บีอาร์เอ็นมีแพทย์หรือหมอที่เป็นแนวร่วมของบีอาร์เอ็น ซึ่งจบแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาพยาบาลคนเจ็บ โดยแพทย์ของบีอาร์เอ็นได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทน เท่ากับเงินเดือนที่จะได้รับหากเข้าทำงานในคลินิก หรือโรงพยาบาล ส่วนคนเจ็บที่อาการสาหัส บีอาร์เอ็นจะมีหน่วยขนส่ง หรือโลจิสติสก์ เป็นผู้รับผิดชอบในการนำส่งข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งผ่านมา 15 ปี เจ้าหน้าที่ยังค้นไม่เจอสถานที่ซึ่งบีอาร์เอ็นใช้ในการรักษาพยาบาลคนเจ็บ ซึ่งใน จ.นราธิวาส เคยมีข่าวว่า สถานที่ในการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บตั้งอยู่ใน อ.สุคิริน แต่ไม่มีรายละเอียดว่าอยู่ตรงจุดไหนของอำเภอ รวมทั้งกลุ่มผู้รับผิดชอบคนเจ็บคนป่วยของบีอาร์เอ็น คือกลุ่มสตรีที่มีการจัดตั้งในทุกอำเภอ แต่ที่ผ่านมา งานการข่าวของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่เคยมีรายงานถึงความเคลื่อนไหว ไม่มีรายละเอียดของกลุ่มสตรีที่เป็นกำลังสำคัญในพื้นที่แต่อย่างใด
โดยหลังเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 7-8 พ.ย. กำลังทหารพรานในทุกจังหวัด ได้ดำเนินการตรวจสอบ ตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ทั้งสุสาน หรือ “กุโบร์” และสถานีอนามัย สถานพยาบาลเอกชน รวมทั้งร้านจำหน่ายยาในพื้นที่อย่างละเอียด แต่ไม่พบเบาะแสว่ามีการนำผู้บาดเจ็บจากการปะทะมาทำการรักษาพยาบาล ทุกชุดที่ออกไปตรวจสอบต่างคว้าน้ำเหลว และผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ
แหล่งข่าวที่มีความเข้าใจในการเป็นองค์กรลับของบีอาร์เอ็น เปิดเผยว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กำลังหลงทางในเรื่องของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ซึ่งทุกครั้งจะระบุในทันที่หลังการก่อเหตุเพิ่งจบ ทั้งที่ยังไม่มีพยานหลักฐาน รวมทั้งการเอาหลักฐานจากปลอกกระสุนปืนที่เคยก่อเหตุมาเป็นประเด็นว่า ผู้ก่อเหตุเป็นใคร โดยอ้างว่าปืนที่ใช่ก่อเหตุเคยก่อเหตุมาแล้วกี่เหตุ
ประเด็นสำคัญคือ ปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นปืน “กองกลาง” ของขบวนการที่ไม่ได้อยู่ประจำตัวกับแนวร่วมคนใดคนหนึ่ง เมื่อมีการสั่งการให้ก่อเหตุ ผู้ที่ทำหน้าที่ก่อเหตุ จะได้รับปืนจากแนวร่วมที่นำปืนมาให้ และหลังการก่อเหตุจะมีแนวร่วมมารับปืนไปเก็บใน “กองกลาง” เพื่อรอใช้ในครั้งต่อไป ดังนั้น ผู้ที่ใช้ปืนที่มีประวัติในการก่อเหตุจึงไม่ใช่บุคคลเดียวกันในเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น การสรุปการสืบสวนสอบสวนเช่นนี้ จึงทำให้มีการออกหมายจับ “ซ้ำซาก” ทำให้เห็นว่า มีแต่ “แนวร่วม” หรือคนร้ายกลุ่มเก่าที่มีอยู่ไม่ถึง 20 คน ซึ่งต่างมีหมายจับคนละ 10-20 หมายใน 15 ปี ทั้งที่ข้อเท็จจริงการก่อเหตุแต่ละครั้ง อาจจะเป็นคนอื่น และเป็นแนวร่วมหน้าใหม่ หรือ “กลุ่มคนหน้าขาว” ที่ไม่มีประวัติในแฟ้มของตำรวจ และทหาร
ล่าสุด หน่วยข่าวความมั่นคงได้รายงานให้ทราบว่า กลุ่มคนร้ายทั้งหมดยังไม่ได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่หลังการก่อเหตุได้แยกย้ายกันไปหลบซ่อน ซึ่งพื้นที่ต้องสงสัยที่มีเบาะแส คือ อ.โคกโพธิ์ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยเฉพาะ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นแหล่งกบดานสำคัญ และมีเส้นทางธรรมชาติในการหลบหนีข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกที่สุด