คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
“จุดคบไฟใต้” ห่างหายไป 1 สัปดาห์ เป็นเพราะผู้เขียนมีภารกิจเดินทางไปประชุมกับสมาคมหนังสือพิมพ์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งที่นครเป่ยจิง เมืองหลวง และที่เมืองฮาร์บิ้น มณทลเฮยหลงเจียงรวม 6 วัน และหลังจากกลับจากประเทศจีนก็มีงานด่วนต้องเดินทางไปประชุมกับสมาคมสื่อมวลชนรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียต่ออีก 3 วัน นี่คือสาเหตุที่ทำให้ส่งต้นฉบับไม่ทัน ขอบคุณใครต่อใครที่ติดตามคอลัมน์นี้และโทรศัพท์มาสอบถามด้วยความเป็นห่วง
ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ต้องขอชื่นชม พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ที่เปิดปฏิบัติการใช้ “ยุทธวิธี” ในหลายรูปแบบเพื่อควบคุมพื้นที่ใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เพื่อ “จำกัดเสรีภาพ” ของ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมิให้ก่อเหตุร้ายได้อย่างสะดวกดาย
และสาเหตุที่การก่อการร้ายลดลงในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะยุทธวิธีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้ได้ผล หรือเป็นเพราะขบวนการ “บีอาร์เอ็น” อยู่ระหว่างการ “วางแผน” เพื่อแก้ “สมการ” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงไม่ได้มีการ “เคลื่อนไหว” หรือลงมือปฏิบัติการแบบ “รายวัน” เหมือนกับที่ผ่านๆ มา
แต่ถ้าตรวจสอบ “ข่าว” ความเคลื่อนไหวของขบวนการบีอาร์เอ็นแล้วก็จะพบว่า โจรใต้หรือแนวร่วมยังไม่ได้หยุดนิ่ง ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมก่อการร้ายอยู่ตลอดเวลา และครอบคลุมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียด้วย
เพียงแต่ “งานการข่าว” ในพื้นที่ของหน่วยงานความมั่นคงกลับยังไม่สามารถ “ลงลึก” ได้ว่าจะมีการก่อการร้ายในวันและเวลาไหน รวมถึงในพื้นที่ไหน ที่มีการรายงานอยู่เป็นเพียงการส่ง “ข่าวแจ้งเตือน” ด้วยการ “คาดคะเน”ว่าเป้าหมายของโจรใต้น่าจะเป็นพื้นที่นั้น พื้นที่นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบว่าพวกเขาต่างก็เคลื่อนไหวอยู่แล้ว และมีแนวร่วมที่เข้มแข็งในพื้นที่คอยให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี
โดยข้อเท็จจริงถ้าดูจาก “ปฏิทินโจร” จะพบข้อมูลว่า ทั้งเดือนกันยายนและตุลาคมเป็นเดือนที่โจรใต้เคยก่อเหตุค่อนข้างมาก รวมทั้งเป็นเดือนที่เคยมีเหตุ “ตายหมู่” ของ “มุสลิม” ถึง 83 ศพที่เกิดจากการชุมชนที่หน้าโรงพักตากใบ จ.นราธิวาส
แม้ว่าเหตุการณ์ตายหมู่ของมุสลิมที่ชุมนุมแล้วถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องสงสัยของฝ่ายเจ้าหน้าที่ โดยถูกขนส่งลำเลียงจากหน้าโรงพักตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จะผ่านไปแล้ว 15 ปี แต่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกขบวนการก็ยังคงใช้เหตุการณ์ตายหมู่ที่เกิดขึ้นนี้เป็น “เครื่องมือ” ในการ “ปลุกระดม” ในการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ทั้งในพื้นที่และในโลกมุสลิมอย่างได้ผล
ที่สำคัญในทุกเดือนตุลาคมที่ผ่านๆ มา ทั้งโจรใต้และแนวร่วมก็จะก่อเหตุใน “วันสัญลักษณ์” ดังกล่าว เพื่อ “ตอกย้ำ” ให้คนในพื้นที่ ให้สมาชิกของขบวนการ รวมถึงให้ญาติๆ ของผู้สูญเสียได้เจ็บปวดและเจ็บแค้นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และพุ่งเป้าไปที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่ปฏิบัติการต่อผู้ต้องสงสัยแบบไร้มนุษยธรรม จนเกิดการตายหมู่ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไฟใต้
หากไม่มีเหตุการณ์ “คาร์บอมบ์” ที่หน้าโรงพักเก่าที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี และเหตุร้ายอื่นๆ อีก 4 เหตุใน จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี เมื่อกลางดึกของวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เกิดขึ้น นั่นก็จะเป็นว่าเดือนตุลาคมปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ไม่มีเหตุก่อการร้ายรุนแรงเกิดขึ้นในเดือนสัญลักษณ์ ซึ่งบีอาร์เอ็นไม่เคยหยุดที่จะใช้ตอกย้ำเพื่อสร้างความเจ็บปวดและเจ็บแค้นให้มุสลิมทั่วโลก
เรื่องของ 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งท้ายเดือนตุลาคม 2562 จึง “ชี้ชัด” อีกครั้งหนึ่งว่าโจรใต้และแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ โดยมีเป้าหมายในการก่อการร้ายด้วย “ความรุนแรง” แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ วิธีการและวิธีการที่ใช้ก็เหมือนๆ เดิม เช่น “แต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่รัฐ” ในการเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เป็นเป้าหมาย
ถ้าจะสังเกตว่าโจรใต้ “ปล้นชิงรถยนต์” เพื่อไปทำคาร์บอมบ์แบบเดิมๆ กล่าวคือ ก่อเหตุเสร็จก็นำรถยนต์ไปประกอบระเบิดอย่างรวดเร็ว และนำไปปฏิบัติการยังเป้าหมายที่ต้องการในทันที อย่างการทำคาร์บอมบ์ที่หน้าโรงพักเก่า อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี มีการชิงรถกระบะของ อบต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี หลังจากได้รถยนต์แล้วก็ขับหลบหนีระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร จาก อ.ทุ่งยางแดงไปยัง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานีเช่นกัน ผ่านพื้นที่อำเภอต่างๆ ราว 3-4 อำเภอโดยที่ไม่มี “จุดตรวจ” ไหนสกัดกั้นได้ ทั้งที่มีการวิทยุแจ้งให้มีการตั้งจุดตรวจและจุดสกัดแล้ว
ประเด็นนี้คือ “จุดอ่อน” ของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ เพราะทุกครั้งที่โจรใต้ปฏิบัติการแบบ “มาเร็ว เคลมเร็ว” จะพบว่ารถยนต์ที่ถูกชิงไปเพื่อทำคาร์บอมบ์มักจะไปถึงเป้าหมายในระยะทาง 60-80 กิโลเมตร โดยที่จุดตรวจต่างๆ ไม่สามารถสกัดเอาไว้ได้
ประเด็นนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้อง “วิเคราะห์” หาสาเหตุ และต้อง “ปรับยุทธวิธี” ของการตั้งจุดตรวจและจุดสกัด รวมทั้งหลังรับแจ้งเหตุต้องให้กองกำลังในพื้นที่ต่างๆ ออกจากฐานปฏิบัติการเพื่อไปสกัดตามเส้นทางรอง ซึ่งไม่ใช่เส้นทางหลัก อันถือเป็นเส้นทางที่แนวร่วมใช้ในการปฏิบัติการและหลบหนีหลังการปฏิบัติการแล้วเสร็จ
ทุกปฏิบัติการของโจรใต้ในด้านของยุทธวิธีในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่าไม่มีอะไรใหม่ แม้แต่เรื่องของการ “ใส่ถุงมือ” ในการประกอบระเบิดและลอบวางระเบิดก็เป็นเรื่องเก่าๆ ดังนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงต้องมียุทธวิธีที่ “ใหม่กว่า” และ “พลิกแพลงกว่า” ในการปฏิบัติการ
ตัวอย่างกรณี “วิสามัญ 2 ศพ” ผู้เป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ขณะกำลังหลบหนีหลังลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ได้ผลจากการพลิกแพลงในการตั้งจุดสกัดในเส้นทางที่แนวร่วมใช้ในการหลบหนีนั่นเอง
ด้าน “มาตรการเข้มงวดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย” ด้าน จ.นราธิวาสที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ให้ใช้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รับตำแหน่ง “แม่ทัพ” ก็เป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งของการพยายาม “ป้องกันเหตุ” โดยมิให้โจรใต้และแนวร่วมมีความสะดวกในการข้ามพรมแดนในช่องทางเถื่อน เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบระเบิด ณ วันนี้ ส่วนใหญ่มาจากประเทศมาเลเซีย
ที่สำคัญตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะในฟากฝั่งของฝ่ายมาเลเซียนั้นเป็น “หมู่บ้านจัดตั้ง” ที่ขบวนการบีอาร์เอ็นจัดตั้งขึ้น โดยเป็นทั้งหมู่บ้านที่ใช้ในการ “หลบซ่อน” เป็นหมู่บ้านที่ใช้เป็นที่ขนถ่าย “อุปกรณ์ทำระเบิด” ซึ่งพร้อมที่จะส่งข้ามมายังฝั่งไทยเมื่อได้รับคำสั่ง
ที่ผ่านมา การวางระเบิด 18 จุดในกรุงเทพฯ ทั้ง “อุปกรณ์ระเบิด” และ “คนวางระเบิด” ส่วนหนึ่งก็ถูกส่งไปจากประเทศมาเลเซีย และการที่มีคำสั่งเข้มงวดแนวชายแดนไทย-มาเลเซียด้าน จ.นราธิวาสครั้งนี้ นั่นก็น่าจะมาจากมี “ข่าวสาร” ระบุว่า บีอาร์เอ็นจะส่งกำลัง 20 คนจากฝั่งมาเลเซียเข้าไปก่อกวน “การประชุมสุดยอดอาเซียน” ครั้งที่ 35 ถึงในเมืองหลวง ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพอยู่ในเวลานี้
แต่การเข้มงวดแนวชายแดนไทย-มาเลเซียด้าน จ.นราธิวาสเพียงด้านเดียว นั่นย่อมไม่ได้ผลในการสกัดกั้นได้ทั้งหมด เพราะชายแดนที่ยาวมากของ จ.นราธิวาส ย่อมมี “ช่องว่าง” ให้โจรใต้และแนวร่วมข้ามไป-มาได้อยู่ดี เนื่องจาก “สายข่าว” ของขบวนการที่มีอยู่เต็มในพื้นที่ย่อมส่งข่าวความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยให้ได้รับรู้และหาทางหลบหลีกได้ตลอดเวลา ซึ่งจะสังเกตว่ามีการกวดขัดแนวพรมแดนด้าน จ.นราธิวาสหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้ผลในการจับกุมทั้งโจรใต้ แนวร่วมและอุปกรณ์ทำระเบิดที่มาจากฝั่งมาเลเซีย
และที่สำคัญ ณ วันนี้คนของขบวนการบีอาร์เอ็นมีความสามารถก่อการร้ายด้วยระเบิด ไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือต้องส่งข้ามมาจากฝั่งมาเลเซียเท่านั้น แต่เวลานี้มีกระจายไปทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว แถมในพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็มีข่าวล่าสุดแจ้งว่า มีกองกำลังของบีอาร์เอ็นที่สามารถ “ปฏิบัติการทางทหาร” ได้มีจำนวนถึง “1 พลาตง” หรือ 1 หน่วยปฏิบัติการ
ดังนั้น หากบีอาร์เอ็นต้องการปฏิบัติการทางทหารนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลานี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้กองกำลังที่ส่งข้ามมาจากฝั่งมาเลเซีย หรือจากพื้นที่ไปใต้เองก็ได้ แต่ที่บีอาร์เอ็นไม่ค่อยใช้กองกำลังนอกพื้นที่ดังกล่าว เพราะยังไม่ถึงเวลา และต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐ “เข้าใจผิด” และการปฏิบัติการกวดขันจากแนวชายแดนด้วยความเข้มงวดย่อมทำให้ “คนในพื้นที่ส่วนหนึ่ง” ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งถือเป็น “เงื่อนไข” ที่บีอาร์เอ็นต้องการให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว
การที่เหตุร้ายลดลงดังกล่าวจึงยังไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจ และอย่าได้เข้าใจผิดว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว เพราะเป้าหมายของบีอาร์เอ็นในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการ “ก่อการร้ายรายวัน” เหมือนในอดีต แต่สิ่งที่ต้องการคือการ “รุกในงานการเมือง” หรืองานมวลชนในพื้นที่ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
เนื่องเพราะนโยบายของบีอาร์เอ็นไม่ใช่การยึดพื้นที่เพื่อการสู้รบกับเจ้าหน้าที่อย่างเปิดเผย หรือเหมือนอย่างเช่นการแบ่งแยกดินแดนที่ จ.อาเจะ ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่เกาะมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์ แต่บีอาร์เอ็นต้องการ “รุกงานมวลชน” หรือทำงานทางการเมืองเพื่อสร้างฐานมวลชนในการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ
ในขณะเดียวกัน บีอาร์เอ็นก็ต้องการสร้าง “เงื่อนไข” ให้เป็นไปตาม “กฎบัตรสหประชาชาติ” หรือการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การ “ทำประชามติ” ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 10 ปี หรือ 20 ปีก็ได้ สำหรับบีอาร์เอ็นถือเป็นเรื่องที่ “รอได้”
ดังนั้น ทุกปฏิบัติการในพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงเป็นได้เพียงแค่การ “ทุเลา” สถานการณ์เท่านั้น เพราะตราบใดที่บีอาร์เอ็นยังมี “หลังพิง” ที่มั่นคงอยู่ในมาเลเซีย และตราบใดที่รัฐบาลมาเลเซียไม่ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการในเรื่องของการสกัดกั้นบีอาร์เอ็น ความสงบสุขอย่างถาวรจะไม่เกิดขึ้นในแผ่นดินปลายด้ามขวานแน่นอน
ดังนี้แล้ว “กองทัพ” จะต้องใช้งบประมาณปีละ 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแค่ “ทุเลาไฟใต้” ต่อไปแบบ “มองไม่เห็นจุดหมาย” ในขณะที่คนในพื้นที่ต้อง “อยู่แบบไม่รู้อนาคต” นั่นเท่ากับว่าสถานการณ์จะจบลงอย่างไร จะอยู่ในพื้นที่ต่อเพื่อรอวัน “สันติสุข” หรือจะ “อพยพ” ออกจากพื้นที่เพื่อไปหาอนาคตที่ดีกว่า
ส่วนผู้ที่มีอนาคตดีอย่างแน่นอนแน่แท้ถ้า “ไฟใต้” ยังไม่มีทีท่าว่าจะ “ยุติ” ลงได้ก็คือ “ผู้ที่ถืองบประมาณ” เพื่อการดับไฟใต้นั่นเอง เพราะในเม็ดเงินจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปีนั้น มี “งบบูรณาการ” ที่สามารถนำไป “ใช้ทำอะไรก็ได้” อยู่ถึงกว่า 10,000 ล้านบาท
ซึ่งนี่คือความ “หอมหวาน” ของบรรดาผู้มีอำนาจท่ามกลาง “ความขมขื่น” ของสังคมไทย โดยเฉพาะกับคนในพื้นที่
และที่ขมขื่นมากไปกว่านั้นคือ “ความล้มเหลว” ทั้งที่มีการทุ่มใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนมหาศาล อย่างเช่น เรื่องราวของมาตรการ “2 แชะอัตลักษณ์” ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “โฆษณาชวนเชื่อ” ว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่สุดท้ายใช้ปฏิบัติไม่ได้จริง
อันชวนให้ผู้คนเห็นถึงความเป็น “ตัวตลก” และนำไปสู่ “ความเสื่อมศรัทธา” ต่อหน่วยงานและบุคคลที่ชอบแสดงอาการ “ขึงขัง” และ “ข่มขวัญ” ในเบื้องต้น แต่ล้มเหลวในท้ายสุดนั่นเอง
ห้วงเวลา 2 เดือนก่อนที่จะสิ้นปี 2562 ถ้าตรวจสอบข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายบอาร์เอ็น ทั้งระดับแนวร่วมในพื้นที่และ “แกนนำ” ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน นั่นก็จะพบความเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุร้ายในทุกพื้นที่แบบเป็นช่วงๆ เพื่อ “รักษาสถิติ” ของการก่อเหตุร้ายไว้
จึงเป็นหน้าที่ของ “ผู้มีอำนาจ” และ “ผู้มีงบประมาณในมือ” ที่จะต้องสร้างความสงบให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อหยุดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ให้ได้ผล ภายใต้ความคาดหวังของสังคมว่า คงจะไม่ “ล้มเหลว” เหมือนกับหลายๆ เรื่องที่ผ่านๆ มา