ปัตตานี - “ปิยะบุตร แสงกนกกุล” นำทีม กมธ.กฎหมายพบปะประชาชนครั้งแรก ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ย้ำแก้ปัญหายุติธรรม การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยกเลิกกฎอัยการศึก
คณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นำโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมาธิการ พร้อม น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายนิรามิต สุจารี, นายรังสิมันต์ โรม, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ, นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ และนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จัดกิจกรรม “กมธ.กฎหมายพบประชาชน” ครั้งที่ 1 นับเป็นการเปิดเวทีครั้งแรกเพื่อรับฟังข้อร้องเรียน ปัญหา และความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยมีนิสิตนักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน ณ ห้องประชุมอิหม่ามอัล-นาวีย์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ซึ่งการที่คณะกรรมาธิการเลือกเปิดเวทีที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นที่แรก เนื่องจากพื้นที่นี้มีปัญหามายาวนานจากการใช้กฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงมีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในประเทศ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า มีคณะกรรมการฯ ทั้งหมด 15 คน มาร่วมงานนี้ 6 คน โดยหลังเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการรวม 35 คณะ โดยคณะกรรมาธิการกฎหมาย มีขอบเขตการดำเนินงานใน 3 ประเด็นหลักคือ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนให้ได้ผลมากที่สุด
“5 ปีที่ผ่านมา มีการกระทำที่ขัดหลักนิติธรรมเป็นกระบวนต่อเนื่องมาหลายปี มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไทยเคยเป็นผู้นำในเรื่องของสิทธิมนุษยชน แต่รัฐประหารทุกสมัยทำให้เรื่องนี้ลดลง ปัญหาในด้านกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งมาจาก คสช. ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมขั้นพื้นฐาน มีเนื้อหาที่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม มีความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิ์ อดีตที่ประเทศไทยเราได้รับการยอมรับจากอาเซียน แต่พอหลังจากมีรัฐประหารเกิดขึ้นทุกครั้งจะทำให้ถูกลดระดับลง หลังจากรัฐประหารปี 2549 เกิดขึ้นเมื่อกลับสู่ระบบปกติ มีผู้แทนราษฎรที่ราษฎรเลือกมาเป็นตัวแทน เป็นปากเสียง การมารับฟังครั้งนี้จึงเป็นบทบาทสำคัญเพื่อมารับฟังปัญหาที่พี่น้องพบเจอ และไปทุกภาคเพื่อเข้าถึงปัญหาภายใต้การรื้อฟื้นประชาธิปไตยกลับมา”
การเปิดเวทีเช่นนี้เป็นปกติของการสื่อสารขั้นพื้นฐาน ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย พื้นที่นี้มีปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษ การละเมิดสิทธิ์ จึงเลือกพื้นที่นี้เป็นที่แรกเพื่อต้องการฟังเสียงสะท้อนของพื้นที่ และจะนำไปส่ง แก้ไข สู่กระบวนการ ตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ และรัฐสภาต่อไป
นายนีรามิตร สุจารี โฆษกคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ ได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวอีสาน การออกกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมชนว่า เป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ดินทำกินของประชาชนคือมีสิทธิ์ ความชอบธรรมในที่ดินของตนเองที่ได้รับจากบรรพบุรุษ แต่เมื่อกฎหมาย พ.รบ.ออกมา ซึ่งทำให้มีปัญหาตามหลัง เกิดความไม่ชอบธรรมขึ้น กลายเป็นถูกกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ พื้นที่สาธารณะประโยชน์ หากไม่รีบดำเนินการสำรวจขอบเขตต่างๆ ทั่วประเทศให้ชัดเจนแล้ว จะทำให้ชาวบ้านต้องติดคุกอีกมากจากการสู้คดี จนบางคนต้องหมดเนื้อหมดตัว การปฏิรูปที่ดิน หรือ สปก.4-01 ซึ่งกฎหมายตัวนี้มีปัญหาคือ ผู้ได้รับมรดกสืบทอดที่ดินนั้น ถูกกำหนดว่าต้องไม่เป็นข้าราชการ ทำให้รู้สึกว่าไม่เท่าเทียมกัน ชาวบ้านธรรมดากลับไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง
รัฐจึงต้องรีบกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ต้องเอาจริงในการกำหนดขอบเขต ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมีปัญหา และอยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรี กฎหมายข้อนี้ควรแก้ไขปัญหา หนึ่งคือทุกคนต้องมีสิทธิ์และประโยชน์ในที่ดิน มีที่ดินของตนเองทุกคน และควรยกเลิกกฎหมาย สปก. 4-01 เพราะทำให้ชาวบ้านมีปัญหา เห็นว่าเป็นความไม่ชอบธรรม ควรแก้ไขต่อไป
“กรรมาธิการชุดนี้สลายความเป็นพรรค ทำประโยชน์เพื่อพี่น้องให้มากที่สุด” นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.พรรคประชาติ เขต 4 นราธิวาส เลขานุการคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ กล่าวถึงความหลากหลายของคณะกรรมาธิการชุดนี้ และบอกว่าต้องศึกษาให้ถึงแก่นว่าปัญหาของชายแดนใต้มีมานานจากผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง การบังคับใช้กฎหมายคือปัญหาหนึ่ง จะเปลี่ยนกี่รัฐบาลแต่ปัญหานี้ยังคงอยู่ รัฐต้องระวังในการประกาศใช้กฎหมาย
“ในฐานะ ส.ส.ในพื้นที่ และคณะกรรมาธิการชุดนี้ ต้องขอบคุณที่คณะกรรมาธิการทุกคนเลือกมาลงพื้นที่ชายแดนใต้เป็นที่แรก ปัญหาของที่นี่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ สิ่งที่อยากจะบอกคือทุกคนต้องศึกษาถึงต้นตอของปัญหาด้วย ส่วนใหญ่มองเพียงเริ่มต้นจากตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเท่านั้น และจากการใช้กฎหมายในพื้นที่พิเศษนี้ เข้าใจว่าต้องการมีเจตนาดีในการแก้ปัญหา แต่เมื่อถึง 15 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง นั่นเพราะปัญหาชายแดนภาคใต้นี้มีมาก่อนหน้านั้น ปัญหาความขัดแย้งของบุคคลที่เห็นต่าง มันมีมานานแล้ว และยังคงอยู่ การบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเท่านั้น คนในพื้นที่ทราบเป็นอย่างดีว่าต้นเหตุปัญหาคืออย่างไร เช่น ปัญหาความรู้สึกของประชาชนว่ารู้สึกเหมือนชนชั้น 2 เมื่อประชาชนมีความคิดต่างจากรัฐจะใช้ช่องทางนี้ในการต่อสู้”
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อถึงภาครัฐว่า ต้องระวังในการบังคับใช้กฎหมาย ระวัง และมีการทบทวนในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึกต่างๆ ที่มีปัญหาอยู่ เป็นห่วงเยาวชนนักศึกษารุ่นใหม่ วิธีแก้ปัญหาความรู้สึกที่คน 3 จังหวัดไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะรู้สึกถึงความหวาดระแวงต่อกัน เช่น การตรวจดีเอ็นเอในนักศึกษาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่เป็นคน 3 จังหวัด ส่วนหนึ่งคือคนที่นี่ถูกกดทับ ปัญหาของทุกคนยังไม่สามารถพูดในที่สาธารณะได้ ควรเปิดพื้นที่ และให้มีบรรยากาศที่ดีที่ทุกคนสามารถมีสิทธิ์มีเสียง พูดถึง และแสดงออกในสิทธิของตนเองได้
“เรื่องกฎหมายพิเศษมีทุกเวที เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาของคน 3 จังหวัด จะถูกแยกโดยคนที่ไม่ใช่คน 3 จังหวัด ไปอยู่ที่ไหนก็ถูกเจ้าหน้าที่หวาดระแวง เป็นปัญหาที่น่ากลัว ความเกลียดชังคน 3 จังหวัดจะลามไปทั่วประเทศ การสร้างบรรยากาศไม่ให้ถูกกดทับ ในอดีตการพูดถึงผู้เห็นต่างไม่มีในร้านน้ำชา แต่ปัจจุบันสามารถพูดได้”
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช รองประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ คนที่ 4 บอกถึงการละเมิดสิทธิ์ในพื้นที่ที่มีความทับซ้อนอยู่มากจากกฎหมายพิเศษ การปะทะ ความสูญเสีย และปัญหาใหญ่คือการพรากสิทธิ์ที่จะเติบโตทางศักยภาพของพื้นที่
“เมื่อได้มาทำงานตรงนี้ ต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้จริง ซึ่งหลังเลือกตั้งแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขตามกลไกของทางรัฐสภา เรื่องการใช้บังคับใช้กฎหมายในด้านสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาอย่างมาก เช่น ปัญหาการซ้อมทรมาน เห็นว่ามีปัญหามาโดยตลอด และมีมากกว่าพื้นที่อื่นๆ จึงนำมาซึ่งความรุนแรง การปะทะ และการสูญเสียต่างๆ เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นที่น่าเสียดายที่คนนอกพื้นที่คิดแต่ปัญหา แต่ไม่คิดถึงศักยภาพ คือสิ่งที่ถูกกดทับจากความรุนแรง 15 ปีที่ผ่านมา ใช้งบประมาณในการพัฒนาไป 1.3 แสนหมื่นล้านบาท ขณะที่คนในพื้นที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท เป็นความสูญเสียของประเทศ ต้องขยายเรื่องนี้ให้คนทั้งประเทศได้เห็น ส่วนหนึ่งคือคนในประเทศเห็นว่าเป็นปัญหาของคุณ ไม่ใช่ปัญหาของเรา มองเป็นพื้นที่ปัญหา ต้องทำให้เห็นว่าเราสูญเสียอะไร และจำเป็นต้องแก้ปัญหาร่วมกัน”
เวทีเปิดรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ โดยมีผู้นำเสนอในหลายประเด็น นายมาโนช จาก จ.ภูเก็ต เสนอให้มีการร่างภูเก็ตจัดการตนเอง และปรับปรุงภาษากฎหมายให้ประชาชนเข้าถึง และเข้าใจง่าย
นางนงเยาว์ กสิวงศ์ ตัวแทนชาวบ้านค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยา บอกถึงการต่อสู้มาถึง 16 ปี เพื่อปกป้องที่ดินทำกินที่สมบูรณ์ให้คงอยู่ ความสัมพันธ์ของผู้คน ความสงบสุขที่กำลังจะหายไปจากการยืนยันของรัฐที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำให้ได้ ทั้งที่มีอ่างเก็บน้ำที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้ว และจะใช้กฎหมายเวนคืนมาบังคับ เกิดความขัดแย้งในชุมชน คนที่ยืนยันไม่เวนคืนประมาณ 400 ไร่ ประการสำคัญคือ จะต่อสู้ในฐานะคนไทยเพื่อได้รับความเป็นธรรม พร้อมกันนั้น นางนงเยาว์ พร้อมตัวแทนได้ยื่นหนังสือต่อนายปิยบุตร เพื่อนำไปช่วยดำเนินการต่อ
ประเด็นการเก็บดีเอ็นเอของเจ้าหน้าที่โดยชาวบ้านไม่สมัครใจ นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ กรรมาธิการฯ ได้กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติเช่นนี้มาหลายปี ต้องระวังในการละเมิดสิทธิ ในทางกฎหมาย บอกว่า สามารถเก็บได้หากต้องจำเป็นต้องตรวจพิสูจน์บุคคล โดยเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ การให้เซ็นยินยอมอ้างว่าเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้น อำนาจมาจากกฎหมายพิเศษ ในทัศนะส่วนตัวยังไม่มีอำนาจเก็บดีเอ็นเอโดยใช้กฎอัยการศึก ไม่มีอำนาจสภาพบังคับให้เซ็นยินยอม หากยืนยันไม่ให้เก็บขอสงวนสิทธิ์ของตัวเอง หากถูกกดดันไม่สามารถปฏิเสธได้คือไม่เซ็นยินยอม หากดีเอ็นเอใดที่ถูกเก็บแล้วไม่เซ็นยินยอม เจ้าหน้าที่ตรวจหาพันธุกรรม 16 หลักจะไม่ตรวจให้ เป็นเรื่องที่กฎหมายต้องหาข้อยุติให้ได้ รัฐก็ต้องตอบให้ชัดว่าใช้อำนาจอะไร
ประเด็นที่ถูกถามมาตลอด และถูกถามอีกในเวทีนี้คือ การลงทะเบียนยืนยันอัตลักษณ์หรือ 2 แชะ ที่จะหมดเขตในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ว่า ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประชาสัมพันธ์ว่า หากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดไม่ไปลงทะเบียนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยการถ่ายภาพใบหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ภายในเวลาที่กำหนด จะถูกตัดสัญญาณการใช้โทรศัพท์ โดยบางส่วนได้ไปลงทะเบียนแล้ว และอีกบางส่วนยังไม่ไปลงทะเบียนเพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์นั้น น.ส.พรรณิการ์ บอกว่า หากครึ่งหนึ่งของคนในพื้นที่ยังไม่ลงทะเบียน โดยหลักการก็เป็นไปไม่ได้ที่จะถูกตัดสัญญาณ ใช้อำนาจกฎหมายไหนมาบังคับ หากไม่ทำจะผิดไหม
ด้านนายกมลศักดิ์ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า ขอความร่วมมือ แต่หากไม่ลงทะเบียนจะตัดสัญญาณ ได้หารือประธานสภาในประเด็นนี้ และค้นระเบียบของ กอ.รมน.ภาค 4 ก็ไม่มีอำนาจตัดสัญญาณ เพราะเป็นอำนาจของบริษัทที่ให้บริการ ระเบียบของ กสทช. เมื่อเดือนเมษายน 2562 คือให้ผู้ที่ซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ใหม่แสดงอัตลักษณ์ทั่วประเทศ ไม่มีกฎหมายฉบับไหนให้อำนาจบริษัทไหนตัดสัญญาณ ที่พึ่งสุดท้ายคือศาลปกครอง และทำหนังสือร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพื่อร้องเรียนและตรวจสอบต่อไป และย้ำว่าตนเองก็ยังไม่ไปลงทะเบียนเช่นกัน