.
โดย... ศูนย์ข่าวภาคใต้
.

หากพิจารณาแล้ว กรณีของ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” หรือ นายบัญญัติ สุวรรณแว่นทอง นายหนังตะลุงตาบอดชื่อกระฉ่อนภาคใต้ ซึ่งใช้ถ้อยคำหยาบคายต่างๆ นานาด่าพระสงฆ์วัดเนินพิจิตร อ.นาหม่อม จ.สงขลา แม้ขณะเปิดการแสดงอยู่ในวัดแห่งนั้น อีกทั้งยังด่าลุกลามต่อเนื่องสู่ภายนอกวัดอีกหลายวัน เหตุเพราะไม่พอใจที่ถูกวิจารณ์ว่า “เรียกค่าจ้างแพง” มากไปนั้น
บทสรุปของเรื่องนี้เชื่อว่าไม่น่าจะต่างอะไรไปจากสำนวนไทยที่ว่า... “น้ำผึ้งหยดเดียว”!!
เรื่องของเรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อค่ำคืนวันที่ 18 ต.ค. 2562 ช่วงก่อนการแสดงในงานแก้บนที่วัดเนินพิจิตร มีแม่ค้าที่มากับคาราวานนายหนังตะลุงได้คาบข่าวไปบอกเล่าให้ “หนังน้องเดียว” ฟังทำนองว่า มีพระในวัดรูปหนึ่งพูดว่า ถ้าเป็นคนออกเงินจ้างหนังตะลุงจะไม่รับ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” มาเล่น เพราะค่าราดแพงถึงคืนละ 8 หมื่นบาท แถมยังเล่นแต่สวน (เพียงคนเดียว) อีกด้วย
ไม่คิดว่าคำบอกเล่าของแม่ค้าจะบาดหู “หนังน้องเดียว” ได้อย่างสุดที่ใครจะคาดคะเนได้ เพราะตลอดการแสดงหนังตะลุงในยามค่ำคืนนั้น นายหนังตาบอดชื้อดังก็ได้เปิดฉากด่าอย่างสาดเสียเทเสีย “พระบางรูป” ในวัดเนินพิจิตรที่เป็นต้นเรื่องนี้ได้อย่างแทบไม่เว้นวรรค ถึงขนาดกรรมการวัดบางคนทนไม่ไหวได้ขึ้นไปบนโรงหนังตะลุงขอร้องให้นายหนังเลิกด่าพระ แต่นายหนังกลับมีทีท่าไม่ยอมลดราวาศอกให้ ยังคงเชิดหนังด่าพระไปจนจบการแสดง
เท่านั้นยังไม่หนำใจ หลังแสดงเสร็จและเดินทางออกจากวัดเนินพิจิตรกลับที่พักคืนนั้น “หนังน้องเดียว” ยังได้อัดคลิปเปิดใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นคลิปแรก เผยแพร่ไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเล่าเรื่องที่แม่ค้าในคาราวานที่มาบอกว่ามีพระวิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าราด พร้อมกับยอมรับว่าในการแสดงแก้บนที่วัดเนินพิจิตรคืนนั้น เขาไม่พอใจคำพูดพระและได้ด่าพระไปตลอดการแสดง เพราะเงินที่จ้างเขาไปเล่นหนังตะลุงไม่ใช่เงินของพระ พระรูปนั้นจึงไม่ควรเข้ามายุ่งด้วย จะเรียกเงินเท่าไหร่ จะเรียก 8 หมื่นหรือ 1 แสนบาทก็เป็นเรื่องของตนเอง คนจ้างเขารับในราคานั้นได้ก็พอ

เมื่อมีคลิปที่ 1 ก็ย่อมมีคลิปที่ 2 และคลิปที่ 3 ตามมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นไม่กี่วันทางฝ่ายองค์กรสงฆ์ก็ไม่นิ่งเฉย พระราชวรเวที เจ้าคณะจังหวัดสงขลา ได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะทุกอำเภอในพื้นที่ จ.สงขลา ขอความร่วมมือจากวัดต่างๆ ให้ “ระงับ” หรือ “ยกเว้น” การนำหนังตะลุงคณะ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” ไปเปิดการแสดงในวัดอีก
ไม่เพียงเท่านั้นยังกำชับด้วยว่า จนกว่า “หนังน้องเดียว” จะแสดงความรับผิดชอบในพฤติกรรมของตนเอง โดยการขอขมาต่อคณะสงฆ์ โดยบันทึกคลิปการขอขมาดังกล่าวโพสต์ลงในยูทูป และให้ลบโพสต์ที่กล่าวใส่ร้ายพระสงฆ์ในยูทูปทั้งหมดออกจากระบบด้วย
เรื่องราวที่นายหนังตะลุงตาบอดชื่อก้องเปิดฉากรบกับพระสงฆ์บางรูปถูกนำเสนอสู่สาธารณชน ทั้งโดยช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนทุกสำนัก “ข่าวคาว” ในเรื่องนี้จึงได้ลุกลามอย่างรวดเร็วและกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมจับตามองกับอย่างแทบไม่กระพริบตา
แน่นอน! มีทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของ “หนังน้องเดียว” โดยเฉพาะในเรื่องการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม และออกไปในทางหยาบคายต่อพระสงฆ์ แม้จะพยายามระบุว่าบางรูปก็ตาม เนื่องจากเรื่องราวของพระสงฆ์องคเจ้าเป็นอันรู้กันในหมู่ชาวไทยพุทธว่า พุทธศาสนิกชนควรให้ความเคารพสักการะต่อพระสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แม้แค่การตำหนิติเตียนพระสงฆ์ ชาวไทยพุทธหลายคนก็ถือว่าเป็น “บาป” และอาจถึงขั้นปากจะเน่า หรือปากเป็นหนอน
เรื่องการให้ความเคารพสักการะพระสงฆ์นั้น มีแม้กระทั่งคำพูดที่ติดปากผู้คนจำนวนมากว่า แม้ว่า “คน” ที่บวชเป็นพระสงฆ์จะไม่ดี ไม่น่าเคารพ ไม่อยากยกมือไหว้ แต่ก็ให้คิดเสียว่า “ไหว้ผ้าเหลือง” ก็แล้วกัน
โดยผู้คนในฟากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของ “หนังน้องเดียว” ครั้งนี้ นอกจากจะมีชาวเน็ตที่จำนวนมากที่เป็นนักรบไซเบอร์แล้ว บรรดานายหนังตะลุงหรือคนในแวดวงศิลปินด้วยกันหลายคนก็ออกมาติเตือนรุ่นน้อง มีการแนะนำให้หยุดด่าและให้ไปขอขมาพระ พร้อมปรับความเข้าอกเข้าใจต่อกัน

ทว่าก็มีอีกฟากฝ่ายที่แสดงออกว่า “เห็นด้วย” กับการกระทำของ “หนังน้องเดียว” ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีนักรบไซเบอร์อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน และก็ได้เปิดศึกอยู่ในโซเซียลมีเดียอย่างไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่แล้วก็พร้อมประกาศตัวตนเป็น “เอฟซี” หรือแฟนคลับของนายหนังมากมายคารมคมคาย ที่แม้จะตาบอดแต่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองได้แบบถึงกึ๋น
นอกจากนี้แล้วยังมีฝ่ายหนึ่งที่แม้ไม่ได้กล่าวสนับสนุนการกระทำของ “หนังน้องเดียว” โดยตรง แต่ก็พร้อมร่วมเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง “วัด” และ “พระ” ที่ถูกทำให้หรือวางตัวไม่เหมาะสม ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่าคือวัดใด หรือพระรูปไหน อย่างหลายคนบอกว่ามีบ้านอยู่ใกล้วัด เห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมหลายอย่างของพระสงฆ์ เรื่องแบบนี้จะมีใครไปช่วยจัดการกันได้บ้าง
อย่างไรก็ตามก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มองว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นจนบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่โตนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งพระที่พูดพาดพิงเรื่องค่าราดและนายหนังตะลุงที่ด่าพระกลับต่างก็ผิดด้วยกันทั้งคู่
กล่าวคือ ฝ่ายพระที่ “บวชเรียนมาแล้ว” ไม่สมควรจะพูดอย่างนั้น เพราะนอกจากจะดูไม่สำรวมแล้ว อาจจะเลยเถิดไปว่าเป็นการกระทำที่ไม่ค่อยจะปล่อยวางกับทางโลกย์ ส่วนนายหนังตะลุงก็ดูจะ “หัวร้อน” เกินเหตุ เรื่องเพียงเท่านี้น่าจะเดินไปกราบนมัสการพระคุณเจ้า แล้วเข้าไปสอบถามกันดีๆ พูดคุยกันดีๆ เรื่องราวคงไม่บานปลายไปมากมายอย่างที่เห็น
เรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและถูกทำให้ลากยาวเช่นนี้ เชื่อว่าหลายคนมีคำถามคาใจว่า อะไรคือ “สาเหตุ” แท้จริงที่ทำให้ “หนังน้องเดียว” ออกอาการและออกตัวแรงแบบสุดๆ โดยเฉพาะมีอะไรที่ทำให้ต้องตามราวีไม่เลิกรากับ “พระสงฆ์” ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์ตัวเขา

เกี่ยวกับประเด็นนี้มีเสียงแว่วมาจากแฟนคลับที่ติดตามผลงานของหนังตะลุงคณะ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” มาตลอดต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า หากพิจารณาจากเนื้อหาการเล่นหนังตะลุงที่ผ่านๆ และหลายๆ บทเพลงที่เขาร้องแล้วมีการอัพโหลดในสื่อโซเชียล ซึ่งมักจะมีการตำหนิติเตียนพระที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมมาตลอดนั้น
เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าสิ่งที่น่าจะเป็น “ปม” ที่ทำให้ “หนังน้องเดียว” ติดค้างคาใจกับ “พระ” มานาน เป็นเพราะเขาอยาก “บวช” เพื่อทดแทนบุญคุณให้แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่และกับพ่อที่เสียไปแล้ว แต่เพราะ “พิการทางสายตา” ทำให้ไม่มีพระหรือวัดไหนทำพิธีบวชให้ได้
เมื่อย้อนดูปูมประวัติ “หนังน้องเดียว” เราจะพบว่า พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุได้ราว 5 ขวบ ครอบครัวจึงเหลือเพียงแม่คนเดียวที่ทำงานหาเลี้ยงลูกทั้ง 3 คน ซึ่งแม่ต้องดิ้นรนทำมาหากินอย่างลำบากยากแค้น อีกทั้งต่อมาไม่นาน “พี่ชาย” คนเดียวก็มีอันต้องมาเสียชีวิตไปอีกคน เวลานี้เหลือแต่เพียง “พี่สาว” กับตัวเขา ซึ่งลูกทั้ง 2 คนที่เหลือไม่สามารถบวชทดแทนบุญคุณแม่พ่อได้
ส่งผลให้ในชาตินี้แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถที่จะ “จับชายผ้าเหลือง” ลูกคนไหนได้เลย
ส่วนชีวิตการก้าวเข้าสู่แวดวงศิลปินของ “หนังน้องเดียว” แม้จะเริ่มต้นได้ค่อนข้างดีจากการได้รับการชักชวนจาก “เอกชัย ศรีวิชัย” นักร้องนักแสดงสายเลือดสะตอที่ถือเป็นซุปตาร์ระดับแนวหน้าเมืองไทย ให้ไปร่วมคณะวงดนตรีลูกทุ่งในฐานะนักร้องหน้าเวทีเมื่ออายุได้เพียง 14 ปี และแค่ร่วมเดินสายตระเวนเปิดการแสดงได้ปีเดียว หัวหน้าวงยอมรับในฝีมือถึงขั้นปลูกบ้านให้ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
แต่เมื่อพี่สาวเพียงคนเดียวที่คอยช่วยเหลือและดูแลในระหว่างเดินสายกับวงดนตรีเอกชัย ศรีวิชัย ตัดสินใจแต่งงานมีครอบครัว ความที่ “หนังน้องเดียว” ตาบอดทำให้ขาดคนดูแล เขาจึงเดินสายร้องเพลงต่อไปไม่ได้อีก จึงต้องกลับไปอยู่กับแม่ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ช่วงที่กลับมาอยู่กับแม่นี่เองที่เขาเริ่มฝึกเล่นหนังตะลุงอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่เพียงเท่านั้นยังคิดจะทำเพลงอัดแผ่นซีดีขายด้วย เขาจึงได้นำที่ดินและสร้อยทองของแม่ไปกู้เงินมาใช้ดำเนินการ โชคดีที่เพลงชุดแรกขายดิบขายดีจนนำเงินไปใช้หนี้ได้ทั้งหมด หลังจากนั้นความเป็นนายหนังตะลุงฉาวแววขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น “หนังน้องเดียว” มากชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้
เรื่องราวที่ถูกพระในวัดเนินพิจิตรพูดถึงเรื่องค่าราดที่ค่อนข้างจะแพงนั้น จากบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ lifenewsonline เมื่อปี 2555 “หนังน้องเดียว” บอกเล่าไว้คราวนั้นความว่า
“แม้จะมีงานเข้ามาเยอะ แต่ก็ใช่ว่าจะร่ำรวย เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งบางงานรับไว้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วในราคาหนึ่ง แต่เมื่อถึงวันแสดงจริงค่าใช้จ่ายต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้นมาก แต่ก็ไม่เคยเรียกเงินเพิ่ม เพราะถือสัจจะวาจา และต้องแสดงเต็มที่ทุกงานไม่มีออมมืออย่างเด็ดขาด เพราะถือคติว่าต้องทำให้ดีที่สุด และให้คุ้มค่ากับที่เจ้าภาพเลือก”
ส่วนเรื่องที่น่าจะเป็น “ปม” กับพระมีสิ่งยืนยันคือ “หนังน้องเดียว” ได้ร่วมกับ “อ.หมี เหนือคลอง” แต่งเพลง “อยากบวชให้แม่” โดย “ครูเชาว์ เขาทะลุ” หรือ นายเชาวรัตน์ รักษาพล บอกเล่าว่า เขาอยากบวชให้แม่ แต่บวชไม่ได้ตามข้อปริยัติ ซึ่งในเพลงมีเนื้อร้องทำนองว่า บวชไม่ได้เพราะตาพิการ สงสารแม่ที่ไม่ได้ดั่งฝัน แต่ถึงแม้จะไม่ได้บวชก็จะดูแลแม่ไปตลอดชีวิต

เมื่อทราบประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง “หนังน้องเดียว” กับ “พระ” แม้จะระบุว่าแค่บางรูปแล้วก็ตาม นั่นก็น่าจะเห็นที่มา-ที่ไปได้ว่า เพียงแค่มีแม่ค้าไปบอกว่ามีพระวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินค่าจ้างแสดง เหตุใดจึงจุดติด แล้วแทงใจดำเสียขนาดทำให้หัวร้อนขึ้นมาทันใด พร้อมแสดงอาการโกรธเป็นฟืนเป็นไฟได้นานนับสัปดาห์
อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่ดำเนินไปได้กว่าสัปดาห์ ปรากฏว่าเสียงเตือนและข้อแนะนำที่กระหึ่มดังก็ได้ทำให้ฟืนไฟในใจ “หนังน้องเดียว” ค่อยๆ ราลงจากโชนเปลวกลายเป็นมอดสงบได้ในที่สุด ซึ่งเขาก็ได้ทำพิธี “ขอขมา” พระสงฆ์องค์เจ้าอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศยินยอมลบโพสต์และทำตามเงื่อนไขไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2562 ณ วัดมหัตตมังคลาราม (วันหาดใหญ่ใน) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาหักล้าง หรือสร้างความชอบธรรมให้แก่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ เนื่องเพราะ “หนังน้องเดียว” อายุก็ใช่ว่าจะยังเป็นแค่เด็กวัยรุ่น เขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก มีครอบครัว มีเมียและมีลูกที่ต้องดูแล อีกทั้งมีลูกน้องๆ ในวงที่ฝากชีวิตไว้กับเขาอีกมากมาย
การเอาตัวเข้าแลกกับ “พระ” จนถูกแบนทั้งจังหวัดสงขลา แถมมีทีท่าจะลุกลามไปในอีกหลายจังหวัดของภาคใต้ นั่นใช่ว่า “หนังน้องเดียว” จะเดือดร้อนแต่เพียงผู้เดียว การยึดฐิถิถือมั่นเอาไว้สุดท้ายแล้วสิ่งที่สู้อดทนสร้างสมมาอาจจะมลายหายไปในเวลาชั่วไม่นานนัก
การกล่าวว่าบทสรุปของเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง “หนังน้องเดียว” กับ “วงการพระสงฆ์” ตรงสำนวนไทยที่ว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว” จึงไม่น่าจะผิดความหมาย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เหตุการณ์นี้จะสร้าง “บทเรียนมากค่า” ไว้ให้แก่สังคมไทย โดยเฉพาะกับสังคมคนใต้อย่างแน่นอน?!?!
โดย... ศูนย์ข่าวภาคใต้
.
หากพิจารณาแล้ว กรณีของ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” หรือ นายบัญญัติ สุวรรณแว่นทอง นายหนังตะลุงตาบอดชื่อกระฉ่อนภาคใต้ ซึ่งใช้ถ้อยคำหยาบคายต่างๆ นานาด่าพระสงฆ์วัดเนินพิจิตร อ.นาหม่อม จ.สงขลา แม้ขณะเปิดการแสดงอยู่ในวัดแห่งนั้น อีกทั้งยังด่าลุกลามต่อเนื่องสู่ภายนอกวัดอีกหลายวัน เหตุเพราะไม่พอใจที่ถูกวิจารณ์ว่า “เรียกค่าจ้างแพง” มากไปนั้น
บทสรุปของเรื่องนี้เชื่อว่าไม่น่าจะต่างอะไรไปจากสำนวนไทยที่ว่า... “น้ำผึ้งหยดเดียว”!!
เรื่องของเรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อค่ำคืนวันที่ 18 ต.ค. 2562 ช่วงก่อนการแสดงในงานแก้บนที่วัดเนินพิจิตร มีแม่ค้าที่มากับคาราวานนายหนังตะลุงได้คาบข่าวไปบอกเล่าให้ “หนังน้องเดียว” ฟังทำนองว่า มีพระในวัดรูปหนึ่งพูดว่า ถ้าเป็นคนออกเงินจ้างหนังตะลุงจะไม่รับ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” มาเล่น เพราะค่าราดแพงถึงคืนละ 8 หมื่นบาท แถมยังเล่นแต่สวน (เพียงคนเดียว) อีกด้วย
ไม่คิดว่าคำบอกเล่าของแม่ค้าจะบาดหู “หนังน้องเดียว” ได้อย่างสุดที่ใครจะคาดคะเนได้ เพราะตลอดการแสดงหนังตะลุงในยามค่ำคืนนั้น นายหนังตาบอดชื้อดังก็ได้เปิดฉากด่าอย่างสาดเสียเทเสีย “พระบางรูป” ในวัดเนินพิจิตรที่เป็นต้นเรื่องนี้ได้อย่างแทบไม่เว้นวรรค ถึงขนาดกรรมการวัดบางคนทนไม่ไหวได้ขึ้นไปบนโรงหนังตะลุงขอร้องให้นายหนังเลิกด่าพระ แต่นายหนังกลับมีทีท่าไม่ยอมลดราวาศอกให้ ยังคงเชิดหนังด่าพระไปจนจบการแสดง
เท่านั้นยังไม่หนำใจ หลังแสดงเสร็จและเดินทางออกจากวัดเนินพิจิตรกลับที่พักคืนนั้น “หนังน้องเดียว” ยังได้อัดคลิปเปิดใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นคลิปแรก เผยแพร่ไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเล่าเรื่องที่แม่ค้าในคาราวานที่มาบอกว่ามีพระวิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าราด พร้อมกับยอมรับว่าในการแสดงแก้บนที่วัดเนินพิจิตรคืนนั้น เขาไม่พอใจคำพูดพระและได้ด่าพระไปตลอดการแสดง เพราะเงินที่จ้างเขาไปเล่นหนังตะลุงไม่ใช่เงินของพระ พระรูปนั้นจึงไม่ควรเข้ามายุ่งด้วย จะเรียกเงินเท่าไหร่ จะเรียก 8 หมื่นหรือ 1 แสนบาทก็เป็นเรื่องของตนเอง คนจ้างเขารับในราคานั้นได้ก็พอ
เมื่อมีคลิปที่ 1 ก็ย่อมมีคลิปที่ 2 และคลิปที่ 3 ตามมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นไม่กี่วันทางฝ่ายองค์กรสงฆ์ก็ไม่นิ่งเฉย พระราชวรเวที เจ้าคณะจังหวัดสงขลา ได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะทุกอำเภอในพื้นที่ จ.สงขลา ขอความร่วมมือจากวัดต่างๆ ให้ “ระงับ” หรือ “ยกเว้น” การนำหนังตะลุงคณะ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” ไปเปิดการแสดงในวัดอีก
ไม่เพียงเท่านั้นยังกำชับด้วยว่า จนกว่า “หนังน้องเดียว” จะแสดงความรับผิดชอบในพฤติกรรมของตนเอง โดยการขอขมาต่อคณะสงฆ์ โดยบันทึกคลิปการขอขมาดังกล่าวโพสต์ลงในยูทูป และให้ลบโพสต์ที่กล่าวใส่ร้ายพระสงฆ์ในยูทูปทั้งหมดออกจากระบบด้วย
เรื่องราวที่นายหนังตะลุงตาบอดชื่อก้องเปิดฉากรบกับพระสงฆ์บางรูปถูกนำเสนอสู่สาธารณชน ทั้งโดยช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนทุกสำนัก “ข่าวคาว” ในเรื่องนี้จึงได้ลุกลามอย่างรวดเร็วและกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมจับตามองกับอย่างแทบไม่กระพริบตา
แน่นอน! มีทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของ “หนังน้องเดียว” โดยเฉพาะในเรื่องการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม และออกไปในทางหยาบคายต่อพระสงฆ์ แม้จะพยายามระบุว่าบางรูปก็ตาม เนื่องจากเรื่องราวของพระสงฆ์องคเจ้าเป็นอันรู้กันในหมู่ชาวไทยพุทธว่า พุทธศาสนิกชนควรให้ความเคารพสักการะต่อพระสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แม้แค่การตำหนิติเตียนพระสงฆ์ ชาวไทยพุทธหลายคนก็ถือว่าเป็น “บาป” และอาจถึงขั้นปากจะเน่า หรือปากเป็นหนอน
เรื่องการให้ความเคารพสักการะพระสงฆ์นั้น มีแม้กระทั่งคำพูดที่ติดปากผู้คนจำนวนมากว่า แม้ว่า “คน” ที่บวชเป็นพระสงฆ์จะไม่ดี ไม่น่าเคารพ ไม่อยากยกมือไหว้ แต่ก็ให้คิดเสียว่า “ไหว้ผ้าเหลือง” ก็แล้วกัน
โดยผู้คนในฟากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของ “หนังน้องเดียว” ครั้งนี้ นอกจากจะมีชาวเน็ตที่จำนวนมากที่เป็นนักรบไซเบอร์แล้ว บรรดานายหนังตะลุงหรือคนในแวดวงศิลปินด้วยกันหลายคนก็ออกมาติเตือนรุ่นน้อง มีการแนะนำให้หยุดด่าและให้ไปขอขมาพระ พร้อมปรับความเข้าอกเข้าใจต่อกัน
ทว่าก็มีอีกฟากฝ่ายที่แสดงออกว่า “เห็นด้วย” กับการกระทำของ “หนังน้องเดียว” ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีนักรบไซเบอร์อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน และก็ได้เปิดศึกอยู่ในโซเซียลมีเดียอย่างไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่แล้วก็พร้อมประกาศตัวตนเป็น “เอฟซี” หรือแฟนคลับของนายหนังมากมายคารมคมคาย ที่แม้จะตาบอดแต่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองได้แบบถึงกึ๋น
นอกจากนี้แล้วยังมีฝ่ายหนึ่งที่แม้ไม่ได้กล่าวสนับสนุนการกระทำของ “หนังน้องเดียว” โดยตรง แต่ก็พร้อมร่วมเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง “วัด” และ “พระ” ที่ถูกทำให้หรือวางตัวไม่เหมาะสม ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่าคือวัดใด หรือพระรูปไหน อย่างหลายคนบอกว่ามีบ้านอยู่ใกล้วัด เห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมหลายอย่างของพระสงฆ์ เรื่องแบบนี้จะมีใครไปช่วยจัดการกันได้บ้าง
อย่างไรก็ตามก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มองว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นจนบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่โตนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งพระที่พูดพาดพิงเรื่องค่าราดและนายหนังตะลุงที่ด่าพระกลับต่างก็ผิดด้วยกันทั้งคู่
กล่าวคือ ฝ่ายพระที่ “บวชเรียนมาแล้ว” ไม่สมควรจะพูดอย่างนั้น เพราะนอกจากจะดูไม่สำรวมแล้ว อาจจะเลยเถิดไปว่าเป็นการกระทำที่ไม่ค่อยจะปล่อยวางกับทางโลกย์ ส่วนนายหนังตะลุงก็ดูจะ “หัวร้อน” เกินเหตุ เรื่องเพียงเท่านี้น่าจะเดินไปกราบนมัสการพระคุณเจ้า แล้วเข้าไปสอบถามกันดีๆ พูดคุยกันดีๆ เรื่องราวคงไม่บานปลายไปมากมายอย่างที่เห็น
เรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและถูกทำให้ลากยาวเช่นนี้ เชื่อว่าหลายคนมีคำถามคาใจว่า อะไรคือ “สาเหตุ” แท้จริงที่ทำให้ “หนังน้องเดียว” ออกอาการและออกตัวแรงแบบสุดๆ โดยเฉพาะมีอะไรที่ทำให้ต้องตามราวีไม่เลิกรากับ “พระสงฆ์” ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์ตัวเขา
เกี่ยวกับประเด็นนี้มีเสียงแว่วมาจากแฟนคลับที่ติดตามผลงานของหนังตะลุงคณะ “หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม” มาตลอดต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า หากพิจารณาจากเนื้อหาการเล่นหนังตะลุงที่ผ่านๆ และหลายๆ บทเพลงที่เขาร้องแล้วมีการอัพโหลดในสื่อโซเชียล ซึ่งมักจะมีการตำหนิติเตียนพระที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมมาตลอดนั้น
เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าสิ่งที่น่าจะเป็น “ปม” ที่ทำให้ “หนังน้องเดียว” ติดค้างคาใจกับ “พระ” มานาน เป็นเพราะเขาอยาก “บวช” เพื่อทดแทนบุญคุณให้แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่และกับพ่อที่เสียไปแล้ว แต่เพราะ “พิการทางสายตา” ทำให้ไม่มีพระหรือวัดไหนทำพิธีบวชให้ได้
เมื่อย้อนดูปูมประวัติ “หนังน้องเดียว” เราจะพบว่า พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุได้ราว 5 ขวบ ครอบครัวจึงเหลือเพียงแม่คนเดียวที่ทำงานหาเลี้ยงลูกทั้ง 3 คน ซึ่งแม่ต้องดิ้นรนทำมาหากินอย่างลำบากยากแค้น อีกทั้งต่อมาไม่นาน “พี่ชาย” คนเดียวก็มีอันต้องมาเสียชีวิตไปอีกคน เวลานี้เหลือแต่เพียง “พี่สาว” กับตัวเขา ซึ่งลูกทั้ง 2 คนที่เหลือไม่สามารถบวชทดแทนบุญคุณแม่พ่อได้
ส่งผลให้ในชาตินี้แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถที่จะ “จับชายผ้าเหลือง” ลูกคนไหนได้เลย
ส่วนชีวิตการก้าวเข้าสู่แวดวงศิลปินของ “หนังน้องเดียว” แม้จะเริ่มต้นได้ค่อนข้างดีจากการได้รับการชักชวนจาก “เอกชัย ศรีวิชัย” นักร้องนักแสดงสายเลือดสะตอที่ถือเป็นซุปตาร์ระดับแนวหน้าเมืองไทย ให้ไปร่วมคณะวงดนตรีลูกทุ่งในฐานะนักร้องหน้าเวทีเมื่ออายุได้เพียง 14 ปี และแค่ร่วมเดินสายตระเวนเปิดการแสดงได้ปีเดียว หัวหน้าวงยอมรับในฝีมือถึงขั้นปลูกบ้านให้ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
แต่เมื่อพี่สาวเพียงคนเดียวที่คอยช่วยเหลือและดูแลในระหว่างเดินสายกับวงดนตรีเอกชัย ศรีวิชัย ตัดสินใจแต่งงานมีครอบครัว ความที่ “หนังน้องเดียว” ตาบอดทำให้ขาดคนดูแล เขาจึงเดินสายร้องเพลงต่อไปไม่ได้อีก จึงต้องกลับไปอยู่กับแม่ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ช่วงที่กลับมาอยู่กับแม่นี่เองที่เขาเริ่มฝึกเล่นหนังตะลุงอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่เพียงเท่านั้นยังคิดจะทำเพลงอัดแผ่นซีดีขายด้วย เขาจึงได้นำที่ดินและสร้อยทองของแม่ไปกู้เงินมาใช้ดำเนินการ โชคดีที่เพลงชุดแรกขายดิบขายดีจนนำเงินไปใช้หนี้ได้ทั้งหมด หลังจากนั้นความเป็นนายหนังตะลุงฉาวแววขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น “หนังน้องเดียว” มากชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้
เรื่องราวที่ถูกพระในวัดเนินพิจิตรพูดถึงเรื่องค่าราดที่ค่อนข้างจะแพงนั้น จากบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ lifenewsonline เมื่อปี 2555 “หนังน้องเดียว” บอกเล่าไว้คราวนั้นความว่า
“แม้จะมีงานเข้ามาเยอะ แต่ก็ใช่ว่าจะร่ำรวย เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งบางงานรับไว้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วในราคาหนึ่ง แต่เมื่อถึงวันแสดงจริงค่าใช้จ่ายต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้นมาก แต่ก็ไม่เคยเรียกเงินเพิ่ม เพราะถือสัจจะวาจา และต้องแสดงเต็มที่ทุกงานไม่มีออมมืออย่างเด็ดขาด เพราะถือคติว่าต้องทำให้ดีที่สุด และให้คุ้มค่ากับที่เจ้าภาพเลือก”
ส่วนเรื่องที่น่าจะเป็น “ปม” กับพระมีสิ่งยืนยันคือ “หนังน้องเดียว” ได้ร่วมกับ “อ.หมี เหนือคลอง” แต่งเพลง “อยากบวชให้แม่” โดย “ครูเชาว์ เขาทะลุ” หรือ นายเชาวรัตน์ รักษาพล บอกเล่าว่า เขาอยากบวชให้แม่ แต่บวชไม่ได้ตามข้อปริยัติ ซึ่งในเพลงมีเนื้อร้องทำนองว่า บวชไม่ได้เพราะตาพิการ สงสารแม่ที่ไม่ได้ดั่งฝัน แต่ถึงแม้จะไม่ได้บวชก็จะดูแลแม่ไปตลอดชีวิต
เมื่อทราบประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง “หนังน้องเดียว” กับ “พระ” แม้จะระบุว่าแค่บางรูปแล้วก็ตาม นั่นก็น่าจะเห็นที่มา-ที่ไปได้ว่า เพียงแค่มีแม่ค้าไปบอกว่ามีพระวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินค่าจ้างแสดง เหตุใดจึงจุดติด แล้วแทงใจดำเสียขนาดทำให้หัวร้อนขึ้นมาทันใด พร้อมแสดงอาการโกรธเป็นฟืนเป็นไฟได้นานนับสัปดาห์
อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่ดำเนินไปได้กว่าสัปดาห์ ปรากฏว่าเสียงเตือนและข้อแนะนำที่กระหึ่มดังก็ได้ทำให้ฟืนไฟในใจ “หนังน้องเดียว” ค่อยๆ ราลงจากโชนเปลวกลายเป็นมอดสงบได้ในที่สุด ซึ่งเขาก็ได้ทำพิธี “ขอขมา” พระสงฆ์องค์เจ้าอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศยินยอมลบโพสต์และทำตามเงื่อนไขไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2562 ณ วัดมหัตตมังคลาราม (วันหาดใหญ่ใน) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาหักล้าง หรือสร้างความชอบธรรมให้แก่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ เนื่องเพราะ “หนังน้องเดียว” อายุก็ใช่ว่าจะยังเป็นแค่เด็กวัยรุ่น เขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก มีครอบครัว มีเมียและมีลูกที่ต้องดูแล อีกทั้งมีลูกน้องๆ ในวงที่ฝากชีวิตไว้กับเขาอีกมากมาย
การเอาตัวเข้าแลกกับ “พระ” จนถูกแบนทั้งจังหวัดสงขลา แถมมีทีท่าจะลุกลามไปในอีกหลายจังหวัดของภาคใต้ นั่นใช่ว่า “หนังน้องเดียว” จะเดือดร้อนแต่เพียงผู้เดียว การยึดฐิถิถือมั่นเอาไว้สุดท้ายแล้วสิ่งที่สู้อดทนสร้างสมมาอาจจะมลายหายไปในเวลาชั่วไม่นานนัก
การกล่าวว่าบทสรุปของเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง “หนังน้องเดียว” กับ “วงการพระสงฆ์” ตรงสำนวนไทยที่ว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว” จึงไม่น่าจะผิดความหมาย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เหตุการณ์นี้จะสร้าง “บทเรียนมากค่า” ไว้ให้แก่สังคมไทย โดยเฉพาะกับสังคมคนใต้อย่างแน่นอน?!?!