ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวประมงพื้นบ้านท่าเสา อ.สิงหนคร จ.สงขลา จับกั้งตัวโตขนาดตัวละ 2-3.5 ขีด ขายกิโลกรัมละ 800-1,200 บาท สร้างรายได้อย่างงาม และเป็นปีแรกที่พบกั้งกลับมาอาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา
ที่บ้านท่าเสา หมู่ 2 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ในช่วงนี้ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งออกทำการประมงในทะเลสาบสงขลา โดยใช้วิธีการวางอวน และการยกไซนั่ง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวประมงในทะเลสาบสงขลา ซึ่งปกติจะเป็นพวกกุ้งหางแดง ปลาขี้ตังลาทา ปลายอดมะม่วง ปลากะพงแดง ปลากรดหัวโม่ง และสัตว์น้ำประจำฤดู เช่น ปลากระบอก ปลาท่องเที่ยว
แต่ในปีนี้ ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่บ้านท่าเสาคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถจับกั้งตัวโตๆ ขนาดตัวละ 2-3.5 ขีด ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่หายาก และได้หายไปจากทะเลสาบสงขลาไปนาน และในปีนี้เป็นปีแรกที่กั้งกลับมาชุกชุมในทะเลสาบสงขลาอีกครั้ง ซึ่งมีราคาขายตั้งแต่กิโลกรัมละ 800-1,200 บาท สร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้น จากปกติที่จับได้แค่กุ้งหอยปูปลาเท่านั้น โดยกั้งที่ชาวประมงจับได้จะมีพ่อค้าคนกลางมารอรับซื้อ ก่อนที่จะนำส่งไปขายต่อให้แก่ร้านอาหารใน จ.สงขลา และต่างจังหวัด
นายหร่อหีม สุราตะกู ชาวประมงพื้นบ้านท่าเสา เปิดเผยว่า ทุกปีในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม น้ำในทะเลสาบสงขลาจะไม่เค็มจัด ทำให้มีกั้งจากทะเลนอกหรือทะเลอ่าวไทย เข้ามาอาศัยในทะเลสาบสงขลา แต่ขนาดของกั้งที่จับได้ตัวไม่ใหญ่มากนัก แต่ในปีนี้ทะเลสาบมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านท่าเสา สามารถจับกั้งได้ตัวใหญ่ เป็นผลมาจากการที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล และกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยทำซั้งปลาเพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ทำให้กั้งมีเวลาในการเจริญเติบโต และเข้ามาอาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลามากขึ้น