xs
xsm
sm
md
lg

“อัวซื่อจงกั๊วเหยิน (我是中国人)” บทเพลงนี้ยังก้องกังวานที่ “ชุมชนนาบอน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา  /  โดย... ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟช่อง NEWS 1
 

 
“ชุมชนนาบอน” อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช คือแหล่งรวมของชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล (Fuzhou Overseas Chinese Community) เป็นชุมชนที่มี “ชาวฮกจิว” หรือ “ชาวฟุโจว” อยู่กันมากในประเทศไทย
 
ก่อนหน้าที่ไทยจะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ราวเดือนกรกฎาคมปี 2518 ทุกครั้งเมื่อถึงวันชาติจีน ชุมชนนาบอนบ้านหลังไหนที่นิยมชมชอบหรือผูกพันกับ “สาธารณรัฐจีน (Republic of China : ROC)” หรือ “ไต้หวัน” ก็จะประดับประดาธงชาติไทยขึ้นคู่กับธงชาติจีนไต้หวันในวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี
 
ส่วนวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China : PRC)” ซึ่งประธานเหมา เจ๋อตง ได้ประกาศตั้งประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ขึ้นเมื่อปี 2492 หลังการถอยร่นของจอมพลเจียง ไคเชก ถอยร่นไปสถาปนาจีนอีกประเทศบนเกาะไต้หวัน
 
การจะประดับประดาธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่นดินใหญ่ในชุมชนนาบอน หรือกระทั่งในประเทศไทยตอนนั้น ถือเป็นสิ่ง “ต้องห้าม” เพราะอยู่ในความหวาดระแวงของทางรัฐบาลไทย
 
ผืนธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน (Peoples Republic of China) สามารถตกแต่งประดับประดาในชุมชนนาบอนได้ตั้งแต่ปี 2518 หลังการสถาปนาทางการทูตของ 2 ประเทศได้เริ่มต้นขึ้น
 
ทุกๆ วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ชาวจีนและลูกหลานไทยจีนรุ่นที่ 2 ในชุมชนนาบอนก็จะมีการเลี้ยงฉลองกันแบบเงียบๆ ไม่ให้เอิกเกริก โดยจัดขึ้น ณ สมาคมศาลเจ้าของชุมชน เพราะตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนถึงปี 2518 รัฐบาลไทยเลือกยืนอยู่กับโลกเสรีที่ต่อต้านประเทศคอมมิวนิสต์
 
ธงชาติของสาธารณรัฐจีนไต้หวัน (ROC) ดูจะเป็นสัญลักษณ์ที่ทางการอนุญาติให้ประดับคู่กับธงชาติไทยได้ ในช่วงระยะเวลานั้นเมื่อถึงวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี จึงถือเป็นวันของสาธารณรัฐจีน บ้านไหนนิยมจอมพลเจียง ไคเชก ก็ประดับประดาธงชาติสาธารณรัฐจีนได้
 
บ้านหลังไหนในชุมชนไม่ประดับธงชาติของจีนไต้หวัน นั่นก็แสดงว่ามีความนิยมในจีนแผ่นดินใหญ่ (PRC) เพราะในบ้านของครอบครัวชาวชุมชนนาบอนที่นิยมจีนแผ่นดินใหญ่แทบทุกหลังจะไม่มีธงชาติของสาธารณรัฐจีน (ROC) เก็บกันเอาไว้
 
ก่อนหน้าเดือนกรกฎาคมปี 2518 ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช จะเดินทางไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน การมีสัญลักษณ์ว่าบ้านไหนนิยมชมชอบ หรือมีใจให้ หรือแค่มีการเก็บธงชาติของจีนแผ่นดินใหญ่ไว้ในบ้าน เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำทั้งสิ้น
 
1 กรกฎาคม 2540 เกาะฮ่องกงกลับสู่อำนาจอธิปไตยของจีน ชุมชนนาบอนก็จัดงานเฉลิมฉลองแสดงความยินดี มิได้ต่างกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่
 
มีเรื่องบอกเล่ากันต่อๆ มาในชุมชนนาบอนว่า บ้านไหนมีธงชาติหรือสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องนำไปแอบไว้ในที่ๆ มิดชิด เช่น ธงก็นำพับซ่อนกันใต้โอ่งน้ำ แล้วต้องอย่าให้คนในบ้านแพร่งพรายให้ใครรับรู้เด็ดขาด โดยเฉพาะกับทางราชการไทย
 
ความจริงแล้วสำนึกของความนิยมในชาติจีนของชุมชนนาบอน ไม่ว่าจะสาธารณรัฐจีน (ROC) หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) เป็นความนิยมชื่นชมที่มีมาตลอดตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างตัวกันขึ้นในประเทศไทย
 
เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนกว่าจะมาถึงชุมชนนาบอน หนังสือพิมพ์จีนก็ต้องเดินทางมาจากเมืองหลวงไทยโดยทางรถไฟคือ กรุงเทพฯ ต้องใช้เวลา 1 วัน 1 คืนที่ข่าวสารจะเดินทางไปถึงชุมชนชาวจีนที่นั่น
 
มิพักที่จะบอกว่าใช้เวลาเท่าไหร่ที่ข่าวสารจากโลกภายนอกจะเดินทางไปถึงร้านกาแฟและร้านค้าในชุมชนนาบอน ซึ่งร้านไหนนิยมชมชอบจีนไต้หวันก็อ่านหนังสือพิมพ์ที่เขาสื่อสารเรื่องราวของสาธารณรัฐจีน ส่วนร้านไหนนิยมจีนแดงก็อ่านหนังสือพิมพ์จีนที่สนับสนุนข่าวสารของสาธารณรัฐประชาชนจีน
 
คุณยายจูกุยหยู (朱貴如) หลังกรกฎาคม 2518 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มต้นขึ้น เธอต้องเย็บผืนธงชาติจีนแผ่นใหญ่กันหามรุ่งหามค่ำ เพราะความต้องการของชาวจีนในชุมชนนาบอน
 
แม้ในทางการเมืองของ 2 ชาติจีนจะมีความขัดแย้งกันระหว่าง “จีนขาว” หรือสาธารณรัฐจีน กับ “จีนแดง” หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ที่ชุมชนชาวจีนที่นาบอนก็มิได้ยกระดับความนิยมชมชอบที่มีต่อจีนทั้ง 2 ฝ่ายให้กลายเป็น “ความขัดแย้ง” ทางสังคมในแผ่นดินไทย
 
ชุมชนชาวจีนที่นาบอบแม้จะแบ่งข้างนิยมจีนทั้ง 2 ฝ่าย แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข แน่นอนอาจจะมีการไว้เชิงกันบ้างเมื่อสนทนากันในที่สาธารณะ 
 
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2518 อันมีเหตุการณ์ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมด้วย พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง และประธานเหมา เจ๋อตง ได้เปิดทำเนียบจงหนันไห่ต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทยและคณะ
 
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงเริ่มขึ้น ณ บัดนั้น ส่งผลต่อการแปลเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลในไทยไม่น้อย โดยเฉพาะกับชุมชนชาวจีนนาบอน
 
สัญลักษณ์รูปธงของสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ของชาวชุมชนนาบอนผู้นิยมในสาธารณรัฐจีนก่อนหน้าปี 2518
 
ความตื่นตัวทางสังคมในชุมชนชาวจีนนาบอนจึงดูมีชีวิตชีวาขึ้นนับแต่บัดนั้น ยิ่งในผู้ที่นิยมชมชอบในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยแล้ว หลายครอบครัวก็เริ่มวางแผนจะเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ เยี่ยมญาติพี่น้อง เยี่ยมมาตุภูมิที่จากมาตลอดชีวิต 
 
คุณยายจูกุยหยู (朱貴如) ท่านเป็นยายทวดของลูกชายของผมทั้ง 2 คน ท่านมีทักษะและความชำนาญในการ ตัดเย็บ และมีจักรเย็บผ้าอยู่ในบ้าน 
 
หลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 2518 ร้านค้าของคุณยายจูกุยหยูมีการสั่งซื้อผ้าสีแดงและผ้าสีเหลือจำนวนมาก โดยใช้ขนส่งด้วยขบวนรถไฟจากจากกรุงเทพฯ สู่สถานีรถไฟนาบอน เพื่อนำไปใช้ตัดเป็นรูปดาวห้าดวงติดไว้บนธงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน
 
แต่ละวันในช่วงเวลานั้น คุณยายจูกุยหยูแทบไม่มีเวลาได้พักผ่อน ผู้คนในชุมชนต่างไหว้วานให้เย็บผืนธงชาติจีนแผ่นดินใหญ่ต่อคิวกันเป็นทิวแถว
 
สภาพชุมชนชาวจีนฮกจิวโพ้นทะเลในหุบเขาที่มากมนต์เสน่ห์บริเวณริมทางรถไฟสายใต้ที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
 
แล้ววันที่ 1 ตุลาคม 2518 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชุมชนนาบอนที่ได้เห็น “ธงชาติสาธารณะรัฐประชาชนจีน” ถูกประดับประดาคู่ไปกับ “ธงไตรรงค์ไทย” นับเป็นเรื่องแปลกใหม่และเป็นความแปลกตาอย่างมีชีวิตชาวจีนโพ้นทะเลของที่นั่น
 
สำหรับความนิยมในความเป็นคนมีสายเลือดมังกรของชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่นอกประเทศจีน ซึ่งเวลานี้ถือว่าก้าวเดินมากันไกลถึง 3 ชั่วอายุคนแล้ว แถมคนรุ่นหลังจำนวนมากมายที่ไม่ได้เกิดในแผ่นดินจีนเอาเสียด้วย 
 .
แต่ทำไมความนิยมในความเป็น “คนจีน” ถึงไม่เสื่อมคลาย?!
 .
ผมมิได้แปลกใจเลยที่รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความสำคัญกับการเกี่ยวร้อย “สำนึกจีน” ในหมู่มวลคนจีนโพ้นทะเล ให้ความสำคัญกับการสื่อสารของ “สถานีโทรทัศน์ CCTV” ที่ต้องการสื่อสารกับกลุ่มคนสายเลือดมังกรที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งโลก
 
ชุมชนนาบอนที่อยู่ห่างจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ชนิดไกลเอามากๆ แต่คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีนที่สืบสายเลือกมังกรมาแล้วถึงรุ่นที่ 3 ก็ว่าได้
 
สภาพชุมชนชาวจีนฮกจิวโพ้นทะเลในหุบเขาที่มากมนต์เสน่ห์บริเวณริมทางรถไฟสายใต้ที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
 
บทเพลง อัวซื่อจงกั๊วเหยิน (我是中国人)” ที่บอกเล่าถึงวิถีแห่งจีน ความทุกข์ยากของสงครามการสร้างชาติของคนจีนแผ่นดินใหญ่ เสียงร้องหรือกระทั่งเสียงฮัมเพลงที่ผ่านวันเวลามานานแสนนาน ณ วันนี้ยังมีให้รับฟังได้ในชุมชนนาบอน
 
เวลานี้ลูกหลานชาวชุมชนนาบอบรุ่นหลังๆ ก็ยังคงขับร้องบทเพลงนี้กันได้อย่างไพเราะ แว่วเสียงเพลงที่หากใครๆ มีโอกาสได้ยิน ย่อมเข้าใจได้ทันทีว่าสำเนียงนั้นมิได้แตกต่างจากเสียงเพลงที่คนจีนในแผ่นดินใหญ่ขับร้องเลยก็ว่าได้
 
อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่สร้างความแปลกใจอยู่เสมอว่า “ชาวเปอรานากัน” เธอมาไกลถึง 3 ชั่วรุ่นกันแล้วบนแผ่นดินหนานหยาง สำนึกชื่นชมจีนของเธอทไมมิได้เสื่อมคลายกันเลยหรืออย่างไร?!
 .
“อัวซื่อจงกั๊วเหยิน (我是中国人)” บทเพลงนี้หากจะแปลเป็นไทยว่า “ฉันเป็นคนจีน” ก็ไม่น่าจะผิดมิใช่หรือ!!
 .
沉默不是懦弱 忍耐不是麻木
儒家的传统思想 带领我们的脚步
八年艰苦的抗战 证实我坚毅的民族
不到最后的关头 绝不轻言战斗
忍无可忍的时候 我会挺身而出
统一中华 完整国土 我会牢牢记住
我不管生在那里 我是中国人
无论是身在何处 誓做中国魂
 .
เงียบขรึม มิใช่จะอ่อนแอ  อดกลั้น มิใช่จะหวาดหวั่น 
ดวงประทีปขงจื้อสืบต่อกันมา  ชี้นำพาให้เราก้าวไป
แปดปีสงครามต้านผู้รุกราน  ประจักษ์ว่าชนชาติเราแข็งแกร่ง
หากไม่พบความคับขัน  ใช่ว่าเราจะก่อสงคราม
แต่เมื่อคับขันเกินความฝืนทน  จะหยัดยืนขึ้นเผชิญหน้า
พี่น้องร่วมชาติทุกข์ยาก  ป่าเขารอฟื้นฟู  ฉันยังจดจำมั่น
ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน  ฉันก็เป็นคนจีน
ไม่ว่าจะตายแห่งหนใด  จิตวิญญาณฉันยังเป็นจีน
 
ชาวเปอรานากัน หรือ บาบ๋า ย่าหยา ในภาษามาลายูคือ ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่เกิดที่นี่ ณ ชุมชนนาบอน
 
หมายเหตุ : เปอรานากัน หรือ บาบ๋า ย่าหยา เป็นภาษามาลายู หมายถึงลูกจีนที่เกิดในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และไทย คือพวกลูกหลานจีน ซึ่งคำว่า เปอรานากัน แปลว่า พวกที่เกิดที่นี่
  


กำลังโหลดความคิดเห็น