xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเดียวในโลก! ชาวหาดสำราญจัด “ลากพระทางน้ำข้ามทะเล” สืบทอดยาวนานนับ 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - ชาวปากปรน และพื้นที่ใกล้เคียงใน อ.หาดสำราญ ร่วมใจกันจัดงานประเพณี “ลากพระทางน้ำข้ามทะเล” หนึ่งเดียวในโลกที่ จ.ตรัง ซึ่งสืบทอดกันมายาวนานนับ 100 ปีแล้ว เนื่องในวันแรม 8 ค่ำเดือน 11

ที่ท่าเทียบเรือปากปรน หมู่ 1 ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง นายณรงค์ หนูเนียม นายอำเภอหาดสำราญ และ น.ส.นันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง พร้อมชาวบ้าน อ.หาดสำราญ กว่า 500 คน ได้ร่วมประเพณี “ลากพระทางน้ำข้ามทะเล” หนึ่งเดียวในโลกที่ จ.ตรัง ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 โดยมีเรือพาย และเรือขบวนกลองยาว จำนวนประมาณ 30 ลำ ร่วมลากเรือพระทางน้ำเพื่อล่องไปในทะเลตรัง จากท่าเทียบเรือบ้านปากปรน เดินทางสู่แหลมจุโหย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย โดยมีระยะทางรวมไปกลับ 10 กิโลเมตร และใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งในขบวนเรือพระได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูป และนิมนต์พระสงฆ์นั่งประจำเรือ พร้อมประโคมเครื่องดนตรี โพน กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ เพื่อส่งสัญญาณให้จังหวะตลอดช่วงเวลาการลากเรือพระ

นอกจากนั้น ยังมีประเพณีการซัดต้ม และการเกี้ยวพาราสีหยอกล้อระหว่างเรือแต่ละลำ ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก และสนุกสนาน รวมทั้งมีการประกอบพิธีลอยเรือเคราะห์กลางทะเล ด้วยการให้ชาวบ้านตัดเล็บ ตัดผม ใส่ไว้ในเรือจำลอง ก่อนที่จะลากเรือพระกลับมายังหมู่บ้าน และมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน การแข่งขันขูดมะพร้าว การแข่งขันลอกใบจาก การแข่งขันแทงต้ม (ห่อขนมต้ม) การประกวดร้องเพลง เป็นต้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านให้สืบทอดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนับ 100 ปีแล้ว
 

 
สำหรับประเพณีลากพระทางน้ำข้ามทะเล หนึ่งเดียวในโลกที่ จ.ตรัง ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 นับเป็นประเพณีที่เก่าแก่ และยาวนานตามความเชื่อที่ว่า เป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากสวรรค์สู่โลกมนุษย์ หลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตลอดพรรษา ซึ่งชาวบ้านทั่วไปจะเดินทางไปร่วมงานลากเรือพระทางบก แต่เนื่องจากชาวปากปรน และพื้นที่ใกล้เคียงมีอาชีพทำการประมง วิถีชีวิตจึงเกี่ยวข้องกับแม่น้ำลำคลอง และการใช้เรือ ซึ่งในสมัยก่อนการเดินทางโดยทางบกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะทำการประมงกันในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง หรือน้ำใหญ่ คือ ระหว่างขึ้น 13 ค่ำถึงแรม 5 ค่ำ และแรม 13 ค่ำถึงขึ้น 5 ค่ำ รวมทั้งยังไม่มีวัดอยู่ในหมู่บ้านด้วย ดังนั้น เมื่อที่อื่นๆ มีการลากพระกันในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จึงมักไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม และเป็นที่มาของการจัดประเพณีลากพระทางน้ำข้ามทะเลแทน
 




กำลังโหลดความคิดเห็น