xs
xsm
sm
md
lg

กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง ชี้แจงโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางในพื้นที่ จ.ยะลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ยะลา - ผอ.การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง (กยท.) ชี้แจงทำความเข้าใจโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางในพื้นที่ จ.ยะลา หลัง ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติวงเงินระยะที่ 1 จำนวน 24,000 ล้านบาท

วันนี้ (19 ต.ค.) นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง ลงพื้นที่หมู่ 7 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อสอบถามเกษตรกรชาวสวนยาง และทำความเข้าใจเกี่ยวกับมติ ครม.ที่ได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 วงเงิน 24,000 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และเห็นชอบมาตรการเสริม 4 โครงการ ได้แก่

1.ขยายวงเงินสินเชื่อโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการแปรรูปยาง จากปีละ 60,000 ตัน เป็น 100,000 ตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2563-2569
2.ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางแห้ง วงเงิน 20,000 ล้านบาทไปอีก 2 ปี คือ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2563-ธ.ค.2564 จากที่จะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อช่วยดูดซับยางออกจากระบบประมาณ 11% ของผลผลิตยางแห้ง 3.5 แสนตัน
3.ขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อให้ช่วยรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาทไปอีก 4 ปี ตั้งแต่ 1 เม.ย.2563-31 มี.ค.2567
4.ขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ 1 ล้านตันออกไปอีก 3 ปี คือ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562-ก.ย.2565 ชาวสวนยาง ระยะที่ 1 หลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

ซึ่งโครงการที่เกษตรกรชาวสวนยางให้ความสนใจกันมากที่สุด ก็คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ที่ได้ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางได้เข้ามาติดต่อสอบถามข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทยแล้วบ้างพอสมควร สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในกรณีราคายางตกต่ำ ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 1.7 ล้านคน พื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่ ได้มีรายได้ที่แน่นอนโดยกำหนดราคาประกันยาง 3 ชนิด คือ 1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา กก.ละ 60 บาท 2.น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา กก.ละ 57 บาท และ 3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา กก.ละ 23 บาท

โดยจะดำเนินการเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ ต.ค.2562 ถึง มี.ค.2563 ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 โดยกำหนดเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว สูงสุดรายละไม่เกิน 25 ไร่ มีเงื่อนไขว่าปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้อยู่ที่ 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน โดยการแบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดยางร้อยละ 40

สำหรับการจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรกำหนดจ่าย 2 เดือน 1 ครั้ง ซึ่งการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจะช่วยเหลือผู้ขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,711,252 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำสวนยาง 1,412,017 ราย และคนกรีดยาง 299,235 ราย) คิดเป็นพื้นที่ 17,201,391 ไร่ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง ดังนี้ 1.ประกันรายได้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 จ่ายงวดที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 2.ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562-มกราคม 2563 จ่ายงวดที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม 2563 และ 3.ประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 จ่ายงวดที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2563

นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า ในขณะนี้ได้กำชับให้ทุกส่วนงานเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง และตอบคำถามให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้าใจอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าในส่วนที่ กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง จะสามารถจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่มีข้อมูลครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับรายที่ข้อมูลไม่ครบถ้วนก็จะรีบดำเนินการเพื่อไม่ให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือนร้อน สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง มีจำนวน 294,728 ราย ประกอบด้วย เจ้าของสวน ผู้เช่า และผู้ทำสวนยาง จำนวน 220,570 ราย และคนกรีดยาง จำนวน 74,158 ราย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น