xs
xsm
sm
md
lg

หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... กรกฎ ทองขะโชค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
 

 
หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษานั้น อาจจะถือได้ว่าเป็นหัวใจของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนานาประเทศก็ล้วนตระหนักดีถึงความสำคัญดังกล่าว หลักความเป็นอิสระของตุลาการนั้นมิใช่หลักที่กำหนดขึ้นโดยปราศจากเหตุผลรองรับ หรือเพื่อคุ้มครองฝ่ายตุลาการเพียงอย่างเดียว หากแต่จำเป็นในการประกันสิทธิของประชาชน และสอดคล้องต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ในขณะเดียวกัน ก็เพื่อคุ้มครองผู้พิพากษา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม
 
ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หมายความว่า ผู้พิพากษาสามารถปฏิบัติหน้าที่ในทางตุลาการได้โดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ ซึ่งหลักดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนประการหนึ่งด้วย โดยพิจารณาจากหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา
 
คือ ความเป็นอิสระของการทำหน้าที่ในทางตุลาการ หลักความอิสระในการทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษามิได้คุ้มครองผู้พิพากษาเฉพาะต่อการแทรกแซงจากองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐองค์กรอื่นเท่านั้น หากแต่ยังคุ้มครองผู้พิพากษาจากการแทรกแซงโดยทางอ้อม ซึ่งอาจมีผลต่อการทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษา
 
ความเป็นอิสระในทางองค์กร หมายถึง อำนาจตุลาการหรือผู้พิพากษาจะต้องไม่อยูในลักษณะความสัมพันธ์ที่อยู่ใต้อำนาจขององค์กรอื่น ไม่ว่าจะโดยในข้อเท็จจริงหรือในทางกฎหมาย
 
ความเป็นอิสระในทางส่วนบุคคล การโยกย้ายผู้พิพากษาไม่อาจกระทำได้ หากเป็นการขัดกับความประสงค์ของผู้พิพากษา เพราะอาจกระทบต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หากผู้พิพากษาที่วินิจฉัยตัดสินคดีนั้นกลัวว่าจะเกิดผลกระทบต่อสถานะในทางตำแหน่งของผู้พิพากษา จึงจำเป็นต้องให้หลักประกันแก่ผู้พิพากษาในการอยู่ในตำแหน่งของผู้พิพากษา
 
มาตรฐานกลางสำหรับหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สหประชาชาติ ซึ่งได้มีการประชุมของสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 7 ในเรื่องการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม ถึง 6 กันยายน 2528 ได้กำหนดมาตรฐานความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเอาไว้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกถือปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันทั่วโลก
 
และได้รับรองจากที่ประชุมทั่วไป ตามมติที่ประชุมที่ 40/32 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยอมรับหลักการขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะได้รับการพิจารณาคดี และมีคำพิพากษาจากองค์กรของศาลที่มีความเป็นอิสระ ปราศจากเหตุแทรกแซง ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นหลักประกันที่ได้รับการยอมรับกันอยู่ทั่วไป สำหรับประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐทุกรัฐจะต้องนำหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษามากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของในแทบทุกประเทศ
 
และประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้ผู้พิพากษา หรือตุลาการมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวมเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง ตามมาตรา 188 วรรคสอง ซึ่งความเป็นอิสระนี้หมายความต่อไปว่า การกระทำของผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องสามารถตรวจสอบได้
 
เมื่อผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งก็จะมีหลักประกันต่างๆ ซึ่งได้รับรองหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นอย่างดี อันเป็นการรับรองการทำหน้าที่ของตุลาการในการพิจารณาอรรถคดีมิให้ถูกก้าวก่าย แทรกแซง โดยอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
 
การแต่งตั้งให้ผู้พิพากษาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม แล้วจึงนำความกรบบังคมทูลแต่งตั้งผู้พิพากษา เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้พิพากษาย่อมได้รับความคุ้มครองในเรื่องความเป็นอิสระ
 
ผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ทั้งการเลื่อนขั้นและขั้นเงินดือนตลอดจนการโยกย้ายนั้น ให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อมิให้กังวลหรือหวั่นไหวต่ออำนาจต่างๆ อันเป็นหลักประกันในการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาว่า จะไม่ถูกโยกย้ายหรือลงโทษจากฝ่ายบริหารเป็นอันขาด
 
ผู้พิพากษาจะถูกถอดถอน หรือปลดออกจากตำแหน่ง ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ
 
ผู้พิพากษาได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อมิให้ผู้พิพากษากังวลกับการทำมาหาได้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเป็นไปอย่างเต็มที่
 
ผู้พิพากษาเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง จะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งจนกระทั่งครบอายุเกษียณอายุราชการ คือ 70 ปี เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเป็นไปอย่างเต็มที่
 
ดังที่กล่าวมาแล้วเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่ดำรงอยู่ไว้ อย่างไรก็ตาม ระบบบริหารงานของศาลยุติธรรมย่อมมีการกำกับภายในของระบบศาลยุติธรรม ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 13 กำหนดให้มีอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละหนึ่งคน และกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค อีกภาคละสามถึงหกคน
 
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 และมาตรา 14 กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษา และอธิบดีผู้พิพากษาภาค มีอำนาจหน้าที่ในการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี หรือทำความเห็นแย้งในคดี ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ จัดวางระเบียบและการดำเนินการส่วนธุรการของศาล ในกรณีจำเป็นจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งไปช่วยทำงานชั่วคราวไม่เกินสามเดือนในอีกศาลหนึ่งก็ได้ โดยผู้พิพากษาคนนั้นต้องยินยอม
 
ในส่วนการบริหารงานของศาลยุติธรรม นอกจากจะกำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ประธานศาลฎีกาจึงออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสอบคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษา พ.ศ.2562
 
ข้อ 7 ศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาภาค ให้รายงานคดีตามประเภทคดีต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค ดังต่อไปนี้
1) คดีอาญา ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 107-135 (รวมมาตรา 112 และ 116)
2) คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
3) คดีทุกประเภทที่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
ฯลฯ
 
โดยข้อ 9 การรายงานคดีตามประเภทที่ระบุในข้อ 7 ให้ถือว่าเป็นคดีที่จะต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษา หรือคำสั่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจ เว้นแต่อธิบดีผู้พิพากษาภาคจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
ในขั้นตอนที่ผู้พิพากษาแต่ละองค์คณะรายงานให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคนั้น ข้อ 12 กำหนดให้ส่งร่างคำพิพากษาไปเพื่อตรวจ โดยให้มีระยะเวลาการตรวจไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ระเบียบการรายงานคดีสำคัญฯ ฉบับนี้ต้องการให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีเวลาในการอ่านเนื้อหาลงรายละเอียดด้วย
 
หากอธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสำนวนไม่ทัน ข้อ 13 กำหนดให้จ่ายสำนวนและร่างคำพิพากษาให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคช่วยตรวจ โดยไม่ต้องเสนอให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคพิจารณาให้ความเห็นชอบก็ได้
 
ข้อ 14 กำหนดว่า การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่แตกต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และแสดงเหตุผลไว้ในร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
 
ข้อ 16 กำหนดด้วยว่า เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว ให้ส่งสำเนาคำพิพากษาพร้อมคำแนะนำ ข้อทักท้วง ไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่อ่าน
 
ดังนั้น หากอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีความเห็นไม่ตรงกับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ก็สามารถทำความเห็นแย้งติดสำนวนไว้ได้ หากอธิบดีผู้พิพากษาภาคจะเห็นต่างและเรียกไปคุยเพื่อปรึกษาหารือกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟัง หากไม่เห็นด้วย ก็ต้องเขียนคำพิพากษาไปตามที่องค์คณะที่พิจารณาเห็นร่วมกัน จึงเป็นการยืนยันด้วยระบบการบริหารจัดการว่า การแทรกแซงโดยฝ่ายบริหารภายในองค์กรของผู้พิพากษาเองเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะในการพิจารณาและพิพากษา
 
เมื่อพิจารณาคดีแล้ว ผู้พิพากษาต้องทำคำพิพากษา คดีอาญาจะต้องกระทำด้วยความลับ เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบความเป็นอิสระของผู้พิพากษาของประเทศไทยมีเพียงองค์กรเดียวคือ คณะกรรมการตุลาการ ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดตำแหน่ง การแต่งตั้ง โยกย้าย มีหลายปัจจัยที่ทำให้บทบัญญัติของกฎหมายและในทางปฏิบัติไม่สอดคล้องต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นอย่างมาก
 
ดังนั้น เมื่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ ทั้งในทางเนื้อหาและในทางส่วนตัว ได้มีการรับรองในเรื่องความเป็นอิสระแล้ว ก็ย่อมนำมาซึ่งความยุติธรรม และเป็นหลักประกันต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้เช่นกัน อันเป็นส่วนสำคัญต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น