xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเดือดร้อนน้ำท่วมขังสวนยาง-ปาล์ม เหตุโครงการขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรังล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - ชาวบ้านหนองตรุด อ.เมืองตรัง เดือดร้อนหนัก จากปัญหาน้ำท่วมขังสวนยาง สวนปาล์ม และบ่อเลี้ยงปลา มายาวนาน 1-2 ปีแล้ว เหตุจากปัญหาโครงการขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรังที่ล่าช้าไม่แล้วเสร็จ

ชาวบ้านหมู่ 1 ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากผลกระทบโครงการขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรัง ของกรมชลประทาน ที่ขณะนี้ถูกผู้รับเหมาทิ้งงาน ได้นำผู้สื่อข่าวชี้ดูสภาพปัญหาน้ำท่วมขังสวนยางพารา 3 แปลง เนื้อที่กว่า 10 ไร่ สวนปาล์มน้ำมัน 6 แปลง เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ และบ่อเลี้ยงปลา 6 บ่อ ทำให้ปลาหลายชนิดหลายพันตัวหายไป จนสร้างความเดือดร้อนมาอย่างยาวนานมาประมาณ 1-2 ปีแล้ว แถมบางรายต้องโค่นต้นยางพาราขายทิ้ง และจะปลูกใหม่ก็ไม่ได้ เนื่องจากน้ำท่วมขังพื้นที่สูง แต่บางรายที่ไม่ได้ตัดโค่น ทำให้เข้ากรีดยางพาราไม่ได้ ขณะที่ต้นยางพาราที่แช่อยู่ในน้ำ บางส่วนรากเน่าล้มตาย เช่นเดียวกับสวนปาล์มน้ำมันที่ถูกน้ำท่วมขังสูงระดับตั้งแต่ 20 เซนติเมตร และบางจุดลึกสุดประมาณ 1 เมตร จนทำให้ผลผลิตไม่ออกผล ขณะที่ราคายาง และปาล์มน้ำมันก็ตกต่ำ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
 

 
ทั้งนี้ ชาวบ้านเคยร้องเรียนผ่านไปยังกรมชลประทานแล้ว เพื่อให้เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ทางกรมชลประทาน ยังไม่เข้าดำเนินการแก้ไขให้แก่ชาวบ้าน โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังกรมชลประทาน ได้ขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรัง ผ่านเข้ามาในหมู่บ้านตามเส้นทางโครงการฯ โดยเมื่อมีการขุดคลองก็มีการนำดินถมทำคันดิน และจะทำเป็นถนน ทำให้ปิดกั้นทางน้ำไหล ขณะเดียวกัน ชาวบ้านบางรายที่มีที่ดินอยู่ใกล้คันคลองผันน้ำ ห่วงน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร จึงใช้วิธีถมให้สูงหรือถมปิดกั้นป้องกันน้ำเข้าท่วม ยิ่งทำให้ชาวบ้านที่อยู่ด้านในเดือดร้อนหนักจากน้ำท่วมขังดังกล่าว

ตัวแทนชาวบ้าน นายนุชชา ชุมดี อายุ 49 ปี พร้อมกับมารดา ได้ชี้ให้ดูพื้นที่น้ำท่วมขังเดิมว่าเป็นสวนยางพารา ซึ่งอยู่ห่างจากคันคลองผันน้ำประมาณ 100 เมตร เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ แต่ได้ตัดสินใจโค่นทิ้งแล้ว เพราะหากทิ้งไว้ก็ลงไปกรีดยางไม่ได้เหมือนเพื่อนบ้านคนอื่น เพราะถูกน้ำท่วมระดับ 20-50 เซนติเมตร ซึ่งจะปลูกใหม่ก็ไม่ได้เพราะน้ำท่วมขังสูง จึงอยากขอให้ทางกรมชลประทาน ช่วยขุดทางระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลออกได้ และจะได้ทำการปลูกใหม่ เพราะเดือดร้อนหนัก และอยากให้กรมชลประทาน เร่งสร้างคลองผันน้ำให้เสร็จโดยเร็ว หวั่นหากฝนตกหนักจะเกิดน้ำหลากเข้าท่วมหมู่บ้านอีก
 

 
ด้าน นายวิจารณ์ พลอินทร์ อายุ 62 ปี และนางกมลรัตน์ ตับเหล็ก อายุ 62 ปี ยืนยันว่า พวกตนเดือดร้อนจากปัญหาการขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรัง ที่คันคลองปิดกั้นทางไหลของน้ำ เดิมขณะที่ยังไม่มีการขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรัง น้ำจะท่วมพื้นที่เฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่เมื่อน้ำลดระดับน้ำในพื้นที่การเกษตรก็ลดตาม โดยไหลลงตามทางระบายน้ำเดิมที่มีอยู่ ไม่เคยมีปัญหา แต่หลังจากมีการขุดคลองผันน้ำ มีคันดินถมตลอดแนว ทำปิดกั้นทางไหลของน้ำ และชาวบ้านบางรายก็ถมดินให้สูงขึ้น เป็นการปิดกั้นทางไหลของน้ำเช่นกัน โดยชาวบ้านแต่ละรายมีสวนยาง สวนปาล์ม รายละประมาณ 5 ไร่ แต่ขณะนี้เดือดร้อนหนัก พื้นที่การเกษตรจมในน้ำมากว่า 1 ปีแล้ว ร้องเรียนไปแต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าแก้ไข

สำหรับโครงการขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรัง ของกรมชลประทาน งบประมาณ 601 ล้านบาท ระยะทางยาว 7.55 กิโลเมตร ความกว้างคลอง 102 เมตร ความลึกคลอง 4.50 เมตร ระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีบริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมา เริ่มสัญญา 29 กุมภาพันธ์ 2559 สิ้นสุดสัญญา 21 สิงหาคม 2562 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตเมือง และกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง แต่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวขุดดำเนินงานไปได้เพียง 21.86 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็ทิ้งงานในที่สุด โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทางกรมชลประทานได้บอกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว และจะเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างมาเป็นงานดำเนินการเองโดยกรมชลประทาน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ทำให้ชาวบ้านยิ่งได้รับความเดือดร้อนหนัก
 




กำลังโหลดความคิดเห็น