ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ประชาชนในภาคใต้ร่วมกันตักบาตรเทโวโรหณะกันในหลายพื้นที่ นครศรีธรรมราชจัดลากพระทางน้ำหนึ่งเดียวในโลก “ปากพะยูน” จ.พัทลุง จัดประกวดเรือพระบกชิงถ้วยพระราชทาน “ยะลา” แห่เสลี่ยงอัญเชิญพระพุทธรูปลงมาตามบันไดวัดคูหาภิมุขพร้อมขบวนนางฟ้า-เทวดา
ที่ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ช่วงย่ำรุ่งที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนต่างเตรียมอาหารปรุงสำเร็จ พร้อมทั้งขนมประจำประเพณี เช่น ขนมต้มและขนมลูกเห็ด ไปตักบาตรเทโวโรหณะ หรือในท้องถิ่นจะเรียกว่า “ตักบาตรหน้าล้อ” ที่วัดใกล้บ้าน โดยแต่ละวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรมาให้ประชาชนได้ตักบาตรตามประเพณี นอกจากนั้น ยังมีพระสงฆ์มารับบิณฑบาตภัตตาหารเช้า ก่อนที่จะเข้าสู่การลากเรือพนมพระในช่วงสาย
สำหรับประเพณีการลากพระของชาวนครศรีธรรมราช แต่ละวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่เก่าแก่โบราณประจำวัดซึ่งต่างเก็บรักษาไว้อย่างแน่นหนาเป็นอย่างดี ตามภาษาท้องถิ่นจะเรียกว่า “พระลาก” เช่นที่วัดสวนหลวง ต.ในเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช จะอัญเชิญพระลาก “สมเด็จเจ้าลาวทอง”ออกมาจากหอพระ พระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านต่างมีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ มีอายุหลายร้อยปี มีประวัติศาสตร์ยาวนานออกมาทำความสะอาด และประดิษฐานให้ประชาชนสักการะ
หลังจากเสร็จจากพิธีการตักบาตรหน้าล้อ หรือตักบาตรเทโวโรหณะแล้ว จะอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนเรือพนมพระ หลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนที่มีความผูกพันกับวัดจะช่วยกันลากเรือพนมพระ ออกจากวัดไปรวมเรือพนมพระตามจุดนัดหมาย ประเพณีนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญของชาวภาคใต้ที่สืบต่อกันมายาวนานหลายร้อยปี โดยมีหลักฐานว่ามีการสืบทอดมาก่อนสมัยอยุธยา
ในช่วงบ่าย ที่บริเวณลำธารหน้าวัดพัทธเสมา หมู่ 5 ต.ท่าดี อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช พระครูวิมลศีลคุณ เจ้าอาวาสได้จัดงานประเพณีลากพระทางน้ำ หรือชักพระวันออกพรรษาปี 2562 ประเพณีโบราณที่ชาวบ้านในพื้นที่สืบสานมาอย่างต่อเนื่องในวันออกพรรษา ถือได้ว่าการสืบทอดประเพณีชักพระหรือลากพระทางน้ำที่นี่มีเพียงแห่งเดียวในโลกก็ว่าได้ ที่มีการนำเรือพระของวัดพัทธเสมา ลงลากในลำธาร โดยการลากนั้นใช้คนลากไปบนลำธารอย่างสนุกสนานตามที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
ส่วนบนเรือพระ หรือบุษบก มีพระลากหรือพระพุทธรูปโบราณปางอุ้มบาตรศิลปะอยุธยาประจำวัดถูกนำไปประดิษฐานเพื่อให้ชาวบ้านบูชา โดยในปีนี้มีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจำนวนหลายพันคนเดินทางมาร่วมชักพระทางน้ำมากกว่าทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคล และเชื่อกันว่า พระลากหรือพระพุทธรูปโบราณบนเรือพระมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธชินราชปางอุ้มบาตร มีเทวดามาช่วยหล่อ และศักดิ์สิทธิ์มาก ใครบนบานมักจะประสบความสำเร็จ จึงมีการสมโภชทุกปี และทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จะมีพิธีการลากพระทางน้ำเช่นนี้ทุกปี
ส่วนใน จ.สงขลา ประชาชนออกมาร่วมพิธีตักบาตรเทโวโรหณะในช่วงเช้ากันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีเรือพระให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ รับศีลรับพร และประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย สำหรับในปีนี้ จ.สงขลา และเทศบาลนครสงขลาได้จัดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโวโรหณะประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 12-14 ต.ค. ณ บริเวณสระบัว แหลมสมิหลา ซึ่งมีการประกวดเรือพระ รวมทั้งขบวนแห่เรือพระที่บริเวณหน้าสนามกีฬาติณสูลานนท์ อ.เมืองสงขลา โดยมีเรือพระจากวัดดังต่างๆ ทั้งประเภทสวยงามและอนุรักษ์วัฒนธรรมเข้าร่วมกว่า 40 เรือพระ
ด้าน จ.พัทลุง ที่ท่าเทียบเรือปากพะยูน อ.ปากพะยูน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดงานประเพณีลากพระ แข่งเรือ ประจำปี 2562 การประกวดเรือพระบกชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในพื้นที่เข้าชมและเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย ทำให้บรรยากาศในวันออกพรรษาคึกคักไปด้วยผู้คน
สำหรับงานลากพระ แข่งเรือ อ.ปากพะยูน ถือเป็นวิถีหนึ่งเดียวที่ต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ คือ ที่นี่เป็นวิถีแห่งความผูกพันกันระหว่างพี่น้องชาวพุทธและชาวมุสลิมที่อยู่รวมกันอย่างสงบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทำกิจกรรมร่วมกันในวันออกพรรษามาอย่างช้านาน
ส่วนที่ จ.ยะลา ที่วัดคูหาภิมุข หรือวัดถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง อบต.หน้าถ้ำ ร่วมกับ สภาวัฒนธรรม และชาว ต.หน้าถ้ำจัดงานประเพณีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะแบบประเพณีดั้งเดิม เพื่อรำลึกถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ หลังจากไปโปรดพระพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน โดยแห่เสลี่ยงอัญเชิญพระพุทธรูปลงมาตามบันไดของวัดคูหาภิมุข พร้อมด้วยขบวนนางฟ้าและเทวดา ซึ่งเป็นผู้นำแถวพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 10 รูป เพื่อออกรับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งจากประชาชนที่มายืนคอยใส่บาตรอยู่ที่เชิงบันไดนาค
นอกจากนี้ ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นอภ.เบตง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอนุรักษ์สืบสานและเรียนรู้วัฒนธรรมเทศกาลออกพรรษา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีงาม เกิดความรักสามัคคีร่วมมือร่วมใจของคนในท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และให้พุทธศาสนิกชนออกมาร่วมทำบุญบำรุงศาสนาให้เจริญสืบต่อไป
บรรยากาศงานประเพณีชักพระของ อ.เบตง บรรดาเรือพระจากวัดต่างๆ ในพื้นที่ อ.เบตง และจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 7 วัด ประดับตกแต่งเรือกันอย่างสวยงาม โดยมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอเบตงและชาวไทยจากรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซียนับร้อยคนร่วมกันชักลากเรือพระแห่รอบเขตเทศบาลเมืองเบตงกันอย่างสนุกสนาน ก่อนที่จะนำเรือพระไปจอดที่บริเวณหน้าตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง เพื่อร่วมในประเพณีชักพระ ประจำปี 2562