xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยข้อหา 'ยุยงปลุกปั่น’ ที่ทหารใช้แจ้งความ '12 นักการเมือง-นักวิชาการ' ร่วมเวทีวีบนแผ่นดินไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.


พลันที่เวทีเสวนาสัญจร “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ของบรรดา 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งมีนักวิชาการเข้าร่วมวงด้วย ณ ลานวัฒนธรรมหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี  เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2562 สิ้นสุดลง เสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตอบโต้เกิดขึ้นก็กระหึ่มตามมาอย่างไม่ขาดสาย
 
ไม่เพียงเท่านั้นในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ซึ่งมี บิ๊กเดฟ-พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนส่วน ก็ได้มอบอำนาจให้ พล..บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานีให้ดำเนินคดีกับผู้ร่วมเสวนาบนเวทีทั้ง 12 คน
 
ประกอบด้วย (1) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (2) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (3) พล..ภารดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) (4) นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
 

(5) นายสมพงษ์ สระกวี อดตีต ส.ส.สงขลา (6) นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (7) นายมุข สุไลมาน (8) นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย (9) นายรักชาติ สุวรรณ (10) นายอสมา มังกรชัย (11) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ (12) นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) และ (3) โดยระบุว่า ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 12 คนได้พูดนำเสนอข้อมูลในลักษณะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
 
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ นางชลิตา บัณฑุวงศ์ เสนอแก้ไขมาตรา 1 รัฐธรรมนูญ พ..2560 ที่บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ 
 
 
นางชลิตา บัณฑุวงศ์ (แฟ้มภาพ)
 
และที่สำคัญนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.ต.บุรินทร์ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยื่นฟ้องผู้อื่น โดยเฉพาะกับนายธนาธร 
 
เนื่องเพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2562 พล.ต.บุรินทร์ที่ขณะนั้นยังดำรงยศพันเอก มีตำแหน่งเป็นนายทหารพระธรรมนูญและฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยื่นฟ้องต่อ สน.ปทุมวัน กรณีที่นายธนาธรได้ไปสังเกตการณ์และโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์ที่ นายรังสิมันต์ โรม ร่วมกับกลุ่มดาวดิน และกลุ่มที่ทำกิจกรรมบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครรวมกันกว่า 20 คน ชุมนุมปิดล้อม สน.ปทุมวันเมื่อปี 2558
 
 
พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ (แฟ้มภาพ)
 
บทความในเว็บไซต์ freedom.ilaw.or.th ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม (ไอลอว์) เรื่อง ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาล คสช. เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2558 ระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา ยุยงปลุกปั่นเป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก เพราะมีเหตุให้ใช้ไม่บ่อย
 
แต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 ข้อหานี้ถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร จนเข้าลักษณะเป็นการตั้งข้อหาเพื่อหวังผลทางการเมือง และตอกย้ำว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นข้อหาที่อยู่คู่กับการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย 
 
ในบทความเรื่อง มาตรา 116 : เมื่อข้อหา ยุยงปลุกปั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออก เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2560 ระบุว่า นับตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ถึง 18 ส.ค.2560 พบข้อมูลการตั้งข้อหามาตรา 116 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
 
 
ภาพจาก iLaw
 
ไอลอว์พบว่า มีบุคคลถูกตั้งข้อหาดังกล่าวอย่างน้อย 66 คน แยกเป็นอย่างน้อย 26 คดี โดยแยกประเภทตามเนื้อหาของการแสดงออกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดได้ 6 แบบคือ (1) การวิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐประหารหรือ คสช. 20 คดี (2) เกี่ยวกับการหมิ่นพระมหากษัตริย์ 2 คดี (3) พูดถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 คดี (4) วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 1 คดี (5) เกี่ยวกับปล่อยข่าวลือปฏิวัติซ้อน 1 คดี และ (6) การกระทำอันเป็นการแบ่งแยกประเทศ 1 คดี
 
ไอลอว์ยังได้ให้รายละเอียดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยกฎหมายมาตรานี้ บัญญัติไว้ว่า
 
มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 
          (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย 
          (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
          (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
 
มาตรา 116 นี้เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จะเห็นได้ว่า มาตรา 116 เป็นความผิดอาญาที่มุ่งเอาผิด การทำให้ปรากแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่น หมายความว่า กฎหมายนี้เป็นกรอบกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
 
หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม หรือสำหรับยุคที่มีรัฐธรรมนูญ หากเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขึ้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 และที่สำคัญเมื่อกฎหมายนี้อยู่ในหมวด ความมั่นคงการกระทำที่จะถือว่าผิดมาตรา 116 ผู้กระทำต้องมีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคงด้วย 
 
สำหรับการเรียกร้องต่อสาธารณะให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือการเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล หรือผู้นำประเทศ หากเป็นการเรียกร้องโดยสันติวิธี ไม่มีการใช้กำลังเข้าบังคับ ก็ย่อมไม่ผิดตามมาตรา 116 (1)
 
 
ภาพจาก iLaw
 
ไอลอว์ระบุว่า การตั้งข้อหาด้วยมาตรา 116 และดำเนินคดีต่อศาล อาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยต่อสังคมโดยตรง แต่หลายกรณีพอเห็นได้ว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการตั้งข้อหาและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อยู่ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นในยุคของ คสช.
 
อันพอจะกล่าวได้ 4 ประการคือ (1) ใช้ข้อหาหนักเพื่อขู่ให้กลัว เนื่องจากมาตรา 116 เป็นความผิดในหมวดความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา และมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี ซึ่งถือเป็นข้อหาหนักที่มีโทษสูง ข่าวการตั้งข้อหามาตรา 116 ย่อมขู่ให้คนอื่นในสังคมรู้สึกกลัวและไม่กล้ากระทำในลักษณะเดียวกันได้อีกด้วย
 
(2) เพิ่มภาระให้จำเลย ต้องหาหลักทรัพย์ประกันตัวสูงขึ้น เนื่องจากมาตรา 116 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี ทำให้ตำรวจและอัยการขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ก่อนฟ้องคดีมีระยะเวลาสูงสุดได้ 48 วัน ในระหว่างการฝากขังนั้นจำเลยต้องยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ต่อศาล ซึ่งศาลมักจะตีราคาหลักทรัพย์ตามอัตราโทษสูงสุดในคดีนั้นๆ จากการบันทึกข้อมูลพบว่า ผู้ที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ส่วนใหญ่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่าง 70,000-75,000 บาท บางคนเคยต้องใช้หลักทรัพย์ยื่นประกันตัวสูงถึง 4 แสนบาท
 
(3) ทำให้คดีต้องขึ้นศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีในประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง พลเรือนที่ตกเป็นผู้ต้องหาต้องพิจารณาที่ศาลทหาร ดังนั้นในยุค คสช. หากรัฐต้องการจะจับกุมดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ศาลทหาร เมื่อใช้วิธีตั้งข้อหามาตรา 116 เข้าไปด้วยก็ทำให้คดีนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารได้ทันที แม้ว่าการกระทำจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 116 และสุดท้ายศาลจะพิพากษายกฟ้องก็ตาม
 
และ (4) เพิ่มความชอบธรรมในการจับกุมดำเนินคดี ในคดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ผู้ต้องหาได้รณรงค์ต่อสาธารณะว่าข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตามประกาศ คสช.นั้นเป็นข้อหาที่ไม่มีความชอบธรรม ทั้งในแง่ที่มาและเนื้อหาซึ่งขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และพวกเขาประกาศอารยะขัดขืนต่อกฎหมายนี้
 
เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 14 คนถูกจับ หากเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีพวกเขาด้วยข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ก็จะทำให้สังคมรู้สึกเห็นใจผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อหามาตรา 116 กับผู้ต้องหาทั้ง 14 คนด้วย ทำให้ดูเหมือนผู้ต้องหากระทำการที่มีลักษณะร้ายแรง สังคมจึงเห็นใจผู้ต้องหาน้อยลง และในฐานะที่มาตรา 116 เป็นกฎหมายอาญาที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่กฎหมายที่คณะรัฐประหารประกาศใช้เอง ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนจึงไม่อาจอ้างความไม่ชอบธรรมของกฎหมายได้ง่ายนัก และทำให้การจับกุมดำเนินคดีมีความชอบธรรมมากขึ้น
 
ส่วนการยื่นฟ้องฝ่ายค้านและนักวิชาการรวม 12 คน ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตามองว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มุ่งหวังให้เกิดสิ่งใดตามมา ต้องการเพียงเพื่อสร้างความสงบสุขให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบจริงหรือไม่
 
แต่งานนี้คงไม่จบง่าย เพราะทางผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่นิ่งเฉย โดยเฉพาะกับนายวันมูหะมัดนอร์ผู้เป็น 1 ใน 12 ผู้ถูกกล่าวหาได้ประกาศแล้วว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการข่มขู่ ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองดำเนินการบทบาทตามระบอบประชาธิปไตย หากแจ้งความโดยที่พรรคฝ่ายค้านไม่ได้ทำอะไรผิดก็คงต้องฟ้องกลับ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น