ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วางกฎเหล็ก! เอาจริงกับโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย “นายกชาย” ลั่นโรงงานอยู่ได้ ชาวสงขลาก็ต้องอยู่ได้
จากการเปิดเผยของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.เขต 5 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการเชิญเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของฟาร์มหมู ฟาร์มไก่สาว และฟาร์มไก่ไข่ ซึ่งถูกชาวบ้านร้องเรียนมาโดยตลอดว่ามีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในลำคลองภูมี และน้ำในลำคลองภูมี ก็ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา สร้างความเสียหายให้แก่ทะเลสาบสงขลาอย่างร้ายแรง
โดยการประชุมครั้งนี้มีขึ้นที่ห้องประชุมของฟาร์มสุกรสงขลา บริษัท เบทาโกรภาคใต้ จำกัด อ.รัตภูมิ โดยมีตัวแทนจากฝ่ายปกครอง สิ่งแวดล้อมที่ 16 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เทศบาลกำแพงเพชร ตัวแทนภาคประชาชน ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ เจ้าหน้าที่ชลประทาน ตัวแทนของฟาร์มทุกแห่ง และมีผู้ช่วย ส.ส.เขต 5 นายอดุล สงดวง และนายเพทาย ศรีไตรรันต์ เป็นตัวแทน นายเดชอิศม์ ขาวทอง เข้าร่วมประชุม โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการร้องเรียนถึงการปล่อยน้ำเสีย และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลกำแพงเพชร อ.รัตภูมิ ได้ทำการตรวจสอบมาแล้ว
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมได้ลงพื้นที่ตรวจค้นระบบการป้องกัน และการบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งแนวเขตที่มีการร้องเรียนว่ามีน้ำเสียไหลออกจากบ่อบำบัด ซึ่งตัวแทนของฟาร์มฯ อ้างว่าเป็นเพราะเจ้าของสวนยางที่อยู่ติดกับโรงงาน ต้องการนำน้ำเสียไปรดต้นยางในสวนยางที่อยู่ติดกัน และเจ้าของสวนยางแปลงดังกล่าวเคยเป็นผู้จัดการฟาร์มสุกรแห่งนี้ จนทำให้มีเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้น
โดยตัวแทนของฟาร์มเบทาโกรได้รับรองว่า 1.ทางฟาร์มขอรับรอง และยืนยันว่า ต่อไปนี้จะไม่มีน้ำเสียจากโรงงานไหลลงคลองอีกต่อไป ระบบหมุนเวียนของน้ำทางฟาร์มได้ทำเป็นระบบปิดทั้งหมด ซึ่งมีบ่ออยู่ 8 บ่อ 2.ทางฟาร์มจะเร่งทำคันดินเสริมปากบ่อให้สูงขึ้นอีก 1 เมตรเศษ สำหรับอุบัติเหตุน้ำล้นจากบ่อที่ 4 เกิดจากตะกอนไปอุดท่อทำให้ท่อตัน 3.ในมาตรการการป้องกัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 16 สงขลา จะจัดเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้ศูนย์เครื่องมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจสอบสารแอมโมเนีย โดยทางฟาร์มต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
4.การแก้ไขเร่งด่วนเบื้องต้น สูบน้ำในคลองจุดต้นน้ำที่ล้นจากฟาร์ม ซึ่งเป็นมูลสัตว์จะมีสีดำเข้ม มีความเข้มข้นของแอมโมเนียสูง เพื่อไปรดต้นไม้ริมฝั่ง และใช้น้ำดีในระบบปล่อยลงไปแทน 5.จัดทำโครงการ CSR เพื่อบำบัดสภาพน้ำ และสิ่งแวดล้อม 6.ให้ฝ่ายปกครองทำหนังสือแจ้งเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลฟาร์มโดยตรง และปศุสัตว์อำเภอ เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และ 7.นัดคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบการแก้ไขของบริษัทอีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ นายเดชอิศม์ ยังกล่าวด้วยว่า เราไม่ได้รังเกียจโรงงาน เพราะโรงงานเป็นแหล่งทุน และแหล่งการจ้างงาน แต่โรงงานอยู่ได้ ชาวสงขลาก็ต้องอยู่ได้ และต้องอยู่อย่างมีความสุข ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเพื่อการร่วมมือกันในการแก้ปัญหาทะเลสาบสงขลา ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ จะมีการจัดคอนเสิร์ตรักษ์เลสาบ 1 นิเวศ วิถี วัฒนธรรม ณ อุทยานนกน้ำคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพื่อสร้างความร่วมมือมือร่วมใจในการปกป้องทะเลสาบ และมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ได้สัมผัสวิถีชีวิตรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ชมและซื้อสินค้าชุมชนจากแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถีสทิงพระ การแสดงวัฒนธรรม 2 น้ำ 2 เล การวาดภาพบนผืนผ้าใบ ร่วมกิจกรรมจิตอาสา และเดินวิ่งสองทะเล ระยะทาง 3 กิโลเมตร ชิงถ้วยจาก รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และพบกับศิลปินมากมายบนเวทีคอนเสิร์ต รายได้ทั้งหมดจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา