ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรต้นแบบเกษตรอินทรีย์ตลาดเกษตร ม.อ. เผย “ผักอินทรีย์” ตลาดยังมีความต้องการสูง และยังไปได้อีกไกล คนกินเยอะ คนผลิตน้อย ยันต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า รับประกันผักอินทรีย์ยังเติบโตได้อีกเยอะในตลาด
ที่แปลงต้นแบบเกษตรอินทรีย์ หมู่ 2 ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา ของ นายคำนึง สร้อยสีมาก เกษตรกรต้นแบบตลาดเกษตร ม.อ. คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกผักแบบผสมผสานแบบหลากหลายชนิด มีทั้งคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง กะเพรา โหระพา มะระ มะนาว บวบ และอีกหลายชนิด
การที่ปลูกผักแบบผสมผสานแบบนี้ หนอนแมลงจะกระจายกันกิน ชอบผักชนิดไหนมันก็กินชนิดนั้น โดยที่ไม่ใช้สารเคมี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการปลูกพืชล่อแมลง เมื่อแมลงชอบผักอย่างหนึ่ง เขาก็จะไม่กินอีกอย่างหนึ่ง ก็เหลือผักให้ได้กินได้ขาย แต่ถ้าเมื่อไหร่ใช้สารเคมี ผลผลิตทุกอย่างใช้สารเคมี เมื่อนั้นความสมดุลในแปลงจะหายไปหมด แต่ถ้าเราสร้างความสมดุลในแปลงแบบธรรมชาติให้หนอนกินบ้าง ให้แมลงกินบ้าง ที่เหลือเราจะได้กินได้ขาย
ในส่วนความตั้งใจที่มาทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อก่อนทำกินเองจะต้องปลอดภัยก่อน ถ้าจะทำขายคนที่ซื้อของเรา ที่กินของเรา ก็จะต้องปลอดภัยด้วย ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการทำเกษตรอินทรีย์ ก็คือ คนปลูกปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย นี่คือหัวใจหลักๆ ที่จะทำเกษตรอินทรีย์ ผักที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นผักพื้นบ้านผักสวนครัวที่ทุกคนสามารถปลูกได้ โดยไม่ใช้สารเคมี ในแปลง 1 ไร่ สามารถปลูกผักได้ถึง 14-16 ชนิด
ทางด้านตลาดทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ จะเก็บรวบรวมผลผลิตนำไปขายที่ตลาดเกษตร ม.อ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งอาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สำหรับรายได้จากการขายผักอินทรีย์ที่ตลาดเกษตร ม.อ. ประมาณเดือนละ 50,000 บาท ผักอินทรีย์ตลาดยังมีความต้องการสูง ยังไปได้อีกไกลมาก คนกินเยอะ คนผลิตน้อย มันสวนทางกันอยู่ ถ้าเราซื่อสัตย์กับลูกค้า รับประกันได้ว่าผักอินทรีย์ของเรายังเติบโตอีกเยอะในตลาด