xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มรส.หนุน “เทียนสิรินธร” พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นหนึ่งเดียวในโลก กระตุ้น ศก.ท่องเที่ยวสุราษฎร์ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) หนุน “เทียนสิรินธร” พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นหนึ่งเดียวในโลก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของ จ.สุราษฎร์ธานี

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) โดย ผศ.ดร.ไซนีย๊ะ สะมาลา และ ดร.กิตติมา คงทน อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.สุทธิรักษ์ หนองแก้ว ร่วมกับนักวิจัยลงพื้นที่ออกสำรวจ “ต้นเทียนสิรินธร” พืชประจำถิ่น จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อหาช่วงที่มีจำนวนดอกมากที่สุด สำหรับกำหนดเป็นช่วงฤดูกาลเที่ยวชม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวใน จ.สุราษฎร์ธานี
 

 
ผศ.ดร.ไซนีย๊ะ สะมาลา อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “เทียนสิรินธร” (Impatients Sirindhorniae Triboun & Suksathan) หรือชมพูสิริน ได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับรายงานว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก โดย ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักวิจัยพฤกษศาสตร์ เมื่อปี 2552 เทียนสิรินธร เป็นพืชถิ่นเดียวที่พบได้เฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่ โดยใน จ.สุราษฎร์ธานีนั้น พบได้เฉพาะภูเขาหินปูน บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสก
 

 
สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกัน 3 หน่วยงาน คือ ได้รับทุนงานวิจัยจากเขื่อนรัชชประภา โดยมี ดร.ครรชิต งามแสนโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนรัชชประภา ในตอนที่เริ่มโครงการวิจัย) เป็นผู้ประสานงาน นอกจากนี้ ยังมี นายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก และนางเยาวลักษณ์ สุวรรณคง ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก ให้ความร่วมมือในการออกสำรวจ และทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

โดยจัดเป็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่จะขยายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และนำพืชที่ขยายพันธุ์ได้คืนสู่ท้องถิ่นต่อไป นอกจากนี้ จะนำข้อมูลที่ได้จากโครงการวิจัยไปใช้ในการวางแผนการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนอีกด้วย
 




กำลังโหลดความคิดเห็น