xs
xsm
sm
md
lg

“กระเจี๊ยบเขียว” พืชผักบ้านๆ มากมายสารต้านอนุมูลอิสระ ประโยชน์เพียบพูน สรรพคุณทางยาพร้อมสรรพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้  /  โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
 
1
 
กระเจี๊ยบเขียว พืชที่มากมายด้วยคุณประโยชน์ อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และที่สำคัญยิ่งคือมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย
 .
มีชื่อท้องถิ่นอีก เช่น กระต้าด (สมุทรปราการ), กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบมอญ มะเขือ มะเขือมอญ มะเขือทะวาย ทวาย (ภาคกลาง), มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือละโว้ มะเขือขื่น มะเขือมื่น (ภาคเหนือ), ถั่วเละ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น
 
มีชื่อสามัญว่า Okra, Lady's finger, Gombo, Gumbo, Bendee, Quimbamto แต่ในอินเดียจะเรียกกระเจี๊ยบเขียวว่า บินดี (Bhindi) ส่วนประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนจะเรียกว่า บามี (Bamies) ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus (L.) Moench จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก ในประเทศซูดาน และสันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำเข้ามาในประเทศไทยหลังปี พ.ศ.2416
 
2
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
 .
กระเจี๊ยบเขียว จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงประมาณ 0.5-2.4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีเขียว แต่บางครั้งก็มีจุดประม่วง ตามลำต้นจะมีขนอ่อนหยาบๆ ขึ้นปกคลุม เช่นเดียวกับใบและผล เจริญเติบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อน หรือที่อุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียส
 
“ใบ” มีใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ลักษณะของใบคล้ายรูปฝ่ามือเรียงสลับกัน ใบมักเว้าเป็น 3 แฉก มีความกว้างประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปลายใบหยักแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-7 เส้น ใบมีขนหยาบ ก้านใบยาว
 
“ดอก” มีดอกสีเหลืองอ่อน ที่โคนกลีบดอกด้านในจะมีสีม่วงออกแดงเข้ม รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม ออกดอกตามง่ามใบ มีริ้วประดับเป็นเส้นสีเขียวประมาณ 8-10 เส้น เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก มีก้านชูอับเรณูรวมกันลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรหุ้มเกสรตัวเมียไว้ อับเรณูเล็กจำนวนมากติดอยู่รอบหลอด ก้านเกสรตัวเมียมีลักษณะเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรตัวเมียเป็นแผ่นกลมมีขนาดเล็กสีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก
 
“ผล” หรือ “ฝักกระเจี๊ยบเขียว” มีลักษณะเป็นฝัก โดยฝักคล้ายกับนิ้วมือผู้หญิง ฝักมีสีเขียวทรงเรียวยาว มักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลมเป็นจีบ ผิวฝักมีเหลี่ยมเป็นสัน โดยฝักมีสันเป็นเหลี่ยมตามยาวอยู่ 5 เหลี่ยม ตามฝักจะมีขนอ่อนๆ อยู่ทั่วฝัก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในฝักมีน้ำเมือกข้นเหนียวอยู่มาก และมีเมล็ดลักษณะกลมอยู่มาก ขนาดประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ฝักอ่อนมีรสหวานกรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว ไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน
 .
สำหรับการขยายพันธุ์ทำได้ด้วยวิธีการใช้เมล็ด
 
3
 
สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียว 
 .
ใน “ผล” หรือ “ฝักกระเจี๊ยบเขียว” จะมีสารที่เป็นเมือกจำพวกเพกทิน (Pectin) และกัม (Gum) ที่มีคุณสมบัติช่วยในการเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ โดยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของแผลได้เป็นอย่างดี (ได้ผลดีเท่าๆ กับยา Misoprotol) และยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
 .
“ใบกระเจี๊ยบเขียว” ช่วยขับเหงื่อ, ช่วยแก้โรคปากนกกระจอก และใบกระเจี๊ยบใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาประคบเพื่อลดอาการอักเสบปวดบวมได้ และช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แตกแห้ง
 .
“ดอกกระเจี๊ยบเขียว” สามารถนำมาตำใช้พอกรักษาฝีได้
 .
“ผล” หรือ “ฝักกระเจี๊ยบเขียว” มีเส้นใยอยู่มาก จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ โดยช่วยรักษาระดับการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ให้คงที่ กระเจี๊ยบเขียวจึงเป็นผักที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ใช้เป็นยาบำรุงสมอง, ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต รักษาความดันให้เป็นปกติ, ช่วยแก้อาการรักษาหวัด, ช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน, ช่วยแก้บิด ด้วยการใช้ผลแก่นำมาบดเป็นผงใช้ผสมกับน้ำดื่มแก้อาการ, ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องของโรคกระเพาะ หรือในผู้ป่วยที่เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ, ช่วยแก้อาการกรดไหลย้อนกลับ ด้วยการนำฝักกระเจี๊ยบมาต้มในน้ำเกลือแล้วใช้กินแก้อาการ, ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ, ช่วยขับพยาธิตัวจี๊ด (สาเหตุมาจากการได้รับตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในเนื้อดิบ เช่น หมู เป็ด ไก่ กบ กุ้ง เนื้อปลา เป็นต้น) ด้วยการรับประทานฝักกระเจี๊ยบติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน แต่สำหรับบางรายต้องรับประทานเป็นเดือนจึงจะหาย
 .
4
 
“ยางจากผลสด” ใช้เป็นยารักษาแผลสดเมื่อถูกของมีคมบาด หรือใช้ยางกระเจี๊ยบทาแผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และไม่ทำให้เกิดแผลเป็น
 .
“ราก” นำมาต้มน้ำเพื่อใช้รักษาโรคซิฟิลิส (Syphilis) และในเนปาลนำน้ำคั้นจากรากมาใช้เพื่อล้างแผลและแผลพุพอง
 .
ในอินเดียมีการใช้ “เมล็ด” นำมาบดผสมกับนม ใช้ทาผิวหนังเพื่อแก้อาการคัน
 .
ในตำรายาแผนโบราณของจีนมีการนำ “ราก” “เมล็ด” และ “ดอกกระเจี๊ยบเขียว” มาใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้ “ฝัก” นำมาต้มกับน้ำดื่มเพื่อช่วยขับปัสสาวะ เมื่อมีอาการกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเมื่อปัสสาวะขัด
 
5
 
ประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียว 

ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย และช่วยลดคอเลสเตอรอล โดยเส้นใยของกระเจี๊ยบเป็นตัวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ โดยการจับกับน้ำดี ซึ่งมักจับสารพิษที่ร่างกายต้องการขับถ่ายที่ถูกส่งมาจากตับ และสารเมือกในฝักยังช่วยจับสารพิษเหล่านี้ ซึ่งการจับกับน้ำดีนี้จะเกิดในลำไส้และขับออกมาทางอุจจาระ ทำให้ไม่เหลือสารพิษตกค้างอยู่ในลำไส้
 
การรับประทานฝักกระเจี๊ยบเป็นประจำจะช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย จึงช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายอุจจาระได้คล่อง ช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และช่วยในการทำงานของระบบดูดซึมสารอาหาร ช่วยสนับสนุนการขยายพันธุ์ของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (โพรไบโอติกแบคทีเรีย) ช่วยลดความเสี่ยงของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่
 .
ผลกระเจี๊ยบมีเมือกลื่นที่ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่แห้งแตก บางคนจึงนิยมนำผลอ่อนมาพอกผิวเมื่อมีอาการแสบร้อน
 .
การรับประทานฝักกระเจี๊ยบเป็นประจำสามารถช่วยบำรุงตับได้
 .
ฝักอ่อนหรือผลอ่อนนำมาต้มให้สุกหรือย่างไฟก่อน ใช้เป็นผักจิ้มรับประทานหรือนำมาใช้ทำแกงต่างๆ เช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงจืด ใช้ใส่ในยำต่างๆ ใช้ชุบแป้งทอด ทำเป็นสลัดหรือซุปก็ได้ และฝักที่นำมาตากแห้งแล้ว สามารถนำมาใช้ทำเป็นชาไว้ชงดื่มได้ ส่วนเมล็ดกระเจี๊ยบนำมาคั่วแล้วบดสามารถนำมาใช้แทนเมล็ดกาแฟได้ หรือนำใช้ในการแต่งกลิ่นกาแฟได้
 
6
 
ข้อควรระวังในการรับประทานกระเจี๊ยบเขียว 
 .
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างดังต่อไปนี้ ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ให้รับประทานกระเจี๊ยบเขียวมากเกินไป ได้แก่
 .
- คนที่มีปัญหาเกี่ยวลำไส้หรือระบบทางเดินอาหาร ควรรับประทานแต่พอดี เพราะกระเจี๊ยบเขียวมีคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ปวดบีบท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียได้
 .
- กระเจี๊ยบเขียวมีออกซาเลตสูง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในไตที่เกิดจากแคลเซียมออกซาเลตได้
 .
- คนที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ไม่ควรรับประทานกระเจี๊ยบเขียวมากเกินไป เพราะผักชนิดนี้มีวิตามินเคที่ช่วยต้านการเกิดลิ่มเลือด
 .
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการใช้กระเจี๊ยบเขียวช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้อยู่ได้
 
7
 
กระเจี๊ยบเขียว ถึงแม้จะมากไปด้วยคุณประโยชน์ แต่หากรับประทานมากเกินไปก็ใช่ว่าจะเกิดผลดี การเลือกรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลายชนิด ให้เหมาะสมครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ถึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยนะขอรับ 
  
8
9
10
 
บรรณานุกรม 
 .
- https://medthai.com › กระเจี๊ยบเขียว
- https://www.honestdocs.co › อยู่ดี กินดี › การรักษา
 


กำลังโหลดความคิดเห็น