คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา / โดย... ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟช่อง NEWS 1
เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตง สถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในวันที่ 1 ตุลาคม 2492 ส่งผลให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มองสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยสายตาของความหวาดระแวง โดยหวั่นแกรงว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะขยายอิทธิพลมายังไทย
.
และถึงขั้นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้มาตรการปิดไล่โรงเรียนสอนภาษาจีนกันไปทั่วประเทศ
.
นโยบายหลักของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสมัยนั้นคือ เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาและอยู่กับค่ายโลกเสรี เพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์
ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลไทยยังเลือกที่จะคงรับรองและมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาล “สาธารณรัฐจีน” ของจอมพลเจียง ไคเช็ก แม้ว่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องถอยร่นไปอยู่เกาะไต้หวัน โดยไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มาตั้งแต่มกราคม 2489 จนถึง 2517
แต่อย่างไรก็ตาม เรือเดินทะเลเส้นทางกรุงเทพ-ซัวเถา ก็ยังคงนำพานักเรียนไทยไปเรียนต่อที่ “โรงเรียนจี๋เหม่ย” เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฮกเกี้ยนของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเงื่อนไขที่พิเศษ โดยเฉพาะการให้นักเรียนที่เป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลได้เรียนฟรี
แม้สาธารณรัฐประชาชนจีนกับไทยไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน แถมรัฐบาลไทยยังหวั่นเกรงคอมมิวนิสต์จีนถึงขั้นไล่ปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนในประเทศ แน่นอนย่อมต้องมีนโยบายปิดกั้นไม่ให้คนไทยไปเรียนที่จีนแผ่นดินใหญ่
แต่การดิ้นรนเพื่อแสวงหาโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานจีนโพ้นทะเลบนแผ่นดินขวานทองไทยหาใช่จะไม่มี
.
ปี 2495 “คุณยายหลินลี่อิง” ซึ่งเวลานั้นมีอายุเพียง 14 ปีได้นั่งเรือเดินทะเลออกจากประเทศไทยไปซัวเถา เพื่อไปเรียนที่โรงเรียนจี๋เหม่ย
.
ปี 2499 “คุณปู่หวงหยูฟะ” พร้อมเพื่อนลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลสายเลือดฮกเกี้ยนจากเกาะภูเก็ตอีกกว่า 10 คนก็ได้เดินทางโดยออกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ที่ซัวเถา เพื่อไปเรียนที่โรงเรียนจี๋เหม่ย
ชีวิตของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางไปเรียนที่โรงเรียนจี๋เหม่ยช่วงปี 2495-2502 หาใช่มีแต่จากไทยเท่านั้น ยังมีมากมายที่ไปจากอุษาคเนย์ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม เขมร เป็นต้น
“คุณปู่หวงหยูฟะ” หรือที่คนภูเก็ตรู้จักกันในชื่อ “สุชาติ วงศบุญยกุล” บอกเล่าให้ฟังว่า ตนยังจำภาพได้ดีว่าปี 2502 ช่วงที่ไปเรียนที่โรงเรียนจี๋เหม่ยได้ 2 ปี ปรากฏว่าปีนั้นชาวจีนโพ้นทะเลจากอินโดนีเซียส่งลูกหลานไปเรียนต่อที่จีนแผ่นดินใหญ่มากมายเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ไปจากเมืองจากาต้า
“เป็นเพราะรัฐบาลซูการ์โนตอนนั้นมีนโยบายต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์อย่างหนัก เอาจริงเอาจังกับการไล่ปิดโรงเรียนจีนในอินโดนีเซีย ชาวจีนฮกเกี้ยนที่นั่นจึงต้องแอบส่งลูกหลานเปอรานากันให้ไปเรียนที่จีนแผ่นดินใหญ่แทน เฉพาะปีนั้นก็หลายร้อยคนเลย”
นับแต่ปี 2501 ที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มีนโยบายก้าวกระโดด (The great leap forward) เหมา เจ๋อตง มุ่งมั่นที่จะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันประเทศตะวันตก มีคำสั่งให้คนจีนทุกคนช่วยกันหาเหล็กมาหลอมแล้วส่งให้รัฐบาล ทำให้แทบทุกหมู่บ้านต้องหลอมเหล็กกันทั้งวันทั้งคืนจนแทบไม่มีเวลาไปทำการเกษตร ประจวบกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเกิดภาวะแห้งแล้งในช่วงนั้นพอดี จึงทำให้ขาดแคลนอาหารอย่างหนักไปทั่วทั้งแผ่นดิน
ความเดือนร้อนจากภาวะอาหารขาดแคลนขั้นสาหัสสากรรจ์ครั้งนั้นก็ไม่ได้ยกเว้นให้กับบรรดาเด็กนักเรียนสายเลือดมังกรจากประเทศโพ้นทะเลเสียด้วย ซึ่งเด็กๆ ทั้งโรงเรียนจี๋เหม่ยต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้านานนับทศวรรษ
“ปีนั้นนักเรียนลูกจีนจากอินโดนีเซียหลายสิบคนจับกลุ่มร้องไห้กันในคืนไหว้พระจันทร์ เพราะต้องเผชิญกับภาวะอดอยาก จนทำให้ต่างก็คิดถึงบ้านที่พวกเขาจากมา เมื่อคุณครูของโรงเรียนจี๋เหม่ยทราบเรื่อง ท่านเห็นความเหงาความเศร้าของเด็กนักเรียนเหล่านั้น เลยให้สัญญาว่าถึงช่วงตรุษจีนในปีนั้นโรงเรียนจี๋เหม่ยของเราจะเอาข้าวเหนียว เอาแป้ง เอาเผือกและมันมาให้นักเรียนในโรงเรียนทำขนมกินร่วมกัน”
เมื่อคุณปู่หวงหยูฟะรำลึกความหลังถ่ายทอดให้ฟังถึงตรงนี้ คุณยายหลินลี่อิงก็รีบเสริมขึ้นว่า
.
“ช่วงนั้นน้ำมันที่จะใช้ผัดผักก็ไม่มี ทางโรงเรียนต้องเอาผักที่นักเรียนช่วยกันปลูกมาผัดกับน้ำเปล่า แล้วก็ทานกับกับข้าวต้มที่ใส่เกลือมากหน่อยจะได้กินกันได้ทั่วถึง เด็กนักเรียนชายบางคนกินอาหารไม่อิ่มท้อง กลางคืนเขาก็เลยแอบไปเอากระหล่ำปลีที่ปลูกไว้ในโรงเรียนมาต้มกินประทังความหิวเพื่อให้นอนหลับ”
.
คุณปู่หวงหยูฟะเห็นผู้ฟังๆ อย่างตั้งใจ จึงยิ่งรำลึกความหลังแล้วนำมาบอกเล่าให้ฟังต่อไปว่า
.
“ตอนเรียนอยู่มัธยมปลายที่นั่น คุณครูให้เราไปช่วยเหลือชาวนาจีนที่อยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนจี๋เหม่ยของเรามากนัก จำได้ว่าสักประมาณ 6 กิโลเมตรมั้ง หลังเลิกเรียนประมาณ 5โมงเย็นพวกเราก็ช่วยกันขนเอาปุ๋ยที่นักเรียนช่วยผลิตออกมาจากร่างกายทุกๆ วันไปช่วย”
คุณปู่หวงหยูฟะบอกเล่าพร้อมๆ กับทำท่าทางประกอบเพื่อสร้างจินตนาการแก่ผู้ฟัง
.
“เราตักปุ๋ยที่ว่านั้นใส่ชะลอมไม้ไผ่สานแล้วขนขึ้นรถเข็น เวลาเข็นผ่านไปย่านไหนๆ ก็กลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ว ถึงแปลงนาประมาณ 2 ทุ่มได้ ชาวนาในชนบทของจีนต่างดีใจกันมากๆ ที่นักเรียนของโรงเรียนจี๋เหม่ยเอาปุ๋ยไปให้ ชาวนาจีนเขาเลยต้มเผือกต้มมันเลี้ยงพวกเราในค่ำคืนนั้น บางคนมือยังเปื้อนปุ๋ยอยู่เลย แต่พวกเราก็กินมันกินเผือกต้มของชาวนาอย่างเอร็ดอร่อย ช่วงนั้นชีวิตช่างสนุกสนาน แม้จะตกอยู่ในความทุกข์ยากของสังคมจีนก็ตาม”
ชีวิตของนักเรียนที่โรงเรียนจี๋เหม่ยได้ผ่านยุคของการก้าวกระโดดของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งต้องหลอมเหล็กกันทั้งแผ่นดินเพื่อส่งให้รัฐบาล รวมถึงยุคของการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ผ่านมากันได้แล้วด้วย พวกเขารับรู้รสชาติของทั้งความสุขและความทุกข์ยากกันมาครบถ้วนหมด
จึงอย่าได้แปลใจที่บรรดาอดีตนักเรียนจากโรงเรียนจี๋เหม่ยของจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินไทยตราบจนวันนี้ อะไรต่อมิอะไรต่างๆ นานาพวกเขาก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาเล่านั้นมาได้ด้วยรอยยิ้มเสมอมา