xs
xsm
sm
md
lg

ฤๅ “สันติบาล” ไม่รู้ว่าการขอข้อมูลเชิงลึก “นศ.มุสลิม” จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นการเติมฟืนให้ไฟใต้?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
  

 
เมื่อหลายวันก่อน พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล รมช.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (หรือ ครม.ส่วนหน้า) พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เป็นครั้งแรก เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, ศอ.บต. และคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ในการเร่งรัดการแก้ปัญหาความไม่สงบ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการแบ่งเบาภารกิจให้แก่รัฐบาล
 
อันที่จริง ครม.ส่วนหน้าของรัฐบาลชุดนี้ก็เหมือนๆ กับของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เพียงแต่ลดขนาดจาก 13 คนให้เหลือเพียง 9 คน ซึ่งก็คงจะมีความเหมาะสมเพราะภารกิจในบางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นงานที่ “ทับซ้อน” กับงานของหน่วยงานปกติที่มีอยู่แล้ว
 
นอกจากนั้น ยังถูกมองว่าเป็นการตั้งขึ้นเพื่อให้ “คนกันเอง” ที่เกษียณราชการไปแล้วได้มีตำแหน่ง มีเงินเดือน หรือเป็นการ “ต่างตอบแทน” โดยประเทศชาติได้รับประโยชน์ที่ไม่คุ้มเลยด้วยซ้ำ
 
มีที่เหมือนกันอีกเรื่องคือ หลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ก็ต้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สถานการณ์ “ดีขึ้น” เพราะมีการก่อเหตุลดน้อยลง เมื่อนำไปเทียบกับการก่อเหตุในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลแก้ปัญหาแบบ “เดินมาถูกทางแล้ว” รวมทั้งการแก้ปัญหายาเสพติดก็ได้ผลดีด้วย มีการจับกุมผู้กระทำผิดและยึดของกลางได้มากขึ้น อีกทั้งมีผู้เสพยาเสพติดเข้าร่วมในโครงการบำบัดเกินกว่าเป้าหมายที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งเป้าไว้ เป็นต้น
 .
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่ให้สัมภาษณ์หรือไม่ สื่อและประชาชนก็ต้องไปดู “ของจริง” เอาเองจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
 .
ตัวอย่างที่ชี้ชัดได้แก่ เวลานี้ยังมีการก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่อง ล่าสุด มีการยิงใส่โรงเรียนบ้านซีเยาะ ต.บาโงยซีแน อ.ยะหา จ.ยะลา ถึงจะไม่มีใครบาดเจ็บหรือตาย แต่ก็ต้องมีการปิดโรงเรียน เพราะไม่แน่ใจในเรื่องความปลอดภัย และหาก “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเกิดใช้แผนยิงใส่โรงเรียนไปเรื่อยๆ การเรียนการสอนก็คงต้องหยุดไปเรื่อยๆ แต่ก็ถือเป็นโชคดีที่ยังเกิดขึ้นแค่โรงเรียนเดียว
 
รวมถึงมีการยิงผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิตที่หมู่ที่ 3 ต.บือเระ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเป็นฝีมือของโจรใต้
 
ก่อนหน้านั้น ก็มีการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ที่ทำหน้าที่ รปภ.ครูที่บ้านควนประ ต.นาประดู อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ อส.พลีชีพ 1 ราย และบาดเจ็บหลายคน ซึ่งถือเป็นความสูญเสียที่สร้างผลสะเทือนอย่างมากอีกคราครั้ง
 
ขณะที่ในรอบเดือนที่ผ่านมา ก็พบว่าเหยื่อสถานการณ์ที่เป็นประชาชนก็ยังมีเสียชีวิตรายวัน เบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุเกิดจากเรื่องความมั่นคงหรือส่วนตัว รวมทั้งการโจรกรรมรถ จยย.เพื่อนำไปทำ จยย.บอมบ์ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 .
เหล่านี้เป็นการบอกว่าสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องต่อไป
 .
ที่สำคัญคดีใหญ่ๆ อย่างการ “ปล้นร้านทอง” ผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว ทั้งตำรวจและทหารก็ยังจับกุมผู้กระทำผิดที่ยืนยันว่าเป็นคนของ “บีอาร์เอ็น” ไม่ได้แม้แต่คนเดียว อีกทั้งยังไม่พบวี่แววว่า “ของกลาง” ที่เป็นทองคำจำนวนมากได้ถูกนำไปซุกซ่อนไว้ที่ไหน
 
รวมทั้งคดี “ลอบวางระเบิด 18 จุดกลางกรุงเทพฯ” ซึ่งคนร้ายทั้งหมดถูกระบุว่าขึ้นไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะโอนคดีให้แก่กองปราบไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ทำได้แค่ “ออกหมายจับ” แต่กลับยังสืบสวนไปไม่ได้ถึงตัวตนของ “มาสเตอร์มายด์” หรือ “ผู้บงการ” ว่าเป็นใคร
 
2 ประเด็นหลังนี้คือตัวชี้วัดถึง “ความล้มเหลว” ของการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรหรือไม่นั้น นี่ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ “ผู้เกี่ยวข้อง” ต้องใส่ใจรับฟัง เพราะเรื่องเหล่านี้จะไปตอบโจทย์ที่ว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” จริงหรือไม่
 
ส่วนปัญหา “ยาเสพติด” ที่ถือเป็นทั้ง “ภัยแทรกซ้อน” ของสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็น “ภัยร้ายแรง” ของประเทศชาติด้วย นั่นคือไทยถูกระบุเป็นทั้งแหล่งซื้อขายและส่งผ่าน อีกทั้งมีผู้เสพติดเป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งที่ผ่านมา พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทุ่มเทสรรพกำลังเข้าแก้ไขจนจับกุมได้ทั้งผู้ต้องหาและของกลางได้เป็นจำนวนมากนั้น
 
แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นว่ายาเสพติดถูกจับกุมยึดได้มากก็จริง แต่ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะหมดไปจากพื้นที่เลย เพราะยังพบว่ามีการลำเลียงเข้าไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ติดยาถูกนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดเกินเป้าหมายก็จริง แต่กลับยังมีจำนวนผู้ติดยาหน้าใหม่ทดแทนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
 
และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เวลานี้ราคายาเสพติดขายปลีกกลับยังถูกกว่าราคาก๋วยเตี๋ยวและข้าวแกงเสียอีก ตัวอย่างยาบ้าขายกันแค่เม็ดละ 20-30 บาท แม้แต่เด็กนักเรียนประถมก็สามารถรวบรวมเงินกันซื้อไปแบ่งกันเสพได้ ซึ่งโรงเรียนประถมหลายแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก
 
แถมใบกระท่อมจากประเทศมาเลเซียก็ถูกจับกุมได้เป็นจำนวนมากจากทั้งฝีมือทหาร ฝ่ายปกครอง และศุลกากร แต่ปรากฏว่ายิ่งจับได้มาก การลักลอบขนใบกระท่อมเข้ามาก็ยิ่งมากเป็นทบเท่าทวีคูณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจับมากไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา แต่การจับได้มากเป็นเพียงแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่มีผลงานเท่านั้น โดยที่ปัญหายังอยู่และมีแนวโน้มใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ
 .
ซึ่งปัญหายาเสพติดเยี่ยงนี้จะตอบสังคมว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ก็สามารถทำได้
 .
ด้านปัญหา “น้ำมันเถื่อน” ที่ถือเป็นอีก “ภัยแทรกซ้อน” และถูกทหารจับกุมได้มากมายในห้วงที่ผ่านมานั้น แต่ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนข้ามประเทศก็ยังคงปฏิบัติการได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ชนิดกล่าวได้ว่าไม่เกรงกลัวกฎหมายกันเอาเสียเลย แถมไม่สนใจกับการถูกจับกุมยึดของกลางไปเยอะมาแล้วแต่อย่างใด จนน้ำมันเถื่อนถูกวางขายไปทั่วแทบทุกหัวระแหง แถมกลายเป็นสินค้าโอทอปขึ้นชื่อของภาคใต้ไปแล้วด้วย
 
ตรงนี้ต้องมีการ “วิเคราะห์” กันใหม่หรือไม่ว่า ปฏิบัติการที่ผ่านๆ มาสามารถแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อนเหล่านี้ได้จริงหรือไม่ หรือสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ทำไมจับได้มาก แต่ไม่หมดไปเสียที ทำไมยิ่งจับยิ่งโต โดยเฉพาะประเด็นถือเป็น “ความสำเร็จ” หรือ “ความล้มเหลว” กันแน่
 
ประเด็นเหล่านี้ต่างหากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำมาวิเคราะห์ เพื่อที่จะได้เห็นความชัดเจนของปัญหาและเห็นถึงอุปสรรคหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อหาบทสรุปที่ถูกต้อง เพราะทุกเรื่องหรือทุกปัญหาที่เกิดขึ้นถ้ายิ่งปราบ ยิ่งโต แล้วอย่างนี้จะบอกกับประชาชนว่า สถานการณ์ดีขึ้นหรือเดินมาถูกทางแล้วอย่างไร
 
ในขณะเดียวกัน ประเด็นเงื่อนไขสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขพิเศษในพื้นที่ และเป็นกับดักของมาตรการดับไฟใต้ อย่างเรื่องราวการเสียชีวิตของ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” แม้เวลานี้ก็ยังถูกนำไปผูกปมเพื่อล่ามคอ “ศูนย์ซักถาม” ในค่ายอิงคยุทธบริหารที่ จ.ปัตตานี ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เองก็อยู่อีกปลายเชือกถูกลากเช่นกัน แล้วถูกลากไปสู่สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงสหประชาชาติและองค์กรสากลต่างๆ ที่ยังแก้ไม่จบอีกมากมาย
 
ไม่เพียงเท่านั้น เวลานี้มีเรื่องใหม่และใหญ่เกิดขึ้นอีกด้วยแล้วคือ การที่ “กองบัญชาการตำรวจสันติบาล” ส่งเอกสารให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งรายชื่อ “นักศึกษามุสลิม” พร้อมรายละเอียดว่านับถือนิกายอะไร เช่น สุหนี่ ชีอะห์ วาฮาบีห์ หรืออื่นๆ และเข้าร่วมและทำกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นต้น
 
เชื่อว่าสันติบาลต้องการแค่ทำ “ฐานข้อมูล” แล้วขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา โดยที่ไม่ได้ “สำเหนียก” ว่าเรื่องเหล่านี้ “ละเอียดอ่อน” อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้ ซึ่ง สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ก็ได้เป็นหัวหอกนำไปขับเคลื่อนแล้ว ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่าต้องนำไปขยายสู่องค์กรสากลต่างๆ อีกแน่นอน
 
ทั้งหมดทั้งปวงคือ “ความอ่อนด้อย” ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ถูกบูรณาการแบบหลอกๆ ทั้ง “หลอกกันเอง” และ “หลอกประชาชน” ซึ่งผู้เขียนไม่ขอสรุปว่ามาตรการดับไฟใต้กว่า 15 ปีที่ผ่านมา “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” เพราะทุกย่อหน้าข้างต้นมีคำตอบชัดเจนอยู่แล้ว
  


กำลังโหลดความคิดเห็น