xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทยซัด “อลงกรณ์” ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ประมงพาณิชย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทยโพสต์เฟซบุ๊กถึง “อลงกรณ์ พลบุตร” ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ จัดประชุมประมงเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากมาตรการปลดใบเหลือง มีแต่ประมงพาณิชย์ ไม่สนใจประมงพื้นบ้าน

วันนี้ (20 ก.ย.) นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “บรรจง นะแส” ระบุถึงการที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดประชุมชาวประมงเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบต่อพี่น้องประมงพาณิชย์ จากกรณีมาตรการ IUU FISHING ของสหภาพยุโรปที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินการเพื่อปลดใบเหลืองจนสำเร็จว่า ประเทศนี้ไม่ได้มีแต่ประมงพาณิชย์ มีเรื่องที่จะบอกและเสนอนายอลงกรณ์ ดังนี้

(1) ประเทศไทยมีชาวประมงพื้นบ้านกระจายอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่งใน 22 จังหวัด คิดเป็น 85% ของชาวประมงในประเทศ ประมงพาณิชย์มีเพียง 15% เท่านั้น เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาใดๆ ควรมองจากสภาพปัญหาของคนส่วนใหญ่ของผู้ที่ด้อยโอกาสเป็นอันดับแรก คำถามง่ายๆ คือ วันนี้นายอลงกรณ์กำลังทำเพื่อคนส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาสหรือกำลังดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ที่อิ่มหมีพีมันมาจากทรัพยากรส่วนรวมของชาติมายาวนาน

(2) ฟังมาว่าในที่ประชุมมีแต่เรื่องแนวทางในการช่วยเหลือเหล่าประมงพาณิชย์ ทั้งการจะออกมาตรการให้เรือเถื่อน เรือสวมทะเบียนได้กลับมาทำการประมงได้ดังเดิม หรือไม่ก็จะผลักดันใช้งบประมาณแผ่นดินอีก 5,000 ล้านบาทในการรับซื้อเรือคืน พูดง่ายๆ ก็คือเตรียมฟูกนุ่มๆ ไว้รองรับเหล่าคนรวยนั่นเอง โดยไม่พูดถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรที่ลดลงจากการทำการประมงด้วยอวนลาก นายอลงกรณ์ ต้องทำการบ้านว่า การทำการประมงด้วยเรืออวนลากได้รับการยืนยันจากนักวิชาการประมงว่าคือเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำที่รุนแรง เป็นหนึ่งในสามของเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่รุนแรงคืออวนลาก เรือปั่นไฟและอวนรุน

“อวนรุนได้ถูกรัฐบาล คสช.ใช้ ม.44 ยกเลิกไป ข่าวว่าพวกท่านก็จะให้กลับนำมาใช้ได้อีกแค่ขอขยายตาอวน ส่วนเรืออวนลากในอดีตในปี พ.ศ.2523 กรมประมงประกาศที่จะไม่ออกใบอนุญาตทำประมงให้แก่เรือประมงอวนลากใหม่เพื่อเป้าหมายในการลดจำนวนเรืออวนลากในระยะยาว หากดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวป่านนี้ทะเลไทยก็จะไม่มีอวนลากและรัฐบาลก็ไม่จำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านเพื่อแก้ปัญหาเหมือนในปัจจุบัน”

“แต่ด้วยการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการและกลุ่มประมงอวนลากในขณะนั้น ผ่านกลไกการเมืองเหมือนที่ท่านกำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ทำให้กรมประมงต้องอนุญาตให้เรืออวนลากผิดกฎหมายที่ไม่มีทะเบียนมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่านิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน เหตุการณ์เช่นนี้ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งด้วยกันคือในปี พ.ศ.2525 พ.ศ.2532 และ พ.ศ.2539 โดยใช้อำนาจทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงงานข้อมูล/งานวิทยาศาสตร์ทางทะเล เอาผลประโยชน์ของหัวคะแนน/ผู้สนับสนุนพรรคเหมือนที่ท่านกำลังทำอยู่ในตอนนี้ ซึ่งจะทำให้วิกฤตทรัพยากรสัตว์น้ำ/แหล่งอาหารของผู้คนในสังคมและอาชีพของประมงชายฝั่งกว่าล้านครอบครัวที่มีแนวโน้มจะดีขึ้นกลับย่ำแย่ลงไปอีก”

(3) ข่าวว่ามีการเสนอแก้ไข พ.ร.ก.ประมง 2558 หลายมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อเหล่าประมงพาณิชย์และไม่คุ้มครองสิทธิประมงพื้นบ้าน เช่น จะยังขึงพืดให้ประมงพื้นบ้านหากินอยู่แต่ในเขต 12 ไมล์ทะเล ในขณะที่จะให้ยกเลิก ม.57 ที่ระบุไว้ห้ามนำพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นเรือ โดยจะให้ตัดออกไปเพื่อคุ้มครองเรืออวนลาก/เรือปั่นไปที่จับพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนในจำนวนสูง 67% ส่งโรงงานปลาป่น เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจอาหารสัตว์ (ปลาป่น) ได้ดำเนินการต่อไป

ทั้งๆ ที่ปริมาณการใช้ปลาป่นในประเทศเพียง 2 แสนตัน แต่ประเทศไทยผลิตปลาป่นได้ถึง 5 แสนตัน อย่าลืมว่าปลาป่น 1 กิโลกรัมต้องใช้พันธุ์สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ถึง 4 กิโลกรัม นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีอวนลากและธุรกิจปลาป่นได้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนในทะเลไทยไปถึง 2 ล้านตัน เคยคิดไหมว่าหากไม่มีการทำลายเยอะขนาดนี้ ทะเลไทยจะอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีให้แก่ผู้คนในสังคมและลูกหลานไทยได้เยอะขนาดไหน

(4) กรณีเรือปั่นไฟจับปลากะตักตัวทำลายลูกปลาทูที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น กรณีนำลูกปลาทูตัวเล็กๆ มาต้มตากขายกันเกลื่อนเมือง นายอลงกรณ์ ควรจะได้รับรู้ว่าวิกฤตปลาทูไทยส่วนสำคัญเกิดจากปล่อยให้มีการทำการประมงด้วยเรือปั่นไฟ และนายอลงกรณ์ ควรจะได้รับรู้ไว้ด้วยว่าปัญหานี้ กรณีเรือปั่นไฟจับปลากะตักตัวทำลายลูกปลาทูที่รุนแรง เคยเกิดขึ้นมาก่อนและปัญหาก็จบลงในสมัยที่อดีตหัวหน้าพรรคของนายอลงกรณ์ คือ นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ในปี 2526 ได้มี รมช.บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ออกประกาศยกเลิกเรือปั่นไฟ ปัญหาเรือปั่นไฟจับปลากะตักและการทำลายลูกปลาทูที่รุนแรงก็ยุติลง และมีอดีตรัฐมนตรี นายมณฑล ไกรวัศนุสรณ์ ได้ออกประกาศให้กลับมาทำการประมงด้วยการปั่นไฟได้อีกในปี 2539 การทำลายลูกปลาทูจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

ดังนั้น นายอลงกรณ์ จึงควรทำการบ้านให้มาก หากรับหน้าเสื่อแทนรัฐมนตรีเกษตรฯ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของทรัพยากรทะเลไทย ยกเว้นว่านายอลงกรณ์ เข้ามาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของหมู่พวกโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องร่วมชาติ ก็ได้แต่หวังว่าข้อมูล ความคิดเห็นนี้จะไปถึงนายอลงกรณ์ รัฐมนตรีเกษตรฯ และนายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน โดยไม่เอาผลประโยชน์ของพรรคพวก กลุ่มทุนพรรคมาเป็นตัวตั้ง เพราะสังคมไทยคงไม่ยอมให้ดำเนินการใดๆ ที่เอารัดเอาเปรียบผู้คนโดยรวมในสังคมได้อีกต่อไป

“และขอยกคำของพี่น้องประมงพื้นบ้านทั่วประเทศที่พอได้ทราบว่าพวกท่านกำลังใช้อำนาจทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม คือเขาฝากบอกพวกท่านมาว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแต่อาชีพประมงพาณิชย์นะเว้ยเฮ้ย”
 





กำลังโหลดความคิดเห็น