xs
xsm
sm
md
lg

“ศอ.บต.” สร้างความมั่นใจภาคประชาชน เปิดทริปดูงาน “ท่าเรือปีนัง” ครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.

 
ปัจจัยหลักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การลงทุนในพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่างไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ซึ่งผู้ประกอบการ หรือ”นักลงทุน” ยกขึ้นมาเป็น”ข้ออ้าง” ในทุกครั้ง ที่มีการนำเสนอเรื่องการลงทุนในพื้นที่ คือเรื่องของ ”โลจิสติกส์” หรือเรื่องของการขนส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ

ปัจจุบันการส่งออกของประเทศยังต้องพึ่งพาประตูสู่ภายนอกในพื้นที่ตอนบน นั่นคือ “ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง” และอีกทางเลือกของสินค้าในภาคใต้คือ “ท่าเรือน้ำลึกปีนัง” ที่ประเทศมาเลเซีย เป็นเหตุให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบการลดความสามารถในการแข่งขัน เพราะค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นสู้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้

ดังนั้น นักลงทุน ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่พร้อมที่จะลงทุนในพื้นที่ จ.สงขลาและใกล้เคียงจึงเสนอผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ขับเคลื่อนเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อเป็นประตูทางออกที่ 3 หรือ เกตเวย์ แห่งที่ 3 ของประเทศไทย

นั่นคือที่มาของสามเหลี่ยม มั่นคง มั่นคั่ง แห่งที่ 4 ที่ผลักดันโดย ศอ.บต.ในชื่อว่า “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับเมืองต้นแบบที่ 4 คือการผลักดันให้เกิดขึ้นของ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อเป็นประตูทางออกที่ 3 ของประเทศไทย

 
การผลักดันให้เกิดท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ที่จังหวัดสงขลานั้น ภาคเอกชนทั้งนักลงทุน ผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ต่างพยายามผลักดันมาแล้วในหลายรัฐบาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะเกิดจากความอ่อนด้อยของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตั้งแต่ผู้มีหน้าที่ในระดับจังหวัดจนถึงกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมที่เป็นเจ้าภาพ ที่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ของจังหวัดสงขลา และประตูการส่งออกแห่งที่ 3 ของประเทศ

เพราะทุกครั้งที่ภาครัฐหรือภาคเอกชนออกมาขับเคลื่อนเรื่องการสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อการส่งออกที่ อ.จะนะ หรือที่ อ.เทพา จ.สงขลา องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอก็จะชิงออกมาขับเคลื่อน โดยอาศัยมวลชนจัดตั้งคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยอ้างในเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมและเรื่องมลภาวะ สุขภาพอนามัย ที่คนในพื้นที่จะได้รับ จนทำให้การขับเคลื่อนเพื่อสร้างท่าเรือถูกแช่แข็งเอาไว้ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุน ผู้ประกอบต้องเบนเข็มไปลงทุนในพื้นที่อื่น หรือไม่ก็กัดฟันส่งออกสินค้าไปทางท่าเรือปีนัง โดยยกผลประโยชน์ให้แก่ประเทศมาเลเซีย เพราะไม่มีทางออกที่ดีกว่านั่นเอง

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูอ.บต. ซึ่ง ณ วันนี้คือเจ้าภาพตัวจริงในการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่ 4 ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การพัฒนาในพื้นที่จะเกิดขึ้นได้ ปัจจัยสำคัญคือต้องมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนให้เขามีพื้นที่ในการแข่งขัน นั่นคือการลดลงของค่าขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก เมื่อมีท่าเรือเกิดขึ้นจริง อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะตามมา

อย่าลืมว่าปัจจุบันมีสินค้ากว่า 300,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปีที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศด้วยท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือปีนัง และในอนาคตจะมีสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจะเพิ่มกว่า 500,000 ตู้ต่อปี ซึ่งรวมกันเป็น 800,000 ตู้ต่อปี ดังนั้นถ้า จ.สงขลามีท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 และเป็นประตูเพื่อส่งออกแห่งที่ 3 ของประเทศก็จะมองเห็นอนาคต มองเห็นศักยภาพของพื้นที่อย่างชัดเจน

 
วันนี้สิ่งที่ ศอ.บต.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อการสนับสนุนให้เกิดท่าเรือน้ำลึกเพื่อเป็นประตูส่งออกที่ 3 ของประเทศคือ กระบวนการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำ เพื่อให้เข้าใจและรับรู้ ร่วมคิด ร่วมคุย ในโครงการที่ ศอ.บต.กำลังขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยการนำผู้นำ ประชาชนและผู้นำองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ไปศึกษาดูงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
 
เพื่อให้เขาเห็นของจริง เห็นตู้คอนเทนเนอร์จากประเทศไทยเป็นจำนวนมากที่ต้องอาศัยการส่งออกจากท่าเรือปีนัง ซึ่งเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาของประเทศไทย ให้เขาไปเห็นนิคมอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมในประเทศมาเลเซียที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมะละกา การพัฒนาพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในรัฐเปรัค การพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์ ด้านการขนส่งทางน้ำควบคู่กับการพัฒนาและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เกาะปีนัง รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การค้า การบริหารการท่องเที่ยวของแต่ละรัฐในประเทศมาเลเซีย

เพื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศที่เป็นจริง พบกับประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ นิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมะละกาว่าความเป็นอยู่ของเขาเป็นอย่างไร ก่อนที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบหรือไม่ มีมลภาวะเกิดขึ้นที่กระทบต่อสุขภาพอนามัยอย่างไรบ้าง ให้ตัวแทนจากท้องถิ่นได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในชุมชนที่อยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม ให้เขามีโอกาสสื่อสารกันเอง เพื่อที่จะได้รับรู้ข้อเท็จจริง โดยที่ไม่มีการจัดฉากแต่อย่างใด

สถานที่ซึ่ง ศอ.บต.นำผู้นำชาวบ้าน ผู้นำองค์กรภาคประชาชนไปดูของจริงในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ท่าเรือส่งออก ท่าเรือท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหินและอื่นๆ ซึ่งนอกจากได้สื่อสารจากผู้คนในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของ นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือต่างๆ แล้ว ยังมีการบรรยายจากหน่วยงานเหล่านั้นถึงการบริหารจัดการในเรื่องของมลภาวะ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมว่า ในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีเทคโนโลยีทันสมัยในการป้องกันและจัดการอย่างไร เพื่อให้เห็นถึงการพัฒนาที่เดินไปพร้อมกันในทุกด้าน และที่สำคัญคนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างไร

ศอ.บต.เชื่อว่าการนำตัวแทนประชาชน ตัวแทนภาคเอกชนไปสัมผัสกับของจริงที่ประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้และในครั้งต่อๆ ไป จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตของ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อเป็นปากเสียงของ ศอ.บต.ในการบอกเล่ากับคนในพื้นที่ และสามารถที่จะเห็นด้วยในการยกระดับพื้นที่และคุณภาพชีวิตให้ไปสู่หนทางแห่งความ “มั่นคง” ของตนเองและครอบครัว
 



กำลังโหลดความคิดเห็น