xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านรอบเขาโต๊ะกรังร้อง ผวจ.สตูล ให้ผลการรับฟังความคิดเห็นขอสัมปทานเหมืองหินเป็นโมฆะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
สตูล - ตัวแทนชาวบ้านและโรงเรียนรอบ “เขาโต๊ะกรัง” ร้องรัฐทำงานล่าช้าไม่ทันการ พบความไม่เป็นธรรมหลังขอให้พิจารณาเวทีการรับฟังความคิดเห็นเป็นโมฆะ

วานนี้ (17 ก.ย.) ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดสตูล นายมูฮัมหมาด ปะดุกา ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอรุณศาสตร์วิทยามูลนิธิ ตัวแทนกลุ่มคัดค้านคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่หินเขาโต๊ะกรัง ซึ่งอยู่ในเขาลูกช้าง อ.ควนกาหลง จ.สตูล พร้อม ผอ.โรงเรียนอรุณศาสตร์วิทยามูลนิธิ และชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม ถึง ผวจ.สตูล เพื่อขอคัดค้านการชี้แจงของจังหวัดสตูลกรณีประชาชนขอให้การจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและรายงานผลการจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ขอประทานบัตร ที่ 4/2559 เป็นโมฆะ ที่ระบุว่า ได้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า สำนักงานอุตสาหกรรม จ.สตูลได้ดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องแล้ว และดำเนินการถูกต้องครบถ้วน พร้อมทั้งได้จัดส่งรายงานให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่พิจารณาต่อไปแล้ว และหากผู้ออกประทานบัตรไม่สามารถวินิจฉัยให้ได้ข้อยุติ ก็ให้สั่งเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ให้มีการทำประชามติต่อไป

กลุ่มผู้คัดค้านและผู้ได้รับผลกระทบที่เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวได้ร่วมตรวจสอบคำชี้แจงแล้ว มีความเห็นดังนี้ (1) จังหวัดสตูลล่าช้าในการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีหนังสือชี้แจงกลับมาภายหลังได้รับหนังสือร้องเรียนถึง 112 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ตามหนังสือที่ มท 0208.3/ว 3576 ลงวันที่ 13 พ.ย.2540 โดยให้พิจารณาข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยทันที ซึ่งความล่าช้าดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการให้ประทานบัตรได้
 
(2) การชี้แจงดังกล่าวเป็นการชี้แจงจากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.สตูล ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบขึ้นมาร่วมตรวจสอบ จึงไม่มีความชอบธรรมและไม่ถูกต้องตามแนวทางแก้ไขเรื่องร้องเรียน (3) ในคำชี้แจง ไม่สามารถตอบประเด็นข้อคัดค้านของประชาชนได้ และบ่ายเบี่ยงชี้แจงในหลายประเด็น เช่น อ้างว่ามีผู้แสดงตนมาจากโรงเรียนอรุณศาสตร์วิทยามูลนิธิ ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่งข้อเท็จจริง คือ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.สตูล ไม่ให้ผู้แทนจากโรงเรียนเข้าร่วม เพราะที่อยู่ตามบัตรประจำตัวประชาชนอยู่นอกพื้นที่

ประชาชนคัดค้านขอให้เร่งดำเนินการดังนี้ (1) ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยทันที (2) ขอให้มีคำสั่งให้การรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและรายงานผลครั้งนี้เป็นโมฆะ และเพิกถอนการจัดเวทีดังกล่าว โดยไม่นำเอาการจัดเวทีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท ภูทองอันดา จำกัด ใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างแท้จริง (3) ให้ยกเลิกการประกาศให้เขาลูกช้าง หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าน้ำซับซึม ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 มาตรา 17 วรรคสี่ โดยขอให้โปรดพิจารณาดำเนินการภายใน 30 วัน หากยังคงล่าช้า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบขอใช้สิทธิตามกฎหมายโดยการใช้กระบวนการทางศาลปกครองต่อไป

นายมูฮัมหมาด กล่าวว่า การเข้าร้องเรียนในครั้งนี้ พบว่า การพิจารณาของสนง.อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นการลงความคิดเห็นพิจารณาเพียงฝ่ายเดียวในการส่งเรื่องให้ส่วนกลางตีความ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน หลังชาวบ้านชี้แจงขอให้เวทีแสดงความคิดเห็นเรื่องโรงโม่หินเป็นโมฆะ เนื่องจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและทางโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้เข้าร่วมเวที ทำให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม และล่าช้า จนเกิดความเสียหายในหลายเรื่อง โดยเฉพาะขณะนื้ โรงเรียนถูกกดดันจากการกว้านซื้อที่ดินรอบโรงเรียน มีการแจ้งความกล่าวหาคดีอาญา เรื่องน้ำเสียที่โรงเรียนไม่เคยประสบมาก่อนระยะเวลาตั้งโรงเรียนมา นี่เป็นความล่าช้าของภาครัฐในการลงมาแก้ปัญหาเหมืองแร่หิน จนเกิดปัญหาหลายอย่างบานปลาย

สำหรับเขาโต๊ะกรัง มีชาวบ้านอยู่รายรอบบริเวณระหว่าง อ.ควนโดน หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 9 ต.ควนโดน และหมู่ที่ 7 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง โดยเขาแห่งนี้มีโรงเรียนมุสลิม และบาราซะ สถานที่ประกอบศาสนากิจอยู่รายรอบบริเวณเขา โดยชาวบ้านยืนยันว่า ที่แห่งนี้มีหินงอก หินย้อย และป่าต้นน้ำที่ต้องการปกปักรักษาไว้ให้อยู่คู่ชุมชน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น