พัทลุง - ชาวสวนผลไม้ใน อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เร่งเก็บ “ลูกหยี” ขายสร้างรายได้ เผยสรรพคุณเพียบบรรเทาอาการเจ็บคอ ไข้หวัด แก้โรคผิวหนัง และยังรักษาแผล
“ลูกหยี” เป็นผลไม้พื้นเมืองทางภาคใต้ชนิดหนึ่ง ทางภาคอีสานก็พอมีให้เห็นบ้าง เรียกว่า “บักเค็ง” ลูกหยีที่เราเรียกๆ กันนั้น จริงๆ แล้วสามารถรับประทานได้เมื่อสุก ลักษณะผลเป็นพวง ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกเปลือกจะมีสีดำ เนื้อในเป็นสีน้ำตาลรสหวานอมเปรี้ยว แต่นิยมเอามาปรุงรสมากกว่าจะรับประทานสดๆ ซึ่งทำได้หลายอย่าง เช่น ลูกหยีกวน ลูกหยีทรงเครื่อง ลูกหยีสามรส เป็นต้น
โดยในช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกหยีกำลังสุก เกษตรกรเจ้าของสวนไม้ผลในพื้นที่ ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ที่มีต้นหยีปลูกเอาไว้ในสวนผสมผสาน ต่างเร่งเก็บลูกหยีขายสร้างรายได้เสริมกันอย่างคึกคัก
ป้าละออง เมฆแก้ว อายุ 62 ปี เจ้าของสวนไม้ผลในพื้นที่ ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง กล่าวว่า ต้นหยีชอบขึ้นในที่ดอน ป่าหรือเชิงเขา ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อายุยืนเป็น 100 ปี การปลูกต้องใช้เวลา 20 ปีเป็นอย่างน้อย เมื่อให้ผล และถูกเก็บเกี่ยวแล้วจะหยุดให้ผลไป 1 ปี เพราะการเก็บเกี่ยวผลต้องใช้วิธีตัดกิ่งลงมา เนื่องจากต้นสูงใหญ่มาก ซึ่งกว่าจะแตกกิ่งใหม่ และให้ผลอีกจึงต้องใช้เวลาเป็นปีสองปี
ลักษณะผลของลูกหยี เมื่อดิบจะเป็นสีเขียว เมื่อสุกเปลือกจะเป็นสีดำ เนื้อในสีน้ำตาล ขนาดผลโตเต็มที่เท่าปลายนิ้วชี้ รสชาติหวานอมเปรี้ยว เมล็ดมีสีดำหรือน้ำตาล ลักษณะแบนรี โดยทุกปีราคาลูกหยีที่ขายออกจากสวนจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 60 บาท แต่เมื่อนำไปแปรรูปจะมีราคาที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว
ซึ่งการเก็บลูกหยี เมื่อรานกิ่งลงมาแล้วก็จะต้องเด็ดผลออกจากก้าน จากนั้นจึงเอาไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วเอาใส่กระสอบ ฝัดให้เปลือกสีดำกะเทาะออก ใช้กระด้งฝัดเอาเปลือกดำออกจนเหลือแต่เนื้อในสีน้ำตาล นำไปตากแดดอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าจะรับประทานสด ก็เพียงแต่แกะเปลือกสีดำออกก็สามารถรับประทานได้เลย
“ลูกหยี” สามารถเอามารับประทานเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ หรือรักษาอาการไอได้ดีมาก บรรเทาอาการไข้หวัด แก้โรคผิวหนัง รักษาแผล บางคนที่มีลูกอ่อนก็จะนำรากของต้นหยีมาทำยา เพื่อกระตุ้นการไหลของนมแม่ เปลือกนอกใช้แก้อาการท้องร่วง และยอดอ่อนก็สามารถใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ได้อีกด้วย