ตรัง - ตัวแทนชาวบ้านชุมชนหัวสนามบินตรัง ที่ได้รับความเดือดร้อนบ้านแตกร้าว จากปัญหาการขึ้นลงของเครื่องบิน 29 ครัวเรือน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ จ.ตรัง ให้ช่วยแก้ปัญหา และเร่งพิจารณาเวนคืนที่ดิน
วันนี้ (11 ก.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ตัวแทนชาวบ้านชุมชนหัวสนามบินตรัง หมู่ 9 ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง จำนวน 29 ครอบครัว เนื้อที่รวมกว่า 19 ไร่ ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาหลังคา และฝาหนังบ้านที่แตกร้าว จากการขึ้นลงของเครื่องบิน มาตลอดระยะประมาณ 5-6 ปี และนับวันรอยแยก รอยแตก รอยร้าวของหลังคา และฝาผนังบ้านจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเมื่อฝนตกหนัก น้ำฝนจะรั่วลงมาในตัวบ้าน จนสร้างความเดือดร้อนให้อย่างหนัก ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เนื่องจากที่ผ่านมา ได้มีการร้องเรียนผ่านผู้อำนวยท่าอากาศยานตรัง ตัวแทน ส.ส. และพรรคการเมืองในพื้นที่ เพื่อเสนอปัญหาไปยังกรมท่าอากาศยาน ให้พิจารณาทบทวนเรื่องการเวนคืนที่ดินในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกรมท่าอากาศยาน ได้ตอบกลับมาว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่แผนการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสียง และแรงสั่นสะเทือนของเครื่องบิน ตามผลการตรวจวัดเสียง และแรงสั่นสะเทือน ที่ทีมศึกษาสิ่งแวดล้อมเข้ามาตรวจวัดเมื่อวันที่ 8-9 เมษายน 2562 อีกทั้งยังระบุว่า ที่ดินของชาวบ้านทั้งหมดยังเป็นที่ราชพัสดุ และไม่มีเอกสารโฉนดที่ดิน
ขณะที่กลุ่มชาวบ้านชุมชนหัวสนามบินตรัง ยืนยันว่า แบบแปลนฉบับแรกอยู่ในแผนจะเวนคืน พร้อมกับพื้นที่อื่นๆ และมีการเข้ามาสำรวจอย่างละเอียดแล้ว แต่แบบแปลนหลังได้ตัดชุมชนหัวสนามบินออกไป เพราะบริษัทรับศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าใจผิดว่าชุมชนหัวสนามบินเป็นที่ราชพัสดุ ทั้งที่ชาวบ้านยืนยันว่า บ้านเรือนทั้งหมดมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน
ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้นำแผนที่บ้านเรือนของชุมชนหัวสนามบินตรัง มาตรวจสอบ ประกอบการรับฟังปัญหา และยืนยันจะเร่งแก้ปัญหาให้ โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง ลงไปเก็บข้อมูล ภาพถ่ายบ้านเรือนที่เสียหายแตกร้าว เอกสารโฉนดที่ดินของชาวบ้าน พร้อมให้ซักถามประวัติการอยู่อาศัยของชาวบ้านแต่ละหลังอย่างละเอียด ว่ามีการอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการก่อสร้างสนามบิน
ขณะที่กลุ่มชาวบ้าน ยืนยันว่า ต้องการให้กรมท่าอากาศยานเวนคืนที่ดินเท่านั้น เนื่องจากเดือดร้อนมายาวนาน และหากมีการปรับปรุงขยายสนามบินแล้วเสร็จ จะมีการเพิ่มเที่ยวบิน และมีเครื่องบินเช่าเหมาลำเข้ามา จะยิ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนักขึ้น
นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ชาวบ้านทั้งหมดอยู่ติดหัวสนามบิน เดิมได้ถูกศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย แต่พอไปฟังผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3 อาจจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในที่ราชพัสดุ จึงทำให้ถูกตัดออกไป ส่วนตัวรับฟังปัญหาจากประชาชนแล้ว ทำให้ทราบว่าทั้งหมดเดือดร้อนจริงๆ ที่สำคัญประชาชนอยู่มาก่อนที่จะมีการก่อสร้างสนามบิน ก็จะรวบรวมข้อมูลส่งไปให้กระทรวงคมนาคม ขอให้พิจารณาพื้นที่นี้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งการช่วยเหลืออยู่ที่กรอบการใช้เงิน ซึ่งรัฐบาลนั้นมีเงินอยู่แล้ว และเนื้อที่เพียง 19 ไร่ ในส่วนนี้ถือว่าไม่มาก
ทางด้านตัวแทนชาวบ้าน กล่าวแสดงความดีใจหลังเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพราะทำให้มั่นใจว่าปัญหาของพวกตนจะได้รับการดูแลแก้ไขอย่างแน่นอน และจะรอคอยคำตอบจากกระทรวงคมนาคมต่อไป