xs
xsm
sm
md
lg

ป่าพรุนครศรีฯ สิ้นสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำหลังเกิดไฟป่านานกว่า 1 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
นครศรีธรรมราช - ป่าพรุสิ้นสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ คนเข้ายึดครองพื้นที่ทำการเกษตรปัจจัยเร่งเกิดไฟป่า ด้าน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติจี้คุมพื้นที่ห้ามบุกรุก พร้อมเตรียมสร้างแหล่งน้ำในพรุเพิ่ม

ภาพมุมสูงสภาพป่าพรุควนเคร็ง ในพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในลักษณะป่าพรุที่สิ้นสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ปรากฏการณ์สะเด็ดน้ำออกมาจากป่าพรุ ลงสู่คลองซอย และคลองแนวกันพื้นที่ป่าที่ถูกขุดขึ้นโดยทางราชการ ประกอบกับฝนทิ้งช่วงทำให้น้ำขาดไปจากป่าพรุอย่างสิ้นเชิง แนวไฟที่เกิดขึ้นตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมานั้น ข้อมูลของสถานีควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็งได้รวบรวมพื้นที่ความเสียหายที่เกิดขึ้น พบว่า มีมากกว่า 15,000 ไร่แล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญคือ พื้นที่แห้งแล้งและถูกลักลอบจุดไฟอย่างต่อเนื่อง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าบินสำรวจพื้นที่ความเสียหาย และเรียกประชุมผู้รับผิดชอบพื้นที่ ทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งหน่วยงานราชการในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมหารือเพื่อกำหนดแผนการในการปลูกคืนพื้นที่ป่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าครั้งใหญ่ที่สุด โดยการระดมจิตอาสาในหลายจังหวัดมาช่วยกันปลูกเพื่อให้ป่าฟื้นคืนตามธรรมชาติให้เร็วที่สุด
 

 
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเฝ้าติดตามและควบคุมพื้นที่ทุกจุดหลังจากเกิดไฟป่าถือเป็นพื้นที่เสี่ยงในการบุกรุก ทุกพื้นที่จะต้องไม่มีการบุกรุกโดยเด็ดขาด จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ต่อข้อถามจากข้อมูลของ สผ.ที่ชี้ถึงการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดในพื้นที่ป่าพรุ นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องทบทวนการหาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าพรุ ป้องกันความเสียหายจากไฟป่า โดยมีข้อคิด เช่น ควรจัดหาบ่อบาดาล หรือไม่ ควรที่จะขุดสร้างอ่างพวงในพื้นที่ป่ากักเก็บน้ำเพื่อป้องกันควบคุมไฟป่าหรือไม่ โดยการกักเก็บน้ำฝนที่เข้ามาเติมพื้นที่ให้ได้ ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้สูบน้ำเข้ามาควบคุมพื้นที่ป่าพรุถึง 14 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้ามีการกักเก็บน้ำในป่าพรุให้ได้ในระดับ 20-30 ซม. เห็นว่าใช้น้ำเพียงไม่กี่ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
 




กำลังโหลดความคิดเห็น