xs
xsm
sm
md
lg

ความตายที่ยังเป็นปริศนาของ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ผู้ต้องสงสัย”ไฟใต้” คนสุดท้ายหรือคนล่าสุดที่ถูกหาม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.

เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค. ราว 04.03 น. นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอบุคคลต้องสงสัย ที่หมดสติขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่หน่วยซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร จนแพทย์ต้องนำเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียู ได้จากไปอย่างสงบหลังจากที่ต้องนอนรับการรักษาโดยที่ไม่รู้สึกตัวมากว่า 35 วัน
 
ร.พ.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งรับตัวนายอับดุลเลาะมาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. ออกหนังสือรับรองการตายให้แก่ญาติของนายอับดุลเลาะ ระบุสาเหตุการตายว่า Hypoxic Ischemic Encephalopathy (HIE) หรือสมองขาดออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยง
 
แต่ในแถลงการณ์ของ ร.พ.สงขลานครินทร์ ที่ออกในวันเดียวกัน กลับระบุสาเหตุของการเสียชีวิตว่า เกิดจากปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง (Severe Pneumonia) และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Septic Shock) โดยแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า นายอับดุลเลาะมีอาการคงที่มาโดยตลอดและเริ่มมีอาการทรุดลงประมาณ 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยพบว่ามีการอักเสบของปอดอย่างรุนแรง คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อ มีภาวะผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทีมรักษาพยาบาลได้ปรับตั้งเครื่องช่วยหายใจและให้ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงมาตลอด อีกทั้งปรับการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อครอบคลุมเชื้อที่ก่อโรค

”จนกระทั่งคืนวันเสาร์ที่ 24 ส.ค. 2562 อาการของผู้ป่วยเริ่มทรุดลงด้วยภาวะความดันโลหิตต่ำ และมีการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติมากขึ้น ทีมรักษาได้ให้ยาควบคุมความดันโลหิตในขนาดสูง แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาพยาบาล ยังคงมีความดันโลหิตต่ำลง มีความผิดปกติของการแลกเปลี่ยนก๊าซ และมีความเป็นกรดในเลือดสูงขึ้น”

”ทีมรักษาพยาบาลได้ให้ข้อมูลแก่ญาติผู้ป่วยมาโดยตลอดจนกระทั่งก่อนเสียชีวิต ซึ่งญาติผู้ป่วยก็เข้าใจในการดำเนินของโรคและพยากรณ์ของโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 04.03 น. ของวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค. 2562”
 
ทำไม ในแถลงการณ์กับหนังสือรับรองการตาย ที่ออกให้โดยโรงพยาบาลแห่งเดียวกัน จึงระบุสาเหตุการเสียชีวิตแตกต่างกัน จะเป็นเพราะว่าแถลงการณ์เขียนโดยสรุป ยกเอาแค่อาการสุดท้ายของนายอับดุลเลาะมาเป็นสาเหตุการตาย โดยที่ไม่ได้พูดถึงอาการเจ็บป่วยที่ทำให้นายอับดุลเลาะต้องเข้ารักษาในห้องไอซียูนานนับเดือน เขียนไปโดยไม่ได้คิดให้ถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะตามมาหรือไม่ หรือถ้อยความในแถลงการณ์นั้นเป็นความตั้งใจที่จะตัดตอนอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นที่ได้รับในระหว่างการถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร ตาม “ใบสั่ง” ของใครหรือไม่
 
เรื่องนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกต หนึ่งในนั้นคือ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งติดตามกรณีการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน และได้มาช่วยเหลือครอบครัวของนายอับดุลเลาะระหว่างที่มาเฝ้าไข้ที่ ร.พ.สงขลานครินทร์ เธอเขียนเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Chalita Bundhuwong เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ว่า อดสงสัยไม่ได้ว่า มีหน่วยงานใดมาตรวจหรือเซ็นเซอร์แถลงการณ์ก่อนเผยแพร่หรือไม่ 
 
“แถลงการณ์ในลักษณะนี้เอื้อต่อการสร้างความชอบธรรมให้แก่กองทัพและรัฐบาลอย่างมากในที่จะทำให้เรื่องนี้เงียบหาย และทำให้หนทางในการค้นหาความจริง เช่น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นกลางในระดับประเทศ หรือการทำให้เรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ฯลฯ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การอ้างแถลงการณ์การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะห์ ของ ร.พ.สงขลานครินทร์แต่เพียงอย่างเดียวดังที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งท่าทีที่เลวร้ายมากและเป็นเจตนาที่จะทำให้เรื่องนี้เงียบหายและขัดขวางกระบวนการค้นหาความจริงที่ควรจะมีต่อไปเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายนายอับดุลเลาะห์ในค่ายทหาร”
 
 

ดร.ชลิตา มองว่า แถลงการณ์ของ ร.พ.สงขลานครินทร์ที่ออกมาในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ควรระบุให้ชัดเจนถึงสาเหตุแห่งการเสียชีวิตที่มีความต่อเนื่องกัน เพื่อป้องกันความสับสน นั่นคือ ควรระบุว่า “นายอับดุลเลาะห์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการสมองขาดออกซิเจน หลังจากนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมาระยะหนึ่ง ได้มีภาวะแทรกซ้อนในการติดเชื้อในปอและเชื้อลุกลามจนเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้เสียชีวิตนอกจากนี้ เธอตั้งคำถามด้วยว่า ทำไม ร.พ.สงขลานครินทร์จึงออกแถลงการณ์แบบตัดตอนเรื่องสาเหตุการตายเช่นนี้ ทำไมไม่เอาข้อมูลจากหนังสือรับรองการตายมาใส่ในแถลงการณ์
 
คำสัมภาษณ์ของ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตามที่ ดร.ชลิตาอ้างถึงนั้น ระบุว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจตามหลักการทางการแพทย์ทุกชนิดแล้ว พบว่าการเสียชีวิตนั้นไม่พบว่ามีการกระทำจากบุคคลภายนอก สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการติดเชื้อในปอด ซึ่งแพทย์ ร.พ.สงขลานครินทร์เป็นผู้แถลงเพื่ออธิบายต่อสังคมในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางการแพทย์
 
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แพทย์ทั้ง 3 โรงพยาบาลที่นายอับดุลเลาะเข้ารับการรักษา ทั้ง ร.พ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร ร.พ.ปัตตานี และ ร.พ.สงขลานครินทร์ ก็มีผลการตรวจร่างกายที่ตรงกันว่านายอับดุลเลาะห์ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย”
 

นอกจากประเด็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของ ร.พ.สงขลานครินทร์ที่ไม่ตรงกันแล้ว ยังมีประเด็นที่ค้างคาหาคำตอบไม่ได้อยู่อีก ประเด็นหลักที่ยังต้องค้นหาคือสาเหตุที่ทำให้นายอับดุลเลาะหมดสติในขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งช่างประจวบเหมาะกับกล้องวงจรปิดในหน่วยซักถามยังใช้งานไม่ได้ เพราะผู้รับเหมายังไม่ได้ส่งมอบงาน ภาพเหตุการณ์ในช่วงนั้นจึงไม่มีการบันทึกไว้ อีกทั้ง ครอบครัวของนายอับดุลเลาะก็ปฏิเสธที่จะให้แพทย์ชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะทำให้ได้คำตอบที่แท้จริงหรือไม่
 
นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ กล่าวถึงการชันสูตรพลิกศพว่า แม้จะมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่งตั้งขึ้นมา แต่เวลาผ่านไปกว่า 30 วัน ไม่มีอะไรคืบหน้า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า หากให้แพทย์ผ่าพิสูจน์จะได้ความจริง บอกตรงๆ เลยว่า ขณะนี้ญาติไม่เชื่อมั่นเลย 
 
หลังการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ หนึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าว น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นผู้ที่รณรงค์เรียกร้องให้ยุติการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เธอระบุในหนังสือลาออกตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไม่มีศักยภาพและความสามารถเพียงพอในการทำงานนี้ และด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลในการทำงานและเวลาในการทำงาน ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่”
 
น.ส.อัญชนา ให้สัมภาษณ์หลังการลาออกว่า เราควรให้ความสำคัญในการหาสาเหตุที่ทำให้นายอับดุลเลาะหมดสติ จนต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู และต้องการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด ข้อมูลที่แพทย์ให้แก่คณะกรรมการจึงแตกต่างกัน ครั้งแรกบอกว่าไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของอาการสมองขาดออกซิเจนได้ แต่ครั้งที่ 2 แพทย์กลับให้ความเห็นในทำนองว่า การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่น่าเกิดจากการถูกผู้อื่นกระทำ
 
 

หลังจากฝังร่างของนายอับดุลเลาะแล้ว คำถามที่ยังค้างคาใจไม่ได้ฝังไปกับเขาด้วย น.ส.ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยานายอับดุลเลาะ เตรียมที่จะแจ้งความดำเนินคดีอาญา เพื่อทวงถามความยุติธรรม เธอเชื่อว่า อาการเจ็บป่วยของนายอับดุลเลาะ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังต้องทวงถามความคืบหน้าจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้แก่นายอับดุลเลาะ จากการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวหมดสติในระหว่างการควบคุมตัว เนื่องจากจนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้คำตอบใดๆ เลย
 
นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังหารือกันว่าจะระดมคนขึ้นรถบัสไปทวงถามรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล
 
เรื่องราวของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ วัย 34 ปี ช่างก่อสร้าง ชาว อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่ถูกซัดทอดจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคง จนถูกควบคุมตัวเข้าหน่วยซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร ไม่ทันข้ามคืนก็กลายเป็นเจ้าชายนิทรานอนรักษาตัวอยู่ 35 วัน ก่อนจะจากไปนั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะลงเอยอย่างไร จะเงียบหายไปเหมือนอีกหลายกรณีก่อนหน้านี้ หรือจะสร้างแรงสั่นสะเทือนจนเกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
 
จะเป็นรายสุดท้าย ที่เข้าเดินเข้าไปในหน่วยซักถาม ตามอำนาจของกฎหมายพิเศษ แล้วขาออกต้องหามกันออกมา หรือจะเป็นรายล่าสุด เพื่อรอนายอับดุลเลาะคนต่อไป
 



กำลังโหลดความคิดเห็น