xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ตั้ง “พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล” รมช.กลาโหม นั่งแท่นหัวหน้าผู้แทนพิเศษดับไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

(แฟ้มภาพ)
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลแก้ปัญหาไฟใต้ชุดใหม่ ลดจำนวนจาก 13 เหลือ 7 คน ใช้ชุดเก่านั่งทำงานต่อ ตั้งใหม่แค่ “พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล” รมช.กลาโหม เป็นหัวหน้า อำนาจหน้าที่ยังคงคล้ายกับชุดเดิม
 
วานนี้ (3 ก.ย.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เสนอแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 7 คน ดังนี้
 
(1) พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล
(2) พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล
(3) พล.อ.ปราการ ชลยุทธ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
(4) พล.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
(5) พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4
(6) นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 
และ (7) นายจำนัล เหมือนดำ อดีตรองเลขาธิการ ศอ.บต.
 
ทั้งนี้ แต่เดิมผู้แทนพิเศษของรัฐบาลมีรวมกันทั้งสิ้น 13 คน โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นหัวหน้า ก่อนที่จะลาออกเนื่องจากไปรับตำแหน่ง ส.ว. ทั้งนี้ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลชุดใหม่นี้ นอกจาก พล.อ.ชัยชาญ แล้ว ที่เหลืออีก 6 คน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลจากชุดเดิม โดยมีนายฉัตรพงศ์ เป็นเลขานุการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลชุดเก่าด้วย
(แฟ้มภาพ)
ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่อำนาจ คล้ายคลึงกับชุดเดิม คือ (1) ประสานงานระหว่าง ครม.และราชการส่วนกลางกับหน่วยงานในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดการบูรณาการและมีประสิทธิภาพ (2) ประสานงานกับรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในเขตตรวจราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 
(3) ประสานงานกับ คปต., กอ.รมน., ศอ.บต. จังหวัดส่วนราชการและภาคส่วนต่างๆ ในการเชื่อมโยงงานให้เกิดการบูรณาการและประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นด้านความมั่นคง นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งแผนที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแท้จริง
 
(4) ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของหน่วยงานให้มีความเหมาะสมสอดคล้องต่อการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
(5) รายงานปัญหา อุปสรรค ตลอดจนเสนอแนวทางการป้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ และ (6) ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี หรือประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มอบหมาย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น