xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันปิโตรเลียมไทยลงติดตามผล 6 ปีปะการังเทียม พบนิเวศใต้ทะเลขยายตัวเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - สถาบันปิโตรเลียมไทยลงติดตามผล 6 ปี ปะการังเทียมจากขาแท่นขุดเจาะจำลอง พบนิเวศใต้ทะเลขยายตัวเพิ่มขึ้น มีปะการังหลากหลายและปลาทะเลคืนถิ่น เชื่อจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำในอนาคต

ที่อำเภอเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการจัดวางปะการังเทียม ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน จากการลงนามความร่วมมือ กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อศึกษาวิจัยทดลองการจัดสร้างปะการังเทียมที่ทำจากโครงสร้างเหล็กเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรสัตว์น้ำ ลดปัญหาการรุกล้ำชายฝั่งของเรือประมงผิดกฎหมาย
 

 
โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากบริษัทผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยคือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท มิตซุยออยล์เอ็กซ์โปลเรชั่น จำกัด บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ จำกัด บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) หรือโคสตัล เอนเนอยี่ จำกัด บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จำกัด บริษัท เฮสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด

โดยข้อมูลทางเทคนิคในการทดลองโครงการนี้ได้จัดวางปะการังเทียมได้ใช้โครงสร้างจำลองขาแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่บริเวณอ่าวโฉลกหลำ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี วัสดุที่ใช้เป็นโลหะ carbon steel ชนิดเดียวกับขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย มีขนาด 12x12 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 4 แท่น น้ำหนักประมาณ 50-75 ตัน จัดวาง 2 จุด (จุดละ 2 แท่น) บริเวณอ่าวโฉลกหลำ โดยมีระยะทางในแนวตั้งฉากจากชายหาดประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 18-20 เมตร
 

 
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยข้อมูลที่รวบรวมได้ว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ได้มีการติดตามการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งไม่พบผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่กลายเป็นชุมชนของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่เพิ่มปริมาณและความหลากหลายอย่างเห็นได้ชัด กลายเป็นแหล่งประกอบอาชีพประมงและแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำที่สำคัญ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ Mr.Stefan follows สถาบันคอร์ซี (CORESea) ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีที่ทำการอยู่บนบริเวณอ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน กล่าวว่า การติดตามการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า มีปะการังอ่อนเข้าเกาะและเจริญเติบโตได้ดีมาก มีแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน และลูกปลาวัยอ่อน เป็นระบบนิเวศปะการังเทียมที่มีความหลากหลาย ปีที่ผ่านมา พบปลามาอาศัยอยู่มากถึง 24 ชนิด บางชนิดเป็นปลาที่หายไปจากแถบนี้แล้วแต่พบว่ากลับมาอาศัยในจุดนี้อย่างมีนัยสำคัญ
 

 
ในส่วนของ นายจันทร์โชติ พิริยะสถิตย์ ผู้จัดการ บริษัท โลตัสไดว์วิ่ง จำกัด ผู้ประกอบการในพื้นที่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการวางปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นผลิตปิโตรเลียม ช่วยให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำแห่งใหม่ของเกาะพะงัน เดินทางจากฝั่งไปถึงโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จะเป็นการช่วยสร้างจุดดำน้ำแห่งใหม่ที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะช่วยแบ่งจำนวนนักท่องเที่ยวดำน้ำจากแหล่งปะการังธรรมชาติ เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อปะการังธรรมชาติ

นายพงศ์ศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านโฉลกหลำ ม.7 ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจัดวางปะการังเทียมนี้ประสบความสำเร็จและพิสูจน์แล้วว่า สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านและชุมชนได้จริง ในอนาคตอยากให้มีการลงปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่เพิ่มเติมขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้นได้ หรืออย่างน้อยๆ คือการสร้างให้คนมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่งผลไปถึงอนาคตลูกหลานในการเรียน ในการศึกษา ซึ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกันทั้งหมด และเสนอว่าการจัดวางปะการังเทียมนี้จะเป็นแนวทางเพื่อนำมาปรับปรุงและต่อยอดการวางปะการังเทียมน้ำลึกจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมเพื่อการอนุรักษ์ทางทะเล รวมถึงโครงสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ ในอนาคตต่อไป
 




กำลังโหลดความคิดเห็น