xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 แจง “Fake News” ป่วน 3 จชต. ห่วงทำประชาชนสับสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ยะลา - “พ.อ.วัชรกร อ้นเงิน” ผู้ช่วยโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ออกแถลงชี้แจงเหล่าเพจ “Fake News” พยายามป่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห่วงประชาชนผู้รับข่าวสารสับสน แนะติดตามข่าวสารข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น

วันนี้ (29 ส.ค.) พ.อ.วัชรกร อ้นเงิน ผู้ช่วยโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากกรณีเพจ Suara Patani, ข่าวความจริง สามจังหวัดภาคใต้, Patani Kita, Fajar Harian, ประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในดินแดนปาตานี และเพจ Cerita Patani ได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง และยังมีลักษณะชี้นำใส่ร้ายป้ายสีให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคม โดยมีเจตนาที่จะทำลายความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติของเจ้าหน้ารัฐมาโดยตลอด โดยดูได้จากในหลายๆ เหตุการณ์ที่ปรากฏผ่านสื่อดังกล่าวในห้วงที่ผ่านมา พบว่า กลุ่ม “Fake News” เหล่านี้มีการโพสต์ข้อความบิดเบือน กล่าวหาโจมตีหน่วยงานภาครัฐ โดยไม่มีเหตุผล และปราศจากข้อเท็จจริง ทำให้ได้รับความเสียหาย และเกิดการเข้าใจผิดจากผู้ติดตามข่าวสาร

ตัวอย่างเช่น จากกรณีล่าสุดการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงได้ช็อกหมดสติภายในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยส่งเข้าทำการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามลำดับ โดยเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง จากคำแถลงการณ์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
 

 
จากกรณีดังกล่าว ได้มีเพจข่าวความจริงสามจังหวัดภาคใต้ และในกลุ่มเพจ Fake News ได้ออกมากล่าวหาชี้นำสังคมว่า ผลการแถลงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความคลุมเครือในหลายประเด็น ซึ่งย้อนแย้งจากความเป็นจริงอย่างชัดเจน จากการแถลงการณ์ในประเด็นต่างๆ ของทางคณะกรรมการฯ มีความชัดเจนเป็นอย่างมากในเนื้อหา และสามารถตอบคำถามซึ่งเป็นข้อสงสัยของสังคมได้ครบทุกประเด็น เช่น การตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ซักถาม พบว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกประการ และไม่พบความผิดปกติใดๆ

การตรวจสอบสถานที่ศูนย์ซักถาม พบว่า เป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับกล้องวงจรปิดที่ไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจากอาคารดังกล่าวเป็นอาคารใหม่ เพิ่งสร้างเสร็จ และเริ่มใช้งานเมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวกล้องได้ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งมอบจากบริษัท จึงยังไม่ได้มีการใช้งาน โดยปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล้องทุกตัวสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
 

 
การตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิต ยืนยันจากคำแถลงการณ์ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เกิดจากอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุนำจากภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้รวบรวมข้อเท็จจริงจากความเห็นของแพทย์ที่ให้การรักษา สรุปได้ว่า การขาดออกซิเจนของสมอง กรณีของนายอับดุลเลาะ น่าจะเกิดจากการแตกของหลอดเลือดในสมอง จากโรคหลอดเลือดโป่งพอง ซึ่งเป็นโรคที่จะไม่ปรากฏอาการใดๆ และไม่มีอาการแจ้งเตือนก่อนที่จะเกิดการแตกออก อาการเช่นนี้จะส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมองอย่างรุนแรง สอดคล้องต่อการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบว่ามีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นใน ซึ่งหากมีการกระแทกจากภายนอกจะมีเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกเป็นลำดับแรก หรือหากมีการกระทำอื่นใดที่ทำให้ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ตามที่มีการกล่าวอ้าง เช่น ใช้ถุงคลุม หรือใช้ผ้าเปียกปิดหน้า หรือการกระทำอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งจากการสอบถามกับทางทีมแพทย์ พบว่า หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจริง จะต้องมีการแสดงถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่น ที่ชัดเจนคือเยื่อบุหลอดเลือดแตก และมีเลือดออกที่ตา เหงือก หรือบริเวณริมฝีปาก และใบหน้าจะบวมคล้ำ ซึ่งกรณีของนายอับดุลเลาะ ไม่ปรากฏอาการดังกล่าว

การช่วยเหลือครอบครัวของนายอัลดุลเลาะ ทางคณะกรรมการฯ จะรวบรวมข้อเท็จจริง และผลการวินิจฉัยของแพทย์ รายงานให้ ศอ.บต.ทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นควรให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ตามความเหมาะสม โดยจะเชิญภรรยา และครอบครัวของนายอับดุลเลาะ มาหารือต่อไป
 

 
รวมไปถึงเหตุลอบยิง นายอับดุลตอเละ กาสอ เสียชีวิตในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา เพจ Fake News ดังกล่าวได้โพสต์รูปภาพ พร้อมข้อความที่บิดเบือนข้อเท็จจริง กล่าวหา โจมตีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจากภาพความเป็นจริงในการรวบรวมวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ทั้งปลอกกระสุนขนาด 5.56 มม. และขนาด 9 มม. และจากผลการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ ชี้ชัดว่า อาวุธปืนที่คนร้ายใช้ลอบยิง นายอับดุลตอเละ กาสอ เสียชีวิต เป็นอาวุธที่คนร้ายเคยใช้ก่อเหตุในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 13 คดี สำหรับอาวุธปืน M16 ที่ใช้ในการก่อเหตุพบเป็นปืนที่แย่งชิงมาจากการโจมตีจุดตรวจ ชคต.ปะกาฮะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งปืนกระบอกดังกล่าวยังใช้ยิงก่อกวนเหตุระเบิดตู้ ATM ในพื้นที่ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในหลายเหตุการณ์ จึงสามารถสรุปได้ว่าเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน

และจากเหตุระเบิดตู้ ATM ก็เช่นกัน มีความพยายามออกมาชี้นำสังคม โดยโพสต์ภาพรอยเท้าบริเวณหลังเสื้อของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงในอีกหลายเหตุการณ์ที่เพจ Fake News เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีความพยายามบิดเบือน ไร้ความน่าเชื่อถือ ปราศจากข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง
 

 
จากกรณีดังกล่าว พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้ส่วนที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่ม Fake News อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสั่งการให้ทีมกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เร่งรัดรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อแอดมินเพจดังกล่าวให้ได้โดยเร็ว ซึ่งหากปล่อยไว้อาจสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นวงกว้าง

จึงขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารการชี้แจงข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น รวมทั้งบริโภคข้อมูลข่าวสารอย่างระมัดระวัง และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีการส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวออกไป เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มไม่หวังดี และอาจจะมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง ที่เบอร์สายด่วน 1341 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 





กำลังโหลดความคิดเห็น