ตรัง - รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงติดตามปัญหาการทิ้งงาน และบอกเลิกสัญญากับบริษัทชื่อดัง ที่ก่อสร้างระบบระบายแม่น้ำตรัง ซึ่งทำไปได้แค่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยทางกรมเตรียมเข้าสานต่อเองต้นปี 63
วันนี้ (28 ส.ค.) นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาพบปะผู้นำท้องถิ่น ประกอบด้วย นายก อบต.นาตาล่วง อบต.หนองตรุด อบต.นาโต๊ะหมิง และ อบต.บางรัก อ.เมืองตรัง พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในช่วงน้ำหลาก เพื่อชี้แจงกรณีการทิ้งงาน และการบอกเลิกสัญญากับ บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการระบบระบายแม่น้ำตรัง (โครงการขุดคลองผันน้ำ) งบประมาณ 601 ล้านบาท ระยะทางยาว 7.55 กม.ความกว้างคลอง 102 เมตร ความลึกคลอง 4.50 เมตร ระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
โดยเริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 สิ้นสุดสัญญา 21 สิงหาคม 2562 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเขตเมือง และกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง หลังจากที่ทางบริษัทดำเนินงานไปได้เพียง 21.86 เปอร์เซ็นต์ หรือช้ากว่าแผน 78.14 เปอร์เซ็นต์ และทิ้งงานในที่สุด ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้บอกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว และจะเปลี่ยนมาดำเนินการเอง
โดย นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับโครงการระบบระบายแม่น้ำตรัง กรมชลประทานได้ดำเนินการตามเงื่อนไขทุกประการ ถึงแม้ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าหรือเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ แต่ทางกรมก็ได้ดำเนินการตามที่บริษัทร้องขอ เช่น ขยายเวลาตามมติ ครม. หรือขยายเวลาตามที่มีการขอแก้ไขแบบ หลังจากนั้น ทางกรมก็ติดตามเร่งรัดกำกับติดตามการทำงานทุกขั้นตอน มีการแจ้งเตือนโดยคณะกรรมการตรวจการจ้าง รวม 20 ครั้ง และแจ้งโดยกรมชลประทาน รวม 3 ครั้ง และสุดท้ายก็มีการทิ้งงาน และได้บอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว ทั้งนี้ ยังเหลืองาน 3 ส่วนสำคัญคือ การขุดดินคันคลองที่เหลืออยู่ การก่อสร้างสะพาน 6 แห่ง และการสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง
ในส่วนของบประมาณตามวงเงินสัญญา 601,000,000 บาท ทางบริษัทได้เบิกจ่ายไป 196,107,556.10 บาท จากนั้น กรมชลประทาน ได้คิดคำนวณงบประมาณก่อสร้างใหม่ พบว่า จะต้องใช้ทั้งสิ้น 700 ล้านบาท ขณะนี้เงินเดิมเหลือประมาณ 400 ล้าน และยังขาดอีก 300 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบของกรมชลประทาน และได้คุยกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง เรียบร้อยแล้ว
โดยทางกรมชลประทาน เตรียมเข้ามาดำเนินการเองซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป และยืนยันว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2563 อย่างแน่นอน ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งเงินที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ทางกรมจะต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายจาก บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) และต้องขึ้นบัญชีเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า เท่าที่ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีสัญญารับเหมาก่อสร้างงานกับกรมชลประทาน ไว้ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 10 สัญญา วงเงินเกือบ 10,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา ตนเองได้เริ่มบอกเลิกสัญญากับบริษัทนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2559 และล่าสุด มีการบอกเลิกสัญญาเพิ่มเติมอีก 3 สัญญา คือ สัญญาโครงการบรรเทาอุทกภัยที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา งบประมาณ 1,300 ล้านบาท สัญญาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก งบประมาณ 400 ล้านบาท รวมทั้งสัญญาโครงการที่ จ.ตรัง งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท และยังมีอีกหลายสัญญาที่เตรียมจะบอกเลิก สาเหตุสำคัญคือ ไม่เอาคนมาทำงาน ไม่เอาเครื่องจักรมาทำงาน ทำงานไม่ปฏิบัติตามแผน หรือไม่ทำตามคำแนะนำของผู้ว่าจ้างคือ กรมชลประทาน