ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคอนโดมิเนียมหรู “เดอะ พีค เรสซิเดนซ์” มูลค่ากว่า 2 พันล้าน กับ ชาวบ้านและผู้ประกอบการโรงแรมหาดกะตะน้อย เกิดจากความต้องการเพื่อปกป้องผืนป่าต้นน้ำ รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม หรือเพียงเพื่อปกป้องอาณาจักรตัวเอง
ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและผู้ประกอบการโรงแรมหาดกะตะน้อย ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต กับ โครงการคอนโดมิเนียมหรู “เดอะ พีค เรสซิเดนซ์” ของ บริษัท กะตะ บีช จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาหาดกะตะน้อยนั้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นจากผู้ประกอบการโรงแรมและชาวบ้านหาดกะตะน้อยรวมตัวกัน ในนามมูลนิธิรักษ์ท้องถิ่น ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ตรวจสอบการก่อสร้างโครงการ เดอะพีคฯ ว่า
มีการก่อสร้างบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ ใบอนุญาตก่อสร้างออกไม่ถูกต้อง และที่สำคัญศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้สั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการประโยชน์ หรือ นส 3 ก.เลขที่ 1863 เนื้อที่ 17 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการเดอะพีคฯ ไปแล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้เทศบาลตำบลกะรนสั่งระงับการก่อสร้างทั้งโครงการ เพื่อทวงคืนผืนป่าต้นน้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของหาดกะตะน้อย แต่เรื่องก็ไม่มีความคืบหน้า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ขยับในเรื่องนี้
จนกระทั่งวันที่ 22 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา ชาวบ้าน และผู้ประกอบการหาดกะตะน้อย นำโดย นายสมบัติ อติเศรษฐ์ ประธานบริหารกลุ่มโรงแรม กะตะธานี คอลเล็คชั่น ออกมารวมตัวชูป้าย เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและระงับการก่อสร้างโดยทันที โดยอ้างว่า เพื่อยับยั้งผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์การท่องเที่ยวในภาพรวมของหาดกะตะน้อย
โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างโครงการ เดอะพีคฯ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่น้ำจะไหลลงมายังคลองต่างๆ ในพื้นที่กะตะน้อย จะทำให้เกิดปัญหาน้ำขาดแคลน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังเคยร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกป่าทดแทนมาแล้ว นอกจากนั้น สิ่งที่จะตามมาถ้าการก่อสร้างคอนโดแล้วเสร็จ ซึ่งทราบว่ามีกว่า 400 ห้อง คือปัญหาเรื่องน้ำเสียที่อาจจะไหลลงมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ หากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
หลังชาวบ้านและผู้ประกอบการออกมาเรียกร้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงในส่วนของ กอ.รมน.ก็ได้ลงพื้นที่ภูเก็ตตรวจสอบข้อมูลและลงพื้นที่ตรวจสอบภายในโครงการ เดอะ พีคฯ ด้วยเช่นกัน
หน่วยงานราชการก็ออกมารับรองว่า การดำเนินการเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นส.3 ก.แม้ศาลปกครองจะสั่งเพิกถอน แต่ทางเจ้าพนักงานที่ดินภูเก็ตได้อุทรณ์ เจ้าของที่ดินยังคงมีสิทธิในที่ดินจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินชี้ขาด ป่าไม้ก็ยืนยันว่าอยู่นอกเขตป่า กรมพัฒนาที่ดินก็รับรองว่าความลาดชันไม่เกิน 35% ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย เทศบาลตำบลกะรนก็ยืนยันออกใบอนุญาตถูกต้อง และได้ต่อใบอนุญาตก่อสร้างมาเรื่อยๆ ตามที่โครงการยื่นขอ
จนกลับมาเป็นกระแสดังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาแถลงข่าวเรียกร้องให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ เดอะพีคฯ เพื่อทวงคืนฝืนป่าต้นน้ำกลับมา รวมไปถึงระบุว่าตัวเองถูกขู่ฆ่าหลังออกมาเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างโครงการ พร้อมกับลงพื้นที่ภูเก็ตรับหนังสือร้องเรียน ตรวจสอบข้อเท็จจริง และหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
โดยนายสิระมุ่งเป้าไปที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างของเทศบาลตำบลกะรนไม่ถูกต้องด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิไปแล้ว เรียกร้องให้ผู้ว่าฯสั่งให้นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกะรน ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และย้าย ผอ.กองช่าง ออกนอกพื้นที่ จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จริงจะแล้วเสร็จ เพื่อนำที่ดินแปลงดังกล่าวคืนให้เป็นป่าต้นน้ำต่อไป จนนำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ทำการตรวจสอบให้เสร็จภายใน 30 วัน
ไม่ว่าจะทำการตรวจสอบสักกี่ครั้ง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ก็ยังยืนยันว่า โครงการ เดอะ พีคฯ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แม้แต่การได้มาซึ่งที่ดิน น.ส.3 ก.ที่ศาลปกครองนครศรีธรรมราชสั่งเพิกถอนแล้วก็ตาม
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี ทำให้โครงการ เดอะ พีคฯ ซึ่งเป็นการลงทุนโดย บริษัท กะตะ บีช จำกัด ซื้อที่ดินแปลงนี้ต่อมากจาก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท ต้องก่อสร้างแบบหยุดๆ สร้างๆ ผู้ร้องเรียนก็ออกมาร้องเรียนเป็นระยะๆ โดยหลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะเกิดการความต้องการที่ดินแปลงดังกล่าว และ ต้องการรักษาผืนป่าต้นน้ำไว้ ไม่ให้มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินและก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว
โดยแหล่งข่าวในพื้นที่ตำบลกะรนรายหนึ่ง เปิดเผย ถึงปมความขัดแย้งจนนำมาถึงการร้องเรียนให้ตรวจสอบและระงับการก่อสร้างจนถึงขณะนี้ ว่า จริงๆแล้ว ปัญหาการร้องเรียนดังกล่าว น่าจะเกิดจาก ผู้ประกอบการโรงแรมรายหนึ่งในพื้นที่หาดกะตะน้อย มีความต้องการที่จะซื้อที่ดินแปลงนี้เช่นกัน โดยมีการติดต่อเจรจาขอซื้อจากเจ้าของเดิม ก่อนที่จะขายให้กับ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เสียอีก
“แต่ติดอยู่ที่ราคา ที่ทางฝ่ายผู้ต้องการซื้อเสนอในราคาที่ต่ำจนเจ้าของที่ดินเดิมไม่ยอมขายให้ เนื่องจากเห็นว่าราคาต่ำเกินไป สามารถที่จะขายได้ในราคาที่สูงกว่านั้น จึงไม่ยอมขายให้กับผู้ขอซื้อรายดังกล่าว” แหล่งข่าวกล่าวและว่า
จน บริษัท กะตะ บีช ได้ซื้อมาในราคา 445 ล้านบาท และมีการขึ้นโครงการ เดอะ พีค เรสซิเดนซ์ นำมาซึ่งการร้องเรียนและมีการตรวจสอบมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
ในขณะที่แหล่งข่าวอีกราย ระบุว่า การออกมาคัดค้านโครงการ เดอะ พีคฯ นั้น ไม่มีการยืนยันว่าผู้ประกอบการรายดังกล่าว ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงนั้นจากเจ้าของเดิมแต่อย่างใด แต่น่าจะเกิดจากผู้ประกอบการไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโครงการใดๆในพื้นที่บริเวณที่ติดกับที่ดินแปลงของตนเอง ซึ่งจะเห็นว่าการร้องเรียนนั้นได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ว่า ที่ดินอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิที่ดินและก่อสร้างใดๆได้ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการออกเอกสารสิทธิที่ดินและการก่อสร้างโครงการ เดอะ พีคฯ
สอดคล้องกับทางผู้ประกอบการโรงแรมหาดกะตะน้อย ที่เคยออกมาปฏิเสธ ว่า เรื่องการติดต่อขอซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมนั้น ไม่เป็นความจริงๆ ไม่เคยติดต่อขอซื้อที่ดินตามที่มีกระแสข่าวออกหลังจากที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ ซึ่งการออกเคลื่อนไหวเพียงเพื่อต้องการปกครองผืนป่าต้นน้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของหาดกะตะน้อยให้ยั่งยืนตลอดไปเท่านั้น ไม่มีอะไรแอบแฝงตามที่มีการปล่อยข่าวใส่ร้ายป้ายสีกัน
สุดท้ายแล้ว...ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ที่ดินแปลงนี้ ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดจะเป็นผู้ชี้ขาด