xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ฉวยวิกฤตไฟไหม้พรุควนเคร็งชง “เมกะโปรเจกต์” หมื่นล้านแก้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 

 
เพียงธูปหนึ่งดอกผูกมัดไว้กับไม้ขีดไฟ ผูกด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วลากโยงเข้าไปในแนวหญ้าแห้งของป่าพรุควนเคร็ง
 
เมื่อธูปไหม้ลามไปจนถึงก้านไม้ขีดไฟ เปลวไฟก็ลุกโชนลามเสียไปตามผ้า แค่นั้นก็สร้างความเสียหายให้ป่าแห่งนี้ได้มากเกินพอ แต่ก็ยังไม่เคยพอเพียงกับ “ความเห็นแก่ตัว” ของคน
 
ตลอดปี 2562 ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช ถูกไฟไหม้ไปแล้วนับร้อยครั้ง ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า พื้นที่ป่าเสียหายไปแล้วประมาณ 15,000 ไร่ แต่มีเสียงกระซิบจากคนทำงานบอกว่า ตัวเลขจริงๆ ต้องคูณ 3 นั่นก็ราวๆ 45,000 ไร่! 
 
ป่าพรุควนเคร็งมีพื้นที่ทั้งสิ้น 223,320 ไร่ กินพื้นที่ 3 จังหวัดตั้งแต่ลุ่มน้ำปากพนังในเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร อ.ชะอวด อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ติดต่อกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไปจนถึงพื้นที่ตอนบนของทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา พื้นที่รอบๆ พรุควนเคร็ง เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน 22,830 ครัวเรือนหรือประมาณ 117,500 คน ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตแบบชุมชนเกษตร ประกอบอาชีพทำนาทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และประมง ใช้เวลาว่างสานกระจูดและแปรรูปสัตว์น้ำ ผลผลิตการจับสัตว์น้ำจากพรุควนเคร็งประมาณ 3,585 เมตริกตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 179,212,500 บาท/ปี
 
แม้ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจะประกาศตั้งรางวัลนำจับมือเผาสูงถึงหัวละ 50,000 บาท แต่ตอนนี้ก็ยังจับใครไม่ได้ ก็ด้วยวิธีการเผาที่ใช้ธูปเป็นตัวตั้งเวลา จุดธูปแล้วก็เผ่นหนี กว่าไฟจะลุกไหม้ มือเผาก็หายไปไกลแล้ว
 

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
แล้วเผาเพื่ออะไร! 
 
นายไสว ทองดำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเคร็ง อ.ชะอวด บอกว่าแบ่งคนเผาได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบป่าพรุควนเคร็ง เผาเพื่อต้องการเข้าไปจับจองพื้นที่ เผาเพื่อให้พื้นที่ป่ากลายเป็นป่าเสื่อมโทรมแล้วเข้าไปจับจองก่อนจะขายให้นายทุน เพื่อรวบรวมไปใช้ในการปลูกปาล์มและยางพารา
 
(2) นักการเมืองและเครือข่าย รวมทั้งผู้มีอิทธิพลจ้างวานให้ขาวบ้านเข้าบุกรุก เพื่อจุดประสงค์เหมือนกับนายทุนกลุ่มแรกคือ เพื่อให้พรุควนเคร็งกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ก่อนจะเข้าปลูกพืชเศรษฐกิจ และเมื่อมีโอกาสก็จะหาทางออกเอกสารสิทธิ เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม
 
และ (3) ข้าราชการบางคนทำตัวเพิกเฉยปล่อยให้มีการตัดโค่น เพื่อให้ส่วนกลางเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ พร้อมกับเม็ดเงินงบประมาณที่ไหลเข้ามา
 
นายอิศเรศ จิระรัตน์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการดับไฟป่า หรือเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ ระบุถึงสาเหตุของการเกิดไฟไหม้มาจาก 4 สาเหตุ คือ (1) จุดไฟเพื่อล่าสัตว์และหาของป่า เช่น น้ำผึ้งจากป่าเสม็ด (2) ชาวบ้านที่เข้าไปหาปลาอาจก่อไฟเพื่อประกอบอาหารและอื่นๆ จนทำให้เกิดไฟไหม้ (3) การทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟไหม้เข้าสู่พื้นที่ตนเอง แต่ไฟกลับลุกไหม้เข้าป่าพรุ และ (4) ความคึกคะนอง
 
ฟังคำจากคนในพื้นที่แล้วกลับมาดูตัวเลขงบประมาณ มีการคาดกันว่า งบประมาณที่ใช้ในภารกิจควบคุมไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งรอบนี้สูงถึง 300 ล้านบาท นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบพบว่าในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีกลุ่มบุคคลประมาณ 9 คนเข้าไปรังวัดจับจองพื้นที่พรุควนเคร็งที่ถูกไฟไหม้ จัดแบ่งเป็นแปลงๆ ละ 30 ไร่ มีการนำเสาปูนปักเป็นแนวเขต รวมกันแล้วนับพันไร่
 
 

ปัญหาการเข้าไปเผาป่าพรุควนเคร็งนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดในปีนี้ เกิดมาแล้วนานหลายสิบปี ทั้งเกิดตามธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ เพียงแต่ว่าครั้งนี้ มีความรุนแรงมากไปกว่าปีก่อนๆ นั่นก็เพราะปริมาณน้ำของป่าพรุควนเคร็งในปีนี้ลดลงไปมากจนเกิดความแห้งแล้ง ซึ่งข้อมูลจากโครงการพระราชดำริในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ระบุว่า ป่าพรุควนเคร็งมีระดับพื้นที่เฉลี่ยประมาณ -0.2 เมตร เมื่อถึงฤดูแล้ง หากระดับน้ำในป่าพรุลดลงถึงระดับ -0.2 เมตร จะทำให้เกิดไฟไหม้ป่าพรุ
 
และจากข้อมูลของส่วนควบคุมไฟป่า จ.นครศรีธรรมราช ก็ระบุไว้ว่า พื้นที่ป่าพรุเมื่อเกิดไฟป่าแล้วจะดับไฟได้ยากมาก เนื่องจากด้านล่างของป่าพรุจะมีหลุม ทำให้มีถ่านหรือไฟที่ยังไม่ดับอยู่ภายใน และสภาพแวดล้อมภายในป่าพรุมีต้นไม้คล้ายคลึงกันมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ชำนาญทางเกิดผลัดหลงได้ นอกจากนี้ จะมีควันไฟจำนวนมาก เพราะไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงมีความชื้น สร้างความลำบากให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก
 
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ช่วงที่เกิดไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งเป็นช่วงที่แทบไม่มีน้ำในพรุ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีการทำคันกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าป่าพรุ
 
 

นายอิศเรศ จิระรัตน์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการดับไฟป่า หรือเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ บอกในทำนองเดียวกันว่า ปีนี้ ฝนทิ้งช่วงคล้ายกับปี 2554 ที่มีภาวะภัยแล้ง ทำให้ครั้งนั้นเกิดไฟไหม้พรุควนเคร็งครั้งใหญ่ เสียหายกว่า 20,000 ไร่ ซึ่งภาวะภัยแล้งทำให้ระดับน้ำในป่าพรุแห้งขอด น้ำส่วนหนึ่งไหลลงคลองที่ระบายสู่ทะเล อีกทั้ง โดยรอบป่าพรุมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งต้องการน้ำมาก เมื่อชาวบ้านชุดคลองบริเวณโดยรอบ จึงทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงป่าพรุแห้งลง
 
ปัญหาระดับน้ำในป่าพรุควนเคร็งไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิด หลังเกิดไฟไหม้นับพันไร่ เมื่อวันที่ 21-22 ส.ค. 2552 คณะนักวิชาการจากสถาบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ลงพื้นที่และได้สรุปสาเหตุของการเกิดเพลิงใหม้ว่า ช่วงที่ไฟไหม้เป็นเวลาที่พรุแห้ง สาเหตุที่ทำให้น้ำไหลลงสู่ป่าพรุลดลงมีหลายประการเช่น มีการใช้น้ำเพื่อการเกษตร การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและนาข้าวบริเวณต้นน้ำของป่าพรุควนเคร็ง การปลูกปาล์มที่มีการขุดคูย้ายดินเพื่อยกร่องให้สูง น้ำจึงไหลลงสู่คูที่มีระดับต่ำกว่าทำให้พรุไม่สามารถเก็บน้ำได้มากในหน้าฝน การขุดคลองชลประทานสายชะอวด-แพรกเมือง การขุดลอกคลองไส้ไก่และคลองต่างๆ ที่เป็นการเร่งให้การระบายน้ำในพรุเร็วขึ้น และการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำในป่าพรุควนเคร็งของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กอปรกับดินป่าพรุที่มีปริมาณซากพืชทับถมอยู่ที่ผิวดินเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีของการเกิดไฟไหม้พรุในช่วงพรุแห้ง รวมถึงมีการลักลอบเผาป่าเพื่อทำการเกษตรกรรม
 
คณะผู้สำรวจได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาไว้ว่า รัฐควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่า ควรจะอนุรักษ์ป่าพรุควนเคร็งไว้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือจะพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ควรมีการศึกษาความสมดุลของปริมาณน้ำในพื้นที่รับน้ำของป่าพรุ และสร้างกลไกในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำคลองชลประทาน เพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ใกล้ผิวดินตลอดทั้งปีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ และร่วมกันสนับสนุนให้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางนิเวศวัฒนธรรม เพื่อให้พรุควนเคร็งยังคงสภาพเป็นป่าพรุอยู่ได้ท่ามกลางภัยคุกคามต่างๆ
 
 

 
ผ่านมา 10 ปี นอกจากปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับพบว่า มีการก่อปัญหามากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการขุดคลองไส้ไก่และคลองระบายน้ำที่มีจำนวนมากขึ้น การเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้ง การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
 
ล่าสุด ส.ส.ในพื้นที่ นายเทพไท เสนพงศ์ เสนอเมกะโปรเจกต์ขุดคลองรอบพรุ งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท บอกว่าจะเป็นแก้ไขปัญหาไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งที่ยั่งยืน มิหน้ำซ้ำยังได้ถนนรอบคันคลอง ได้คลองเพื่อได้ใช้น้ำ ป้องกันการบุกรุกป่าพรุควนเคร็งได้อย่างถาวร
 
ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงอย่างที่เสนอ หรืออาจจะกลายเป็น หวังดีประสงค์ร้าย ซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นกันมากแล้ว กับการใช้ เมกะโปรเจกต์ งบประมาณนับหมื่นล้านบาทเข้าแก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็น เมกะพร็อบเบลม แทน!
 





กำลังโหลดความคิดเห็น