xs
xsm
sm
md
lg

วอน! ช่วยกันดูแลพะยูนไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล ยันชาวประมงไม่ใช่จำเลยทำพะยูนตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฟ้มภาพ
กระบี่ - ประมงจังหวัดกระบี่ ขอความร่วมมือทุกคนงดทิ้งขยะลงทะเล สาเหตุการตายของพะยูน พร้อมยืนยันชาวประมงไม่ใช่จำเลยของสังคมที่ทำให้พะยูนตาย ที่ผ่านมา ชาวประมงมีแต่ช่วยเหลือ

นายแสน ศรีงาม ประมงจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ชาวประมงในพื้นที่ จ.กระบี่ กำลังตกเป็นจำเลยของสังคม จากกรณีที่มีปลาพะยูนตายจำนวนมากในทะเลกระบี่ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และล่าสุด “ยามีล” พะยูนน้อย ที่พบเกยตื้นในทะเลกระบี่ และถูกนำตัวไปอนุบาลที่ จ.ภูเก็ต ได้เสียชีวิตแล้ว โดยเรือประมงในกระบี่นั้นกว่า 90% เป็นประมงพื้นบ้าน ทำอวนลอยกุ้ง อวนลอยปลา ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อพะยูน และไม่ถึง 10% เป็นประมงพาณิชย์ อวนล้อมจับ และเรือปั่นไฟหมึก ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อสัตว์ทะเลสงวนติดอวน ชาวประมงก็จะทำการช่วยเหลือและปล่อยคืนทะเลไปทุกครั้ง จึงเชื่อได้ว่าชาวประมงไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาพะยูนตายอย่างแน่นอน
นายแสน ศรีงาม ประมงจังหวัดกระบี่
นายแสน กล่าวด้วยว่า สำหรับการบริหารจัดการทะเลชายฝั่ง ของจังหวัดกระบี่ ได้มีการประกาศเขตทะเลชายฝั่ง ออกไปถึง 5.4 กม.หรือราว 3 ไมล์ทะเล ห้ามเครื่องมือทำการประมงหลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อพะยูน ได้มีประกาศคณะกรรมการประมงระดับจังหวัด ห้ามทำการประมงอย่างเด็ดขาด ได้แก่ โป๊ะน้ำตื้น เบ็ดราว และอวนปลากระเบน ซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 ชนิด ส่วนใหญ่จะทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล ที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของพะยูน ขอความร่วมมือชาวประมงงดใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการทำประมง

สำหรับบทกำหนดกำหนดโทษในการทำประมงในเขตหวงห้ามผิดกฎหมายและจับสัตว์น้ำหวงห้าม มีบทลงโทษที่รุนแรง ปรับตั้งแต่ 3 แสน ถึง 6 ล้านบาท ส่วนพะยูนที่ตายจากการผ่าพิสูจน์ซาก ส่วนใหญ่พบว่า กินขยะพลาสติกเข้าไปอยู่ในท้อง ไม่สามารถย่อยสลายได้ เพราะฉะนั้น การตายของปลาพะยูน ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่เฉพาะแต่ชาวประมง จะต้องงดทิ้งขยะพลาสติกทุกชนิดลงทะเลอย่างเด็ดขาด


กำลังโหลดความคิดเห็น