คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้ / โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
“มะเขือพวง” พืชผักสมุนไพรชนิดกินผลที่ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่มีปัญหาเรื่องโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกนิยมเพาะปลูกใช้เป็นพืชอาหาร
มีถิ่นกำเนิดในแอนทิลลีส (Antilles) ตั้งแต่เขตฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์ เม็กซิโก จนถึงอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล เป็นวัชพืชขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วเขตร้อน ปัจจุบันพบในทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิกไกล ถึงมลรัฐฮาวายในสหรัฐอเมริกา
มีชื่ออื่นๆ อาทิ เช่น มะเขือพวง (กลาง) มะแคว้งกุลา (เหนือ) หมากแข้ง (อีสาน) มะเขือละคร (โคราช) เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง เขือเทศ (ใต้) มะแว้งช้าง (สงขลา)
ชื่อสามัญ : Common Asiatic weed, Turkey berry, Devil's fig, Prickly nightshade, Shoo-shoo bush, Pea eggplant แถบแคริบเบียนเรียก Susumba ภาษาทมิฬและอินเดียใต้เรียก Sundakkai ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum torvum Swartz. วงศ์ : SOLANACEAE
ลักษณะทั่วไปของมะเขือพวง เป็นไม้พุ่มเตี้ย สูง 1- 2 เมตร ใบแน่น ทรงพุ่ม ไม่มีรูปแบบที่แน่นนอน ลำต้นตั้งตรงและแข็งแรง ลำต้นมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ลำต้นและใบมีหนามเล็กๆ ห่างขึ้นทั่วไป
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
มะเขือพวงเป็นพืชที่ช่วยเสริมสุขภาพ โดยมีสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทยคือ ช่วยเจริญอาหาร ย่อยอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้ฟกช้ำ ไอเป็นเลือด ฝีบวมมีหนอง
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงคุณสมบัติที่เด่นชัดของมะเขือพวงในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้ เพื่อตอบสนองต่อสารพิษที่เข้ามายังระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันความเสื่อมและแก่ก่อนวัย มีฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน อีกทั้งยังมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด
- สารโซลาโซดีน (Solasodine) ในมะเขือพวงช่วยต่อต้านโรคมะเร็งได้
- สารสกัดจากมะเขือพวงมีผลยับยั้ง Platelet activating factor (PAF) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหอบหืด
- มะเขือพวงมีสารทอร์โวไซด์ เอ, เอช (Torvoside A, H) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (Herpes simplex virus type 1) โดยมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งไวรัสได้มากกว่าอะไซโคลเวียร์ถึง 3 เท่า
- มะเขือพวงมีสารทอร์โวนินบี (Torvonin B) ซึ่งเป็นซาโพนินชนิดหนึ่ง โดยเชื่อว่ามีฤทธิ์ในการขับเสมหะ
- มะเขือพวงมีสารเพกติน (Pectin) ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยสารนี้จะมีหน้าที่ช่วยเคลือบผิวในลำไส้ ทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ช้า จึงช่วยดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ระดับของน้ำตาลในเลือดคงที่ มีคุณสมบัติช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินและอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
- สารต่อต้านอนุมูลอิสระในมะเขือพวง ช่วยป้องกันความเสื่อมและช่วยชะลอความแก่
สรรพคุณ
.
- ต้น ใบ และ ผล เป็นยาเย็นรสจืด ทำให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้ปวด ฟกช้ำ ตรากตรำทำงานหนัก กล้ามเนื้อบริเวณเอวฟกช้ำ ไอเป็นเลือด ปวดกระเพาะ ฝีบวมมีหนอง อาการบวมอักเสบ ขับเสมหะ
.
- ต้น อินเดียใช้น้ำสกัดจากต้นมะเขือพวงแก้พิษแมลงกัดต่อย
.
-ใบสด น้ำคั้นใบสดใช้ลดไข้ ในแคเมอรูนใช้ใบห้ามเลือด ใช้เป็นยาระงับประสาท พอกให้ฝีหนองแตกเร็วขึ้น แก้ปวด ทำให้ฝียุบ แก้ชัก ไอหืด ปวดข้อ โรคผิวหนัง ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ และแก้ซิฟิลิส
.
- ผล ของมะเขือพวงมีรสขื่น เฝื่อน อมเปรี้ยวเล็กน้อย หลายประเทศนำผลมาต้มน้ำกรองน้ำดื่ม มีสรรพคุณในการขับเสมหะ ช่วยระบบย่อยอาหาร รักษาอาการเบาหวาน / ประเทศจีนใช้ต้มน้ำดื่มแก้ไอและบำรุงเลือด ทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ผลแห้งย่างกินแกล้มอาหารบำรุงสายตาและรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย / อินเดียกินผลเพื่อบำรุงตับ ช่วยบรรเทาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ ช่วยย่อย และช่วยให้ผ่อนคลายง่วงนอน บำรุงตับ / อินเดียทางตอนใต้ใช้ผลอ่อนบำรุงกำลังให้ร่างกาย ผลแห้งหุงน้ำมันเล็กน้อย บดเป็นผงกินครั้งละ 1 ช้อนชา ลดอาการไอและเสมหะ / และแคเมอรูนใช้ผลมะเขือพวงรักษาโรคความดันโลหิตสูง
.
- เมล็ด มาเลเซียนำเมล็ดไปเผาให้เกิดควัน สูดเอาควันรมแก้ปวดฟัน
.
- ราก มาเลเซียใช้รากสดตำพอกรอยแตกที่เท้า หรือโรคตาปลา / อินเดียนำน้ำมะขามแช่รากมะเขือพวงต้มดื่มลดพิษในร่างกาย
.
โดยทั่วไปที่ประเทศอินเดียใช้มะเขือพวงกำจัดพยาธิในระบบทางเดินอาหาร และรักษาแผลกระเพาะอาหาร แต่หมอเท้าเปล่าของอินเดียใช้มะเขือพวงอยู่เสมอเป็นอาหารเสริมเพื่อควบคุมความดันโลหิต
ข้อควรระวัง
.
มะเขือพวงมีสาร “โซลานีน (Solanine)” ซึ่งเป็น “อัลคาลอยด์” ผู้ที่เป็น “โรคไขข้อ” ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะสารนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกายได้
.
สำหรับประเทศไทยเรานั้นรู้จักมะเขือพวงกันมานานแล้ว โดยนิยมนำผลมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะนำมาทำเป็นแกงหรือน้ำพริก เช่น แกงเขียวหวาน แกงเนื้อ แกงป่า น้ำพริกกะปิ น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกุ้งสด ปลาร้าทรงเครื่อง ผัดเผ็ด เป็นต้น
.
เนื่องเพราะมะเขือพวงเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพืช การเพาะปลูกมักไม่ต้องใส่สารพิษฆ่าแมลง จึงค่อนข้างเป็นที่แน่ใจว่า มะเขือพวงเป็นผักปลอดจากสารพิษ ซึ่งการได้ “กินอาหารเป็นยา” นั้นดีกว่า “กินยาเป็นอาหาร” นะขอรับ
บรรณานุกรม
- clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/herb/solanum.html
- https://medthai.com/มะเขือพวง/