พะยูนน้อย “ยามีล” เป็นพะยูนอีก 1 ตัว ที่ถูกคลื่นซัดเกยตื้น ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.ภูเก็ต รับมาดูแลที่บ่ออนุบาล ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา รวมเวลา 53 วัน
โดยชาวบ้านพบลูกพะยูนเกยตื้น บริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ พบเป็นลูกพะยูนตัวผู้ อายุประมาณ 1 เดือน ตอนนั้นยามีล มีความยาว 111 ซม. รอบตัว 66 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก. สภาพอ่อนแรงและอิดโรยมาก มีบาดแผลบริเวณแผ่นหลัง 5-6 แผล หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่นำลูกพะยูนมารักษาที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.ภูเก็ต การตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เป็นลูกพะยูนตัวผู้ อายุเพียง 3 เดือน จากนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุดที่ จ.กระบี่ ว่า "ยามีล" ซึ่งมีความหมายในภาษายาวีว่า "ชายรูปงามแห่งท้องทะเล" และทรงรับลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวไว้ในโครงการ
วันที่ 8 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ แวะเยี่ยมและให้นมยามีล ลูกพะยูนที่เข้ามาเกยตื้น ซึ่งอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับกองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์วิจัย ทช.รายงานความเคลื่อนไหวของ ยามีล ว่า มีน้ำหนัก 27 กิโลกรัม ความยาว 112 เซนติเมตร ความยาวรอบตัว 71 เซนติเมตร กินนมได้ กินหญ้าทะเลได้ ขับถ่ายปกติ ร่าเริงสดใส แข็งแรง กินอิ่ม นอนหลับดี และสามารถติดตามความน่ารักชีวิตยามีล ผ่านระบบกล้อง CCTV ที่กล้องหมายเลข 8 ที่ http://mariumthaidugong.dmcr.go.th/
หลังจากนั้น ในวันที่ 19 ส.ค.ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัย ทช. ตรวจพบยามีลมีอาการเกร็งท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวยังเป็นต่อเนื่อง สัตวแพทย์ให้ยาลดอาการอักเสบ ร่วมกับยากระตุ้นทางเดินอาหาร พร้อมสอดท่อระบายแก๊ส ทำให้ยามีลมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่ยามีลก็ยังมีอาการเกร็งท้อง ต่อมา ได้เอกซเรย์พบลำไส้เล็กมีการสะสมของแก๊สจำนวนมาก กระเพาะอาหารมีอาหารอยู่ แต่ไม่มีการเคลื่อนตัว และไม่พบวัตถุแปลกปลอม
ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และทีมสัตวแพทย์ของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 12 คน วินิจฉัยอาการโรคของน้องยามีล และแนวทางการรักษา
22 ส.ค.62 ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน รายงานอาการของน้องยามีล ยังคงมีการสะสมของแก๊สในกระเพาะอาหารและบริเวณลำไส้ มีอัตราการเต้นหัวใจสูง และชักเกร็งเป็นบางครั้ง จึงให้ยาช่วยลดอาการปวดและยาซึม ส่วนผลการเอกซเรย์ พบว่า อาหารส่วนที่เป็นของเหลวสามารถเคลื่อนที่ผ่านระบบทางเดินอาหารได้ แนวทางการรักษาจะพยายามนำอาหารซึ่งเป็นหญ้าทะเลที่ค้างในกระเพาะออกมา เพื่อลดการหมักหมม และให้สารน้ำและเกลือแร่ผ่านทางท่อให้อาหาร ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ สถานะยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นำตัวน้องยามีล ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลวิชระภูเก็ต เพื่อผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope นำก้อนหญ้าทะเลที่อัดแน่นในบริเวณกระเพาะอาหารออก โดยการอัดแน่นของหญ้าทะเล เกิดจากสภาวะลำไส้หยุดทำงาน เป็นอาการที่ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนตัว ทำให้อาหารในระบบทางเดินอาหารไม่เคลื่อนที่ เป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมและเกิดการสร้างแก๊สขึ้นในระบบทางเดินอาหาร โดยแก๊สที่เกิดขึ้นทำให้ผนังลำไส้บางลง เกิดการแตกของเส้นเลือดฝอยและเกิดภาวะการติดเชื้อตามมา นอกจากนี้ แก๊สที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปดันบริเวณปอดทำให้เกิดการหายใจติดขัดด้วย
จนเวลา 20.30 น.ของวันที่ 22 ส.ค. ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นำตัวน้องยามีลไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope นำก้อนหญ้าทะเลที่อัดแน่นในบริเวณกระเพาะอาหารออก ผลการทำทีซีสแกน พบการอักเสบของปอด มีกลุ่มก้อนหญ้าทะเลในบริเวณกระเพาะ จึงสอดท่อกล้องตรวจภายในและฉีดน้ำสลายการเกาะแน่นของหญ้าทะเล จากนั้นจึงเริ่มดูดออกได้ร้อยละ 30 ทั้งนี้ จะทยอยล้างออกเพิ่มในวันต่อไป จากนั้นจึงขนย้ายน้องยามีลกลับมาพักฟื้นยังบ่ออนุบาลของศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน น้องยามีล มีอัตราการเต้นหัวใจที่ต่ำ ยังต้องเฝ้าระวังสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด
ต่อมา เวลา 21.43 น. หลังจากนำน้องยามีล เข้ารับการรักษาด้วยการสลายก้อนหญ้าที่อุดตันในกระเพาะอาหารและลำไส้จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กลับมาถึงบ่ออนุบาลที่ศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน น้องยามีลมีภาวะช็อก หัวใจหยุดเต้น ทีมแพทย์เร่งช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR แต่ไม่สามารถช่วยน้องกลับมาได้ ทิ้งไว้แค่ความน่ารักที่จะอยู่ในความทรงจำของทุกๆ คน