xs
xsm
sm
md
lg

หารือเตรียมนำ “แม่ส้ม” เก็บรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึง “มาเรียม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - หารือนำ “แม่ส้ม” มาเก็บรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึง “มาเรียม” ขณะที่ ส.ส.พรรค ปชป.ในพื้นที่ เตรียมผลักดันแผนแม่บทพะยูนเข้าสู่สภาฯ ในสัปดาห์นี้ พร้อมเสนอตั้งศูนย์สุขภาพสัตว์น้ำทางทะเล

วันนี้ (19 ส.ค.) นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยอนุบาลมาเรียม พะยูนน้อยวัย 9 เดือน นับตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันสุดท้าย เห็นด้วยหากจะมีการนำแม่ส้ม หรือเรือคายัคสีส้ม มาเก็บรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งการระลึกถึงพะยูนน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ได้นำเรือลำนี้มาใช้แทนแม่พะยูน เพื่อให้มาเรียม เกิดความรู้สึกอบอุ่น และมีกำลังใจการพยายามใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติมาตลอด 111 วัน

โดยทางเขตห้ามล่าฯ จะมีการหารือไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งแม่ส้ม หรือเรือคายัคสีส้มลำนี้ จัดซื้อโดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่นบนเกาะลิบง เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และถูกนำมาใช้แทนแม่พะยูน จนกลายเป็นข่าวที่โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลกในเวลาต่อมา
 

 
ขณะที่ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดูแลพื้นที่เกาะลิบง รวมทั้งพื้นที่ทางทะเลตรัง เตรียมผลักดันเรื่องพะยูนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ เพื่อนำเสนอแนวทางอนุรักษ์ และการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ในการดูแลพะยูน รวมทั้งหญ้าทะเล เนื่องจาก จ.ตรัง เป็นพื้นที่ที่มีทั้งพะยูนและหญ้าทะเลมากที่สุดของประเทศ

ซึ่งล่าสุด จากการพูดคุยกับ ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้เสนอแนะว่า ให้ผลักดันพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ จ.ตรัง เพื่อจัดตั้งศูนย์สุขภาพสัตว์น้ำทางทะเล เนื่องจาก จ.ตรัง ถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน และจากการพูดคุยกับ นายประจวบ โมฆรัตน์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สบทช.) ที่ 10 จ.ตรัง ก็ได้เสนอแผนแม่บทพะยูนของ จ.ตรัง ซึ่งเน้นในการอนุรักษ์พะยูนคู่กับหญ้าทะเลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนั้น จากการที่ตนเองเคยลงพื้นที่ไปกินนอนเฝ้าดูมาเรียม และได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน กลุ่มพิทักษ์ดุหยง และชาวบ้านบนเกาะลิบง ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พะยูน โดยเฉพาะจากสถิติการตายของพะยูน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากเครื่องมือประมง และประชากรพะยูนที่ยังเหลือเพียงแค่ 200 ตัว ก็ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่ก็น่าดีใจที่ชาวประมงบนเกาะลิบง หรือบริเวณโดยรอบ ต่างเข้าใจในปัญหานี้ดี และให้ความรักพะยูนเสมือนกับลูก 

ซึ่งเห็นได้ชัดจากการอนุบาลมาเรียม พะยูนน้อย ในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้พี่น้องชาวเกาะลิบงเป็นกำลังสำคัญในการดูแล เพียงแต่จากนี้ไปคงต้องเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องของการบังคับใช้เครื่องมือประมงมากขึ้น รวมไปถึงปัญหาขยะพลาสติก ที่จะต้องทำกันอย่างจริงจัง และจะต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย มิเช่นนั้นการแก้ปัญหาพะยูน หญ้าทะเล หรือขยะพลาสติก ก็จะไม่ได้ผล
 


กำลังโหลดความคิดเห็น