xs
xsm
sm
md
lg

แผนปั้น “จะนะ เมืองอุตฯก้าวหน้าแห่งอนาคต” ใต้ปีก “ศอ.บต.” ใช้เงื่อนพิเศษส่งพุ่งทยาน?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 


 
7 พ.ค.2562 ครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.นั่งหัวโต๊ะมีมติอนุมัติ โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพิ่มเติมเป็น เมืองต้นแบบที่ 4 สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้นำพื้นที่ของ อ.จะนะ จ.สงขลา พัฒนาเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ โดย คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการมาแล้วตั้งแต่ 21 ก.พ.2562
 
สำหรับโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เกิดขึ้นจากแนวคิดเพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ครม.มีมติเมื่อ 4 ต.ค.2559 อนุมัติไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ และ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
 
นอกจากนี้ ศอ.บต.ยังได้อาศัยความใน “มาตรา 10” ของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือที่มักเรียกขานกันว่า พ.ร.บ.ศอ.บต. ประกาศให้ อ.จะนะเป็น “เขตพัฒนาเฉพาะกิจ” และเสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา” มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะกรรมการตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบไม่เกิน 8 คน โดยให้ ศอ.บต.ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นกรรมการและเลขานุการ
 
ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ศอ.บต.ระบุไว้ว่า ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) อาจกำหนดให้เขตพื้นที่ใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งสิ้น 5 จังหวัดนั้นเป็น เขตพัฒนาเฉพาะกิจ และกำหนดกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาในเขตพื้นที่นั้นได้ ซึ่งเมื่อ กพต.ให้ความเห็นชอบกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาตามนั้น ให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางในการจัดทำคำเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี และให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยไม่ช้า
 
 

ในสาระสำคัญของโครงการนี้มีการระบุไว้ว่า เพื่อยกระดับการพัฒนา อ.จะนะในเชิงพื้นที่ทั้งระบบและครบวงจร เพื่อให้มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของ ภาคใต้ตอนล่าง ที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย และ ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียสิงคโปร์ รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการลงทุนของ “ภาคเอกชน” เป็นสำคัญ
 
ทั้งนี้ในการประชุม ครม.นัดดังกล่าว กระทรวงการคลังได้ขอให้ ศอ.บต.จัดทำรายละเอียดเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ด้านมาตรการทางภาษีสำหรับพื้นที่ อ.จะนะมายังกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเพิ่มเติมให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าเมืองต้นแบบทั้ง 3 แห่งที่มีก่อนหน้านี้
 
ด้านกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นว่า โครงการนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบและครบวงจรของภาคใต้ตอนล่าง ที่จะเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน
 
ส่วนกระทรวงมหาดไทยตั้งข้อสังเกตว่า ศอ.บต. ควรพิจารณาดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ เนื่องจาก อ.จะนะเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภาคประชาสังคมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีความจำเป็นต่อการประกอบอุตสาหกรรม จึงควรจัดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ
 
ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอความเห็นว่า (1) ควรให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาพื้นที่ไว้ล่วงหน้า และต้องวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเป็นเมืองต้นแบบในอนาคตด้วย (2) ควรให้ความสำคัญประเด็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือองค์กรชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งเชิงบวกและลบ ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่ต้นในทุกมิติ เพื่อให้ผลการพัฒนาเกิดเป็นรูปธรรมตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
 
และ (3) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค ที่สนับสนุนพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา มีอำนาจหน้าที่พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าวขอให้พิจารณาถึงโครงการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พ.ย.2561
 
 
ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งแรก (ภาพจากเว็บท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2)
อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีการเสนอ โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในพื้นที่ อ.จะนะ เคยมีความพยายามที่จะสร้าง ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 มาก่อนนานแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากการขยายตัวของท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งแรกที่มีการขยายตัวอย่างมาก ในปี 2540 กรมเจ้าท่าจึงว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจเพื่อขยายท่าเรือ ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า ควรขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ท่า เพื่อรองรับเรือสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มจากเดิมที่รองรับได้ 140,000 ตู้ต่อปี
 
กรมเจ้าท่าจึงได้นำเสนอรายงานดังกล่าวไปยังสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้พิจารณา ปรากฏว่าไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากพื้นที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งแรกมีแนวคูเมืองเก่า และมีโบราณสถานใต้น้ำอยู่ใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นเขตโบราณสถาน ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 6 เมตร อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการโยกย้ายประชาชนในพื้นที่เวนคืน
 
ดังนั้นในปี 2549 กรมเจ้าท่าจึงว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อหาพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ในพื้นที่ใหม่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง เพื่อใช้สำหรับรองรับการขยายตัว และยังเชื่อมต่อการขนส่งไปยังต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงกับท่าเรืออื่นๆ ในประเทศ ทั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่มีแผนจะสร้างใน อ.ละงู จ.สตูล
 
โดยเวลานั้นรัฐบาลวางแผนดันสร้าง “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด)” ซึ่งขยายต่อเนื่องมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) โดยจะให้ 2 ท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ในภาคใต้ตอนล่างเชื่อมกันเป็น “สะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล” ระหว่าง 2 ฟากมหาสมุทรคือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 อยู่ฝั่งทะเลอ่าวไทยฟากมหาสมุทรแปซิฟิก กับ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา อยู่ฝั่งทะเลอันดามันฟากมหาสมุทรอินเดีย แล้วมี ถนนมอเตอร์เวย์ และ เส้นทางรถไฟ เพื่อขนสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึง ระบบท่อน้ำมันและท่อก๊าซ เชื่อมกันด้วย
 
แล้วผลการศึกษาที่ออกมาในปี 2552 ก็ระบุว่า ชายฝั่งทะเลที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 
 
 

แต่จนถึงปัจจุบันนี้โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ก็ยังไม่มีการดำเนินการ ส่วนหนึ่งเป็นความหวั่นเกรงถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมา โดยเฉพาะความเป็น แหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ อันจะเป็นวัตถุดิบป้อนให้เกิด นิคมอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ตามมามากมายและกระจายทั่วภาคใต้ และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่แสดงออกถึงการคัดค้านอย่างหนัก เพราะกลัวจะว่าจะเป็น “มาบตาพุด 2” หรือเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” ที่ต่อเนื่องมาจาก ศูนย์กลางพลังงานไทย หรือ แบตเตอรี่ไทย ที่เป็นที่รปะจักษณ์มาแล้วจากแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด
 
รวมทั้งเวลานี้โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามีอันต้องพับแผนไปแล้ว อันเป็นผลจากที่ยูเนสโกประกาศให้ จ.สตูล ได้ขึ้นทะเบียนเป็น อุทยานธรณีโลก หรือ จีโอปาร์ก ตั้งแต่กลางปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลความองค์ประกอบของความเป็นแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล จึงเป็นไปได้ที่จะหวนกลับสู่ความเป็น แลนด์บริดจ์สงขลา-ปีนัง ซึ่งข้ามชาติไปเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกปีนังในประเทศมาเลเซีย อันที่จริงก็เป็นอยู่แล้วโดยธรรมชาติทางธุรกิจ
 
กระทั่งท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ได้กลับมาอีกครั้ง โดยมัดรวมเข้ากับ นิคมอุตสาหกรรม และ โรงไฟฟ้า ในชื่อใหม่คือ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีกลุ่มทุนกว้านซื้อที่ดินบริเวณนั้นไว้รองรับแล้วนับหมื่นไร่ โดยมีนักการเมืองคนดังแห่งเมืองสงขลาเป็นนายหน้าในการจัดหาที่ดิน 
 
 

2 เดือนกว่าหลังจาก ครม.อนุมัติโครงการนี้ ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนช่วงปลาย ก.ค.2562 ว่า โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตเป็นความร่วมมือของ “2 บริษัท” ที่ได้ซื้อที่ดินบริเวณนี้มาตั้งแต่ปี 2540 ประมาณ 10,800 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหารบริษัททีพีไอกว่า 7 พันไร่ ที่ดินของ ปตท. โดยบริษัทไออาร์พีซีกว่า 3 พันไร่ โดยทั้ง 2 รายนี้จะร่วมกันสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้า” ไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วรวมมูลค่าการลงทุน 6 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี หรือถึงปี 2565
 
ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ระบุด้วยว่า นายประชัยเสนอว่ามีบริษัทอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางของจีนสนใจจะเข้ามาลงทุนในโครงการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ระบบรางรถไฟและหัวรถจักรมูลค่า 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตป้อนเข้าสู่โครงการหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง ซึ่งจะเชื่อมเข้ามาในประเทศมาเลเซีย ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมฝั่งตะวันออกและสายเหนือ
 
ด้านไออาร์พีซีอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทจากประเทศเกาหลี เพื่อลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ตามที่ภาครัฐกำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “แบตเตอรี่โซน” และ “เอ็นเนอร์ยีคอมเพล็กซ์” เพื่อเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตร โดยเขาอ้างว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าครั้งนี้เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคใต้ ซึ่งในอนาคตต้องการการใช้ไฟอย่างน้อย 2,813 เมกะวัตต์
 
ดร.ชนธัญกล่าวถึงแผนการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่โครงการว่า มีทั้งสิ้น 4 โครงการคือ (1) โครงการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว ซึ่งเขาคงหมายถึงท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ วงเงินลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการขนส่งเชิงพาณิชย์ เป็นเกตเวย์ที่ 3 ของประเทศไทย โดยมีรูปแบบที่รวมเอาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือคลองเตยเข้าด้วยกัน
 
(2) การสร้างรางรถไฟเชื่อมท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า (3) พลังงานไฟฟ้าทางเลือก เช่น โรงไฟฟ้าพลังลม 800-1,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1,500-2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 300-500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 300-500 เมกะวัตต์ และ
 
(4) นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, การแพทย์ครบวงจร 2. อุตสาหกรรมเกษตร เช่น โรงงานอาหารแปรรูป, อาหารฮาลาล และ 3. อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิด, ผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้, ผลิตแท่นเจาะน้ำมัน, ผลิตรถไฟฟ้า (EV car) เป็นต้น
 
หาดบ้านสวนกง สถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2
อย่างไรก็ตามผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.คาดว่า โครงการทั้งหมดใน “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100,000 อัตรา ซึ่งหากเมืองต้นแบบแห่งนี้ประสบความสำเร็จ ศอ.บต.ก็จะขยายไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 14 แห่ง เช่นที่ อ.สะเดา อ.เทพา จ.สงขลา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ อ.เบตง จ.ยะลา
 
จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตากันใกล้ชิดว่า พื้นที่ของ อ.จะนะราว 20 ปีมานี้ถูกปักหมุดหมายให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ถูกปั้นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาตามแผน “เซาเทิร์นซีบอร์ด” อันตามมาด้วยเมกะโปรเจกต์มากมาย โดยเฉพาะความเป็นส่วนประกอบสำคัญของ “แลนด์บริดจ์” เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน
 
ส่วนที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ อ.จะนะก็มี “โรงแยกก๊าซทรานส์ไทย-มาเลเซีย” ส่วนหนึ่งของ “โครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย” ตามด้วย “โรงไฟฟ้าจะนะ 2 โรง” ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ส่วนที่กำลังเร่งหผลักดัน อาทิ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ตามด้วยพื้นที่ต่อเนื่องใน อ.เทพา จ.สงขลา และที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ได้แก่ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” และ “ท่าเรือขนถ่ายถ่านหินปะนาเระ” กับ “โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ” และ “ท่าเรือขนถ่ายถ่านหินปะนาเระ” ที่ต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” และ “นิคมอุตสาหกรรม” ต่างๆ เป็นต้น
 
สำหรับ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่กำลังเร่งเดินหน้าอยู่ตอนนี้นั้น บรรดาเมกะโปรเจต์ที่มีอยู่แล้วก็ยังไม่ได้หายไปไหน บางส่วนอาจมีการปรับเปลี่ยนบ้าง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก แต่ได้เพิ่มเติมภาพความเป็น “เมืองอุตสาหกรรมขนาดมหึมา” ขึ้นมาอย่างชัดเจน ทั้งอู่ต่อและซ่อมเรือ หัวรถจักร แคร่ขนตู้ แท่นเจาะน้ำมัน รถไฟฟ้า อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามที่ ศอ.บต.นำเสนอไว้
 
ไม่เพียงเท่านั้นยังเชื่อกันว่าแผนดัน “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เมื่อถูกโยกย้ายจากหน่วยงานปกติมาสู่ใต้ปีกโอบของ “ศอ.บต.” องค์กรพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นมาด้วยกฎหมายพิเศษ แถมยังเกิดก่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ที่ก็มีความพิเศษไม่แตกต่างกันเสียด้วยซ้ำ
 
ดังนั้นหลายฝ่ายจึงฟังธงกันไปแล้วว่า แผนปั้น “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ไม่น่าจะมีโอกาสแท้ง แถมยังมีแต่จะเดินหน้าได้ก้าวกระโดดมากกว่าแผนพัฒนาที่ผ่านๆ มาเสียด้วยซ้ำ
 



กำลังโหลดความคิดเห็น