xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” เผย 7 ข้อคิดมาเรียมฝากไว้ หากไม่อยากให้การจากไปต้องสูญเปล่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” โพสต์ 7 ข้อที่ “มาเรียม” ฝากไว้ให้แก่ผู้คน โดยเฉพาะหากอยากให้การจากไปของมาเรียมไม่สูญเปล่า เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่า “ตระหนัก”

จากเฟซบุ๊กของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในชื่อ “Thon Thamrongnawasawat” ได้โพสต์ฝากข้อคิดไว้ให้แก่คนไทย ถึงการจากไปของ “มาเรียม” 7 ข้อควรคิด ซึ่งหากอยากให้การจากไปของมาเรียมไม่สูญเปล่า เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่า “ตระหนัก” โดยในโพสต์ระบุว่า...

มาเรียมจากไปแล้ว ผลการชันสูตรพบเศษถุงพลาสติกในท้อง การจากไปของเธอบอกอะไรเราได้บ้าง #เจ็ดข้อที่มาเรียมฝากไว้

หนึ่ง - นับจากต้นปี มาเรียมเป็นสัตว์สงวนรายที่สองที่ตาย และพบพลาสติกในท้อง หลังจากเมื่อเดือนก่อน พบเต่ามะเฟืองตายที่ระยอง โดยมีถุงใบใหญ่อยู่ในท้องเช่นกัน

สอง - นับจากต้นปี มีสัตว์หายากที่ตาย/บาดเจ็บโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับขยะทะเล ทั้งภายนอกและภายใน จำนวนนับร้อยตัว (มีรายงานเต่าทะเลติดขยะ/กินขยะแทบทุกวัน)

สาม - เมื่อพลาสติกเข้าไปในตัวสัตว์ทะเล โอกาสที่จะช่วยเป็นไปได้ยากยิ่ง แม้มาเรียมจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างดี แต่สุดท้ายก็จากไป

การหวังให้สัตว์ที่กินขยะทะเลเข้าไปแล้วเราช่วยเหลือได้ เป็นเรื่องดังฝัน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ทำอย่างไรให้ไม่มีขยะทะเล เพื่อสัตว์ทะเลจะได้ไม่กิน/ติด

สี่ - มาเรียมทำให้เกิดแผนพะยูนแห่งชาติ จะเข้าคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในวันจันทร์

ในแผนมีหลายเรื่องสำคัญ ทั้งด้านการอนุรักษ์พะยูน จัดการพื้นที่ร่วมกัน มาตรการต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากทะเล ฯลฯ ซึ่งทุกคนล้วนหวังว่า เมื่อทำออกมาแล้วจะช่วยเพื่อนๆ ของมาเรียมได้

ทว่า...มีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีแผนใดสามารถทำได้ หากปราศจากความร่วมมือของทุกคนในชาติ คือ ปัญหาจากขยะทะเล

แม้แผนพะยูนแห่งชาติจะประสบความสำเร็จ แต่ตราบใดที่ในทะเลยังมีขยะ พะยูนทุกชีวิตก็ยังคงเสี่ยงต่อไป
 

 
ห้า - ข้อมูลการเก็บขยะทะเลอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 2 ปีของอุทยานอ่าวพังงา ต้นทางของขยะทะเลในกระบี่และตรัง ที่อาศัยของน้องมาเรียมและฝูงพะยูน แสดงให้เห็นว่า ขยะทะเลไม่ได้ลดลงเลย อันที่จริงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

ใน 10 เดือนแรกของปี 61 เจ้าหน้าที่อุทยานเก็บขยะทะเลได้ 82.3 ตัน
ใน 10 เดือนแรกของปี 62 เก็บได้ 95.28 ตัน (ปีงบประมาณ)

เจ้าหน้าที่กลุ่มเดิม พื้นที่เก็บขยะที่เดิม เก็บทุกวัน ข้อมูลนี้จึงเชื่อได้ว่า ปัญหาเรื่องขยะทะเลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (รายละเอียดอยู่ในโพสต์ก่อนของผมครับ)

หก - การจากไปของน้องมาเรียม คงช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล/ขยะพลาสติกได้อีกครั้ง แต่เท่านั้นจะพอหรือ?

ความตายของสัตว์ทะเลต่างๆ ในอดีต รวมทั้งวาฬนำร่องที่สงขลา เต่ามะเฟืองที่ระยอง ทำให้เราตระหนักครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ข้อมูลขยะทะเลที่เพิ่มขึ้นในอ่าวพังงา แสดงให้เห็นชัดว่า แค่ตระหนักยังไม่พอ แค่เลิกใช้ 2-3 วันจากนั้นก็กลับมาใช้ต่อ

มันเป็นเพียงกระแสชั่ววูบ
มาเรียมเป็นเสมือนเด็กน้อยในสงครามระหว่างมนุษย์กับขยะทะเล
สงครามกับความรับผิดชอบของพวกเราเอง
สงครามที่พวกเรากำลังจะพ่ายแพ้...
 

 
เจ็ด - หากอยากให้การจากไปของมาเรียมไม่สูญเปล่า เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่าตระหนัก

เราต้องไปให้ถึงมาตรการลดพลาสติกจากต้นทาง ตามโรดแมปแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ที่กำหนดไว้ในปี 65 (ถุงก๊อบแก๊บ หลอด แก้วใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ)

เคราะห์ดีที่ท่านผู้บริหารระดับสูงสุดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้งท่านรัฐมนตรี ท่านปลัดคนใหม่ (อธิบดีกรมทะเล) ฯลฯ ล้วนเคยลงไปเยี่ยมน้องมาเรียม

การจากไปของมาเรียม อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการเร่งรัดโรดแมปที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความจริงก่อนปี 65 เพราะยิ่งรอ สัตว์ทะเลก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งทรมาน ยิ่งตาย

ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ผมจะเสนอประเด็นเร่งรัดมาตรการแบนพลาสติกเข้าที่ประชุมแน่นอน

ที่เหลือก็คงต้องฝากไว้กับความรักระหว่างคนกับน้องมาเรียม
มันเหมือนเป็นบทพิสูจน์ความรักความจริงใจของคนไทยกับท้องทะเล...

สุดท้าย หากมาเรียมพูดได้ เธอคงอยากบอกคนไทยว่า
เธอไม่โกรธคนไทยหรอก เพราะคนที่ใช้ถุงใบนั้น คงไม่รู้หรอกว่า นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เธอป่วย
แต่เธอไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก กับเพื่อนๆ ของเธอ พะยูน เต่า โลมา วาฬ ฯลฯ

ในช่วงชีวิตของมาเรียม เธอคงฝันถึงทะเลที่สวยสะอาด
ทะเลที่เธอสามารถโลดแล่นไปได้ตามใจปรารถนา สามารถกินหญ้าทะเลได้อย่างไร้กังวล
ทะเลที่ปราศจากขยะแปลกปลอมของมนุษย์

วันนี้ เธอคงอยู่ในทะเลแห่งนั้นแล้ว...
 



กำลังโหลดความคิดเห็น