xs
xsm
sm
md
lg

“เฉลิมลักษ์ เก็บทรัพย์” พาป่าตองก้าวพ้นภาวะจำทน ขอคืนพื้นที่ชายหาดให้นักท่องเที่ยวสำเร็จ ชาวบ้านได้ทำมาหากินต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “เฉลิมลักษ์ เก็บทรัพย์” กับการขอคืนพื้นที่สาธารณะ 1 ใน 5 ภาวะจำทนของเมืองป่าตอง ที่ก้าวพ้นแล้วในวันนี้ จากการจัดระเบียบชายหาดในบริบทของเมืองท่องเที่ยว ที่สามารถคืนพื้นที่ชายหาดให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนควบคู่ไปกับผู้ประกอบการสามารถประกอบอาชีพร่วมกันได้ พร้อมเดินหน้าต่อสร้างความพึงพอใจให้ทุกภาคส่วน

การจัดระเบียบชายหาดป่าตอง แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวระดับโลก จากความสวยงามที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ให้อยู่คู่กับภูเก็ตตลอดไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความสวยงาม เป็นระเบียบ สะอาด ปลอดภัย และน่าท่องเที่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลชายหาด “ผู้จัดการออนไลน์ภาคใต้” พามาพูดคุยกับนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง “เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์” ว่าตลอดระยะเวลาที่เริ่มมีการจัดระเบียบชายหาดจนถึงขณะนี้ ชายหาดป่าตองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

"ผู้จัดการออนไลน์ภาคใต้" เริ่มคำถามแรก “เทศบาลเมืองป่าตองเริ่มเข้ามาจัดระเบียบชายหาดป่าตองตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะอะไร น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง เล่าให้ฟังว่า การจัดระเบียบชายหาดป่าตองเพื่อคืนพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้น เป็น 1 ใน 5 นโยบาย หรือ “5 จำทน” ของคนป่าตอง ที่ใช้ในการหาเสียงลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดย 5 จำทน ที่คนป่าตองต้องทนกับปัญหาที่ยังไม่ได้รับกาแก้ไข คือ 1.ปัญหาผลประโยชน์บนที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนรวมของประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่ถูกเบียดบัง ยึดครอง ด้วยการแสวงหาประโยชน์ของคนบางกลุ่ม 2.ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม การดูแลที่ล้มเหลว ทำให้ป่าตองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม 3.ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดฝนตกหนัก และน้ำทะเลหนุน 4.ปัญหาการจราจรติดขัดที่เข้าขั้นวิกฤต รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และ 5.ปัญหามาเฟีย ผู้มีอิทธิพล ที่กำหนดโดยใครบางคน

โดยสิ่งแรกที่เริ่มทำหลังจากได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง คือ นโยบายคืนพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ช่วงนั้น คสช.เข้ามายึดอำนาจการปกครอง และทาง คสช.ก็มีนโยบายที่จะคืนพื้นที่สาธารณะด้วยเช่นกัน ทำให้นโยบายของท้องถิ่นสอดรับต่อนโยบายของรัฐบาล มีการขับเคลื่อนการคืนพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ชายหาดทั่วทุกหาดในจังหวัดภูเก็ต ทำให้ภูเก็ตเรากลับมาเป็นเมืองแห่งไข่มุกอันดามันเหมือนเดิม

นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือประมาณปี 2558 ว่า หาดป่าตองตอนนั้น ที่ยังไม่ได้มีการจัดระเบียบ มีคนเข้ามาประกอบอาชีพหลายกลุ่มมาก ทั้งบนหาดทราย ในทะเล และสวนสาธารณะที่อยู่ติดกับหาดทราย ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากจากการจัดระเบียบ เพราะการจัดระเบียบนั้นจะต้องให้หยุดกิจกรรมประกอบอาชีพบนชายหาดทั้งหมด เพื่อให้หาดกลายเป็นหาดสาธารณะตามนโยบายของ คสช.ซึ่งต้องการที่จะให้คืนชายหาดกลับ 100% แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า การจัดระเบียบแบบนั้นกระทบต่อประชาชนที่ประกอบอาชีพกันอยู่ก่อน จึงได้มีการพูดคุยกันทั้งในระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ว่าจะมีการจัดระเบียบกันอย่างจริงจัง แต่การจัดระเบียบนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากนัก จึงได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ให้กลุ่มอาชีพต่างๆ ได้ทำมาหากินบนชายหาดในพื้นที่ 10% ของหาดทั้งหมด เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพอยู่เก่าได้กลับไปทำอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัวต่อไป

สำหรับป่าตองนั้น ก่อนที่จะมีการจัดระเบียบ มีการประกอบอาชีพอยู่ 7 กลุ่มอาชีพ เช่น หิ้วกระติก นวดชายหาด เก้าอี้ ร่มเตียงให้เช่า เรือลากร่ม เรือเจ็ตสกี ประมง เรือหางยาวเพื่อการท่องเที่ยว ประมาณ 500 กว่าราย หลังจัดระเบียบก็จัดให้กลับมาประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม ภายใต้กฎระเบียบที่กำหนด โดยให้อยู่ในพื้นที่ 10% ของหาด แบ่งพื้นที่อีก 90% ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงและได้ใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวได้

“ถึงวันนี้พอใจกับการจัดระเบียบชายหาดหรือไม่ “เฉลิมลักษณ์” บอกว่าพอใจในระดับหนึ่ง การจัดระเบียบหาดป่าตอง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ทุกคนที่ประกอบอาชีพบริเวณชายหาด ในทะเล สวนสาธารณะ ก็ยังอยู่ในระเบียบที่ได้ตกลงกันไว้ อาจมีบ้างในช่วงไฮซีซัน ที่มีการล้ำเกินออกจากโซนที่กำหนดให้ 10% เนื่องจากเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก เมื่อนักท่องเที่ยวมาก ความต้องการบริการร่มเตียงของนักท่องเที่ยวก็มากตามจำนวน แต่พื้นที่ที่ให้บริการมีเท่าเดิม ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็อยากตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ จึงได้ขอเพิ่มพื้นที่ในการประกอบการ ซึ่งปัญหานี้ทางเทศบาลรับทราบมาโดยตลอดและเห็นว่าเป็นเรื่องจริง ที่ร่มเตียงไม่เพียงพอให้บริการในช่วงไฮซีซัน

โดยเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2561) ทางเทศบาลฯ ได้พูดคุยกับทางกองทัพภาคที่ 4 เพื่อขอผ่อนผันให้สามารถขยายพื้นที่การวางร่มเตียงได้ฝั่งละ 30 เมตร ในช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย. ก็จะทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 60 เมตรต่อจุดในช่วงไฮซีซัน แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกรีนซีซันก็ต้องคืนพื้นที่ 60 เมตรให้เป็นพื้นที่สาธาณะต่อไป ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหาดป่าตองนั้นมีจุดบริการนักท่องเที่ยวอยู่ทั้งหมด 5 จุด ตลอดแนวชายหาด 3 กิโลเมตร ทำให้อยู่ได้ทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ทุกฝ่ายก็มีความสุขกันทุกคน ผู้ประกอบการก็มีพื้นที่สำหรับประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว นักท่องเที่ยวได้มีพื้นที่สาธารณะคืนมา มีร่มเตียงให้นอนอาบแดด มีกิจกรรมทางทะเลให้เขาได้สนุกสนานเพลิดเพลินในยามที่เขาต้องการ

“ถ้าถามว่าตอนนี้พอใจกับการจัดระเบียบของชายหาดป่าตองหรือไม่นั้น ใจจริงแล้ว อยากให้เป็นระเบียบมากกว่านี้ และชายหาดมีความสวยงามกว่านี้ แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการจะเคารพกติกาที่กำหนด แต่ก็อยากให้ผู้ประกอบการช่วยกันดูแลเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย” น.ส.เฉลิมลักษณ์ กล่าวและว่า

เพราะเรื่องความสะอาดของชายหาดและเมืองป่าตองถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หาดสะอาดคนก็อยากมาเที่ยว คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในช่วยการดูแลความสะดวกและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใช้โฟมในส่วนของผู้ประกอบการหิ้วกระติกขายของตามชายหาด ต้องช่วยกันทำความสะอาดในพื้นที่ที่วางร่มเตียง และต้องช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่าห้ามสูบในพื้นที่ชายหาด หากนักท่องเที่ยวอยากจะสูบบุหรี่ก็ต้องขึ้นไปยังจุดสูบบุหรี่ที่เราจัดไว้ให้เท่านั้น รวมทั้งจะต้องคอยช่วยดูแลความปลอดภัยให้ทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวด้วย

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของคุณภาพน้ำทะเล ที่จะต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากป่าตองมีคลองปากบางที่เชื่อมต่อกับทะเล ดังนั้น น้ำทั้งหมดในเมืองป่าตอง รวมทั้งน้ำที่ผ่านการบำบัดของเทศบาลป่าตองแล้วจะไหลลงสู่คลองปากบาง แล้วลงสู่ทะเล ทำให้บางช่วงที่น้ำจากคลองปากบางมีค่าสาร NPK ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพรแทสเซียม สูง เมื่อไหลลงทะเล บางวันที่อุณหภูมิของน้ำทะเลเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมได้ ที่ผ่านมา พยายามที่จะแก้ปัญหาแต่ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่จะมาช่วยกำจัดค่า NPK ได้ จะทำได้เฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ รณรงค์ให้ประชาชนใช้ผงซักฟอกให้น้อยลง หรือผงซักฟอกถ้าใช้ก็ใช้ประเภทที่มีฟอสฟอรัสเหล่านี้ให้น้อยลงเพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของเมือง

นอกจากการจัดระเบียบชายหาดแล้ว ในส่วนของในน้ำ จะมีในส่วนของเรือสปีดโบ๊ตที่ใช้ลากร่ม และเรือเจ็ตสกี รวมทั้งเรือหางยาวเพื่อท่องเที่ยว และเรือหางยาวเพื่อการประมง เท่าที่เห็นทุกคนก็ปฏิบัติอยู่ในกติกาที่กำหนด ซึ่งบางครั้งกลุ่มนี้ก็ลงไปช่วยเวลาที่เกิดปัญหากับนักท่องเที่ยว

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจัดระเบียบชายหาดป่าตอง น.ส.เฉลิมลักษณ์ บอกว่า ทำให้หาดป่าตองสวยงาม เป็นระเบียบ ปลอดภัย และน่าเที่ยวมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งเทศบาล ผู้ประกอบการ ภาคประชาชน หน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงมูลนิธิพัฒนาป่าตอง จากการจัดระเบียบชายหาดป่าตองอย่างจริงจัง และจริงใจ ทำให้ทางเทศบาลเมืองป่าตองได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชายหาดติดดาว ของการท่องเที่ยวและกีฬา รางวัลการประกวดชายหาดติดตาในภูเก็ต ซึ่งของป่าตองได้ทั้งหาดป่าตองและหาดไตรตรัง นอกจากนั้น ยังมีรางวัลอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ถึงวันนี้ การจัดระเบียบชายหาดป่าตอง ถือเป็นต้นแบบในการจัดระเบียบชายหาด บนพื้นฐานบริบทของเมืองท่องเที่ยว ที่ต้องการให้มีพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการในการประกอบอาชีพ ป่าตองได้ก้าวพ้น 1 ใน 5 ของภาวะจำทน ในการขอคืนพื้นที่ชายหาดให้แก่นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนอิงแอบธรรมชาติได้สำเร็จ 


กำลังโหลดความคิดเห็น