xs
xsm
sm
md
lg

53 องค์กรเครือข่ายฯ ออกแถลงการณ์ประณามการข่มขู่คุกคาม “เอกชัย อิสระทะ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - 53 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ประณามการข่มขู่คุกคาม “เอกชัย อิสระทะ” หลังพยายามเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองแร่หิน จ.พัทลุง พร้อมเรียกร้องให้มีการให้การคุ้มครอง

แถลงการณ์ 53 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ระบุว่า ประณามการข่มขู่คุกคาม นายเอกชัย อิสระทะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ในการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองแร่หิน จ.พัทลุง (เผยแพร่วันที่ 13 สิงหาคม 2562)

ตามที่ปรากฏข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ได้เกิดเหตุการณ์การข่มขู่คุกคามนายเอกชัย อิสระทะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ชาติ) และเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ซึ่งได้เดินทางไปเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น. ณ มัสยิดอัสซอลีฮีน หมู่ที่ 4 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง

แต่เมื่อนายเอกชัย อิสระทะ เดินทางไปถึงบริเวณมัสยิดที่ใช้จัดงาน ได้ถูกชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งขัดขวางห้ามไม่ให้เข้าร่วมเวที พร้อมทั้งทำการยึดโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ และบัตรประจำตัวประชาชนไว้ด้วย จากนั้นชายกลุ่มดังกล่าวได้บังคับควบคุมตัวนายเอกชัยขึ้นรถยนต์ไปกักขังไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงเย็นวันเดียวกันจึงปล่อยตัวนายเอกชัยออกมาโดยข่มขู่ห้ามไม่ให้แจ้งความดำเนินคดี และห้ามนายเอกชัยไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองหินนี้อีกต่อไป มิเช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยของนายเอกชัยและครอบครัว

องค์กรและกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน 53 องค์กรดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ ขอประณามการกระทำโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการข่มขู่คุกคามและละเมิดต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนอย่างร้ายแรง และมีความเห็นดังนี้

1. นายเอกชัย อิสระทะ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สิทธิชุมชน และประโยชน์สาธารณะ ถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตาม “ปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” (The UN Declaration on Human Rights Defenders) ที่รัฐไทยมีพันธะต้องให้การรับรองคุ้มครองและส่งเสริมให้สามารถทำหน้าที่ได้โดยปลอดภัย ปราศจากความหวาดกลัวและการข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบ

2. การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอนุญาตโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งในรูปแบบการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น การยื่นหนังสือต่อหน่วยงาน การจัดเสวนาสาธารณะ หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่นใดโดยสันติวิธี เป็นส่วนหนึ่งของการใช้สิทธิมีส่วนร่วมจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 43 และถือเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐและภาคธุรกิจเอกชนมีหน้าที่ต้องเคารพให้ความสำคัญและประกันรับรองให้กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นได้โดยเสรี ปราศจากการปิดกั้นข่มขู่คุกคาม ทั้งนี้ตามหลักการชี้แนะ เรื่อง ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights หรือ UNGPs) ที่รัฐไทยให้การรับรองและผูกพันต้องปฏิบัติตาม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรและกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน 52 องค์กรดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจเร่งสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับข่มขู่และกักขังหน่วงเหนี่ยวนายเอกชัย อิสระทะ ในเหตุการณ์วันที่ 5 สิงหาคม 2562 ตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ ป้องปรามการกระทำผิดซ้ำ และเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยจากอิทธิพลการใช้อำนาจนอกกฎหมายให้กับนายเอกชัย อิสระทะ ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการเหมืองแร่หิน

2. ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการและดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของ นายเอกชัย อิสระทะ และครอบครัว ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไปจนกว่าจะมีการนำคนผิดมาลงโทษ

3. ขอให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตรวจสอบและทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกรณีคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะเวทีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 และดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการได้อย่างแท้จริง

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหลักสิทธิมนุษยชน
1. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
2. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
3. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
4. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
5. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย
6. กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน
7. กลุ่มนักกฎหมายอาสา (Law long beach)
8. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
9. กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
10. กลุ่มรักษ์เขาชะเมา จังหวัดระยอง
11. กลุ่มรักษ์น้ำอูน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
12. กลุ่มรักษ์บ้านแหง
13. กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
14. กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch)
15. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
16. กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย
17. กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได
18. กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง (MyMekong)
19. กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง จังหวัดชลบุรี
20. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา
21. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกด้วย
22. เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก
23. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
24. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
25. เครือข่ายประชาชนคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่สาม
26. เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ ภาคตะวันออก
27. เครือข่ายผู้นำการสร้างสุขภาวะ
28. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก
29. เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดชลบุรี
30. เครือข่ายเยาวชนเปลี่ยนตะวันออก
31. เครือข่ายรักษ์พระแม่ธรณี จังหวัดชลบุรี
32. เครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำระยอง-ประแสร์ ระยอง
33. เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดจันทบุรี
34. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
35. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
36. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
37. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
38. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
39. มูลนิธิอีสต์ ฟอรั่ม
40. ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
41. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
42. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
43. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
44. ศูนย์สื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก
45. สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน
46. สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน
47. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
48. สมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี
49. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
50. สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
51. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
52. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
53. อีสานใหม่
 



กำลังโหลดความคิดเห็น