ตรัง - เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายลงพื้นที่ตรวจสอมฟาร์มหมูในพื้นที่ ต.ในควน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง หลังถูกชาวบ้านร้องกลิ่นเหม็นและน้ำเสีย ขณะที่ผู้ประกอบการเผยเปิดมานานกว่า 22 ปีและทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว
วันนี้ (9 ส.ค.) นายสาธิต ไกรนรา นายอำเภอย่านตาขาว จ.ตรัง พร้อมด้วย พ.อ.สุริยา ช่วยบำรุง หน.กลุ่มนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.ตรัง และนายทรงศักดิ์ สังขาว นายก อบต.ในควน อ.ย่านตาขาว รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน เช่น ปศุสัตว์ สาธารณสุข ได้เดินทางไปยังฟาร์มหมูแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ในควน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เนื้อที่กว่า 20 ไร่ หลังจากที่มีชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ม.3 ม.8 ต.ในควน อ.ย่านตาขาว และ ม.1 ต.บางด้วน อ.ปะเหลียน และ ม.2 ต.ท่าพญา อ.ปะเหลียน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนทั้งเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวน และการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะมานานกว่า 10 ปีแล้วนั้น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้เลี้ยงหมูประมาณ 3,200 ตัว ในระบบปิด ซึ่งถือว่ามีปริมาณลดลงจากเมื่อก่อนที่เคยเลี้ยงถึง 5,000 ตัว ทำให้เห็นคอกที่มีสภาพว่างเปล่าหลายจุด โดยมีคนงานประมาณ 10 คน กำลังให้อาหารหมูและทำความสะอาดคอกหมู ส่วนพื้นที่ด้านหลังมีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย จำนวน 5 บ่อ เพื่อให้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมีความสะอาดมากที่สุด พร้อมทั้งยังนำขี้หมูมาตากเพื่อทำปุ๋ย ขณะที่ปัญหากลิ่นเหม็นจากการตรวจสอบภายในฟาร์ม พบว่า อยู่ในระดับปกติ แต่อาจมีกลิ่นแรงบ้างในบางจุด สำหรับพื้นที่โดยรอบฟาร์มมีบ้านเรือนตั้งอยู่ห่างออกไปพอสมควร และส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา
นายทรงศักดิ์ สังขาว นายก อบต.ในควน กล่าวว่า หลังจากที่มีการร้องเรียนทุกครั้ง ตนและเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เพื่อหาทางแก้ปัญหามาโดยตลอด รวมทั้งยังมีการประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์ดำรงธรรม กอ.รมน. ให้ลงมาตรวจสอบหลายครั้ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับตำบลของทาง อบต.ระบุว่า จุดที่ตั้งฟาร์มหมูแห่งนี้อยู่ห่างวัดพรุโต๊ะปุกราษฎร์รังสรรค์ ประมาณ 300 เมตร จึงสามารถเลี้ยงหมูได้แค่ 50-100 ตัวเท่านั้น แต่ฟาร์มแห่งนี้กลับมีการขอประกอบการเลี้ยงหมูถึง 5,200 ตัว ซึ่งผิดไปตามข้อบังคับตำบล ดังนั้น อบต.จึงไม่อาจจะออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการได้ และได้ส่งเรื่องไปให้หน่วยงานระดับสูงเพื่อพิจารณาแล้ว
ด้าน นายสาธิต ไกรนรา นายอำเภอย่านตาขาว กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบล่าสุดไม่พบปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเสียรุนแรงตามที่มีการร้องเรียน แต่ที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลางก็ได้มาดูแลโดยตลอด แต่เนื่องจากไม่มีอำนาจในการสั่งให้ระงับ หรือหยุดการประกอบการเลี้ยงหมู ดังนั้น จึงมีมติที่จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการสาธารณสุข จ.ตรัง ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ.2560 ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นเลขานุการ ร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยทางออกของเรื่องนี้คงเป็นการพูดคุยเจรจาและหาข้อสรุปจากทางจังหวัด เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการต่อไป
ขณะที่เจ้าของฟาร์มหมูแห่งนี้ ชี้แจงว่า ตนเองเลี้ยงหมูบริเวณนี้มาตั้งแต่ปี 2540 เป็นเวลาถึง 22 ปีแล้ว รวมทั้งเข้ามาอยู่ก่อนที่จะมีชุมชนเกิดขึ้นเสียอีก หรือแถวนี้ยังมีสภาพเป็นป่า และยุคนั้นยังไม่มีกฎข้อบังคับอะไรเกิดขึ้นเลย อีกทั้งที่ผ่านมา ก็มีหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมลงมาตรวจสอบฟาร์ม ปรากฏว่าผ่านไปได้ด้วยดีทุกปี ตนจึงสามารถเลี้ยงหมูได้ เพราะทำทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการแล้ว แต่เมื่อไปขอใบอนุญาตประกอบการจากทาง อบต. กลับไม่สามารถให้ได้ และไม่ทราบว่าเพราะอะไร ส่วนข้อบังคับตำบลที่ออกมาก็เป็นสิ่งที่ยากในทางปฏิบัติ หรือจะให้ตนย้ายฟาร์มไปอยู่ที่ไหน ซึ่งล้วนแต่เป็นไปไม่ได้