xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ได้นิ่งเฉย! ม.วลัยลักษณ์ตั้ง กก.สอบกรณี “ป่าเหี้ยน-ดินหาย” รปภ.ทางเข้า-ออก 24 ชม. ฟ้องคนเสนอข้อมูลเพราะมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายจากข้อมูลไม่จริง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ม.วลัยลักษณ์ แจงฟ้องคนนำเสนอข้อมูล “ป่าเหี้ยน-ดินหาย” ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเพราะนำเสนอข้อมูลที่ไม่จริง มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย ยินดีรับฟังทุกฝ่าย ไม่ได้นิ่งเฉย สั่งตั้ง กก.สอบแล้ว ให้เวลา 30 วัน ตั้ง รปภ.ตรวจตราทางเข้า-ออกทั้งหมดตลอด 24 ชั่วโมง “รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร” ยันหากยังเกิดปัญหาซ้ำๆ อีกพร้อมรับผิดชอบ

จากกรณีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ตัดต้นไม้และขุดดินจำนวนมาก ซึ่งได้มีบรรดาศิษย์เก่า ประชาคมชาวท่าศาลา และ จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งนักศึกษาส่วนหนึ่ง ได้เสนอข้อเท็จจริงทางโซเชียลมีเดีย โดยในบรรดาคนเหล่านี้ ม.วลัยลักษณ์ได้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวน 3 คนนั้น MGR Online ภาคใต้ ได้จับเข่าคุยกับ ผศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม.วลัยลักษณ์ ในหัวข้อ "ปัญหาและทางออกการตัดไม้และขุดดิน ในรั้วมหาวิทยาลัย" เมื่อวันที่ 2 ส.ค.

ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยฟ้องร้องดำเนินคดี 3 ราย ไม่ใช่เรื่องที่มาเสนอแนะมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการตัดต้นไม้ แต่ยื่นฟ้องเพราะข้อมูลที่ไปเผยแพร่ไม่เป็นความจริง มีการกล่าวหาให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย สิ่งที่ประชาคมให้ข้อมูล เรารับฟังไว้ทั้งหมดและรับมาดำเนินการ โดย ม.วลัยลักษณ์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ให้เวลาดำเนินการ 30 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสอบ นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เราตั้ง รปภ.ทั้งเรื่องขุดดิน ขนไม้ และทรัพย์สินอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยด้วย จัด รปภ.ทุกทางเข้า-ออก มีการตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง ถ้ามีการร้องเรียนอีก รปภ.ต้องรับผิดชอบ ถ้าเกิดซ้ำ คนที่ดูแลต้องรับผิดชอบ และถ้ายังมีครั้งที่ 3 ตนก็ต้องรับผิดชอบ

“เรื่องการฟ้องร้องนั้นทุกอย่างมีทางออก แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง คือ แต่ละฝ่ายก็ยืนอยู่ในความคิดเห็นของตนเอง มหาวิทยาลัยก็ใช้เหตุผลของมหาวิทยาลัย อีกกลุ่มก็ใช้เหตุผลของเขา แต่ข้อมูลที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์บางส่วนไม่ใช่ความจริง บิดเบือนก็ต้องฟ้องศาล ส่วนเรื่องอาจจะมีการฟ้องกลับผู้บริหาร ม.วลัยลักษณ์นั้น เรื่องนี้เป็นกระบวนการหนึ่งที่ให้ทุกคนได้พิสูจน์ความจริง ก็ไปต่อสู้กัน ใครจะบอกว่าฝ่ายไหนถูก ก็คือสถาบันศาล เป็นแนวทางที่ดี” รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าว

ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า พื้นที่ของ ม.วลัยลักษณ์มีทั้งสิ้น 9,594 ไร่ ได้ถูกกำหนดเอาไว้เพื่อใช้เป็นพื้นที่อุทยานพฤกษศาสตร์ จำนวน 3,600 ไร่ โดยในพื้นที่นี้จะมีเพียงการสร้างอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเท่านั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาธรรมชาติวิทยา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า ส่วนที่เหลือในพื้นที่นี้จะไม่ดำเนินการอะไรเลย ถือว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ป่า และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยา แต่พื้นที่อื่นนอกเหนือจากพื้นที่อุทยานจะเป็นพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์ทั้งหมด เพื่อเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งนั้น ก็ต้องมีการเอาต้นไม้บางส่วนออกเพื่อการพัฒนา ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยพัฒนาไม่ได้ ต้องรักษาไว้ทั้งหมด ไม่ใช่

ฟังดูเหมือนหลายฝ่ายบอกว่า ม.วลัยลักษณ์พัฒนาโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำว่า สิ่งแวดล้อมไม่ใช่ป่าอย่างเดียว ไม่ใช่ต้นไม้อย่างเดียว แต่คือทุกสิ่ง มหาวิทยาลัยสีเขียวไม่ใช่แค่ต้นไม้ มันกว้างกว่านั้น เรากำลังพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือยูไอกรีนเมตริก เรามุ่งมั่นมากจะอยู่อันดับ 1 ใน 5 ของประเทศให้ได้ ปีที่ผ่านมา อยู่ 19 ทั้งเรื่องการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เราประหยัดไฟฟ้า ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่องน้ำ เรามีอ่างเก็บน้ำและพยายามพัฒนาการบำบัดน้ำ และเรื่องขยะ ที่มีวันละ 3 ตันต่อวัน มหาวิทยาลัยแยกขยะและสร้างเตาเผาขยะเองเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ เราใช้รถไฟฟ้าเป็นรถโดยสารภายใน

ม.วลัยลักษณ์ ยังสร้างสมาร์ทฟาร์ม ใช้พื้นที่ประมาณ 3 พันไร่ ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องทำฟาร์ม มีหลายชนิด ไม้ผล 11 ชนิด มีปาล์มน้ำมัน ยางพารา ใช้เพื่อการเรียนการสอน วิจัย และมีรายได้กลับมา วันนี้ได้ขยายพื้นที่เพื่อจะปลูกทุเรียน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและชุมชน เป็นตัวอย่างของการทำงานวิจัยที่ดี ซึ่งสมาร์ทฟาร์ม ที่ผ่ามานเราไม่เคยพัฒนาให้เต็มพื้นที่ แต่วันนี้มีแผนขยายให้เต็มพื้นที่ ซึ่งมีการนำต้นไม้บางส่วนออกไปเพื่อปลูกต้นไม้ที่มหาวิทยาลัยจะใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน อีก 5 ปี 10 ปี กลับมาใหม่ ในฟาร์มจะมีต้นไม้ไม่น้อยกว่า 58,000 ต้น

นอกจากนี้ ม.วลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ต้องเลี้ยงตัวเอง จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อลดภาระงบของรัฐบาล หากเราไม่สร้างผลิตภัณฑ์อื่นๆ มา มหาวิทยาลัยจะมีรายได้จากไหน จากค่าธรรมเนียมนักศึกษาก็กระทบผู้ปกครอง กระทบประชาชน แต่วันนี้พยายามใช้เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งการตัดต้นไม้ เราเว้นต้นไม้ใหญ่ไว้ หากประชาคมบอกว่าควรเว้นเพื่ออะไร เราก็ยินดีจะรับฟัง เราจะได้ไปเขียนไว้ก่อนว่าไม่ควรเอาออก เพราะฉะนั้นบอกมาเลยว่าต้นอะไรที่เราควรจะเก็บไว้

 

รองอธิการบดี กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์ยังตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลต้นไม้ในมหาวิทยาลัยด้วย ตั้งมา 2 สัปดาห์แล้ว ตนเป็นประธานเอง มีการประชุมกันแล้ว มีกรรมการเป็นบุคคลภายนอกด้วย รวมทั้งนายกสมาคมศิษย์เก่าด้วย นายกองค์การนักศึกษา เพื่อมาดูว่า ม.วลัยลักษณ์มีต้นไม้อะไรบ้าง ซึ่งเคยมีการสำรวจไปแล้วเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขณะนั้นมี 313 ชนิด มีไม้ยืนต้นประมาณ 180 ชนิด

ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องขุดดิน วันนี้มีอยู่จริง ขุดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ วันนี้ก็ยังขุดอยู่ ขุดในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อใช้ถมในพื้นที่ก่อสร้างศูนย์การแพทย์ และถมข้างอาคารวิชาการ ซึ่งสร้างมานานแล้ว ข้างอาคารเป็นหลุมเข้าไปแล้วไม่สวย จึงเอาดินมาถม และสนามหญ้าข้างอาคารต่างๆ เป็นหลุม เวลาฝนตกจะทำให้น้ำขัง เราก็เอาดินไปปรับพื้นที่ให้สวยงาม ส่วนเรื่องการขุดดินข้างวัดแสงแรงนั้น มหาวิทยาลัยได้ให้สำนักงานที่ดิน อ.ท่าศาลา มาช่วยตรวจแนวเขตว่าพื้นที่ที่ขุดนั้นเป็นพื้นที่ของใคร ซึ่งผลที่ออกมาเป็นพื้นที่ของ ม.วลัยลักษณ์ ฝ่ายนิติกรจึงขออนุมัติว่าจะเชิญวัด ที่ดิน และคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเอกชนอยู่ข้างๆ มาดูด้วยกันอีกครั้ง
 



กำลังโหลดความคิดเห็น