ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ประชาคม-ภาคประชาชนเตรียมฟ้องกลับผู้บริหาร ม.วลัยลักษณ์ ป.อาญา ม.157 หากยังนิ่งเฉยกรณีการตัดไม้-ขุดดินในพื้นที่มหาวิทยาลัย แฉเรื่องถึงหูแม่ทัพภาคที่ 4 มีการเรียกประชุมแต่กลับเงียบหาย ผญบ.เผยเคยแนะเรื่องขุดดินให้กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนแต่กลับนิ่งเฉย ส่วนเรื่องตัดไม้ ชาวบ้านเขารู้มานานแล้ว
จากกรณีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ตัดต้นไม้และขุดดินจำนวนมากนั้น MGR Online ภาคใต้ ได้ตั้งล้อมวงเสวนาร่วมหาทางออก ในหัวข้อ “ป่าเหี้ยน-ดินหายที่ ม.วลัยลักษณ์ ครั้งที่ 2” หัวข้อ “ปกป้องป่าวลัยลักษณ์ : ปอดของคนท่าหลา ป่าของเมืองคอน” เมื่อวันที่ 1 ส.ค.
นายจรัญ อินทมุสิก อาจารย์โรงเรียนขุนทะเลวิทยาคม จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งการตัดต้นไม้และขุดดินในพื้นที่มหาวิทยาลัย รวมทั้งขุดดินจากพื้นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งต้องขออนุญาตไปตามขั้นตอน เรื่องนี้ลึกๆ แล้วเป็นเรื่องแปลก ทราบมาว่า เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าว ไม่รู้ข่าวไหนไปเข้าหู แม่ทัพภาคที่ 4 เรียกประชุมด่วน แต่พอเกือบ 1 เดือน เรื่องเงียบไปเฉยๆ เราก็สงสัยว่าเพราะอะไร นี่ขนาดระดับแม่ทัพ ระดับ กอ.รมน.ที่ดูเรื่องความมั่นคง เรื่องอิทธิพล ยังหยุดเรื่องนี้ ขนาดกองทัพยังเอาไม่อยู่คืออะไร
“ดังนั้น หากปัญหาภายในยังเดินต่อ นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลงมาเล่นเอง นายกรัฐมนตรีอาจตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด มาดูเรื่องนี้ ตัดไม้ ขุดดิน จริงไม่จริง หากไม่อยากให้เรื่องถึงนายกฯ ไม่อยากให้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการ อธิการบดีและผู้เกี่ยวข้องต้องหยุดด้วยตนเอง และต้องมาคุยกับประชาคม”
นายเรียง สีแก้ว เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีฯ พัทลุง กล่าวถึงกรณีที่มีการฟ้องร้องผู้ที่ออกมาโพสต์เรื่องนี้ 3 คน ว่า “ใครรบเพื่อนผม ผมรบด้วย หากอธิการบดีจะรบกับเพื่อนผม 3 คนนี้ ผมรบด้วย อธิการบดีรอรับมือเรื่องคดีได้เลย การดำเนินการทางกฎหมายกับอธิการบดีคนนี้จะต้องเกิดขึ้น หากภายในสัปดาห์หน้ายังไม่ออกมายอมรับความจริง ไม่มีแถลงการณ์ว่าตัดไม้จริง ขุดดินจริง ทำลายที่ธรณีสงฆ์จริง เราเอาจริง”
นายประยุทธ วรรณพรหม กล่าวถึงเรื่องการดำเนินคดีต่อคณะผู้บริหาร ม.วลัยลักษณ์ ว่า ต้องไปดูว่าวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ม.วลัยลักษณ์ ที่ให้มีการจัดการทรัพยากรภายใน หากอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ไม่รับผิดชอบ ก็ต้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้านนายกรีรัตน์ ทองใส กล่าวว่า เรามาเพื่อเรียกวิญญาณของ ม.วลัยลักษณ์ หากอธิการบดีไม่ถอย ยุ่งแน่ๆ
นายสุรินทร์ สุขสาน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา กล่าวว่า ตั้งแต่อธิการบดีคนปัจจุบันมาดำรงตำแหน่งก็มีเทียบเชิญไปยังผู้นำรอบมหาวิทยาลัยเข้าไปรับรู้รับทราบการบริหาร ม.วลัยลักษณ์ พวกเราในนามของผู้นำชุมชนก็ให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ กำนัน และนายก อบต.ที่มีพื้นที่ติด ม.วลัยลักษณ์ ให้ความร่วมมือด้วยดีมาโดยตลอด เพื่อให้ ม.วลัยลักษณ์เป็นไปในทิศทางที่พวกเราตั้งใจกันไว้ แต่การเข้าร่วมการทำกิจกรรมมีประเด็นใน 1-2 ปีให้หลัง เกิดปัญหาการจัดการพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย ที่ ม.วลัยลักษณ์ให้คำนิยามไว้ว่า การจัดการบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ แต่ทำโดยไม่มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมผู้นำรายรอบ
นายสุรินทร์ กล่าวว่า โดยเฉพาะการจัดการปัญหาป่าไม้ ในขณะที่แต่ก่อนมีการประชุมกัน พวกเราเรียกร้องในที่ประชุมร่วมกับผู้บริหาร โดยเฉพาะเรื่องการขุดดิน เข้าใจความจำเป็นนำดินไปปรับปรุง ไปใช้ประโยชน์ เราต้องการให้พิกัดจุดให้เป็นรูปธรรมและชัดเจน ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ใช่จะขุดตรงนี้ก็ขุด พอมีปัญหาก็เลื่อนไปขุดจุดอื่น ตอนนี้มีการขุดทั่วมหาวิทยาลัย เป็นการขุดโดยพลการ ทำให้เสียพื้นที่ เคยบอกแต่ไม่มีการตอบรับจากคณะผู้บริหาร
“มาร่วมวันนี้ มาในนามของพี่น้องประชาชนรอบ ม.วลัยลักษณ์ ที่มองเห็นการกระทำอยู่แล้วรู้สึกว่า ผู้บริหาร ม.วลัยลักษณ์ดูถูกประชาชนชาวท่าศาลา เรื่องต้นไม้ ประชาชนรายรอบทั้งหมดรับรู้มาตลอดว่ามีการลักลอบตัดไม้มานานแล้ว แต่เพิ่มความรุนแรงมาในระยะหลัง ผมยืนยันว่ามีมานานแล้ว หลายปีแล้ว เดิมมีการตัดต้นไม้เพื่อให้พี่น้องรายรอบเข้ามาปลูกแตงโมในระยะเริ่มแรก พอมีการคิดตัดต้นไม้เพื่อทำประโยชน์ ปรับพื้นที่ทั้งหมด จนปัจจุบันพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่มีมากในพื้นที่ ม.วลัยลักษณ์ โดยเฉพาะต้นประดู่ ต้นยางนา ที่เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นถูกตัดไปเยอะ มีการหลบหลีกเพิ่มขึ้น” นายสุรินทร์ กล่าว
นายศรเดช คำแก้ว ศิษย์เก่า ม.วลัยลักษณ์ ได้เล่าถึงสถานการณ์ล่าสุดที่ได้ลงพื้นที่เมื่อเช้าก่อนการเสวนาว่า ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้สื่อสารกับผู้บริหารมาตลอด ล่าสุด เมื่อวานและวันนี้ ซึ่งเราได้ลงไปสำรวจพื้นที่อีกแปลง ที่ไม่เคยไป อยู่ด้านหลัง ม.วลัยลักษณ์ พบว่า มีการลักลอบตัดต้นไม้มากกว่าด้านหน้า ทั้งไม้ยางนา ต้นตะเคียน ต้นใหญ่ๆ เปิดเป็นช่องให้รถเข้าไปขน อยู่ในพื้นที่ที่มีทางออกแค่ทางเดียว ตรงทางเข้าออกมีป้อมยาม ไม้บางส่วนเอาออก ส่วนที่เหลือคือตอ มีรอยชำรุด ใช้งานไม่ได้ บางส่วนขนไม่หมด ทั้งนี้ ไม้ยางนาและตะเคียนต้องขออนุญาตก่อนตัด
นพ.รังสิต ทองสมัคร กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ยังตั้งคำถามอยู่ทุกวันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จะจบอย่างไร มี 2-3 ประเด็น คือ ต้นไม้ใน ม.วลัยลักษณ์มีการตัดจริง ตนทั้งโพสต์และแชร์ในโซเชียลทุกวันเพื่อให้เขาฟ้อง แต่ก็ยังไม่ฟ้อง เมื่อมีการตัดต้นไม้ ตนอยู่ข้างนอก ม. อยู่ท่าศาลา ผู้บริหารไม่รู้หรือว่ามีการลักตัด ถ้ารู้ ท่านทำอย่างไร ไม้หายไปไหน ใครเป็นคนตัด ผู้บริหารรับรู้หรือมีส่วนร่วมให้มีการลักตัดหรือไม่
“ขอฝากถึงอธิการบดีและผู้บริหารด้วยความรักและความเคารพว่า ขอให้มองว่าคนที่ออกมาทุกคนเราไม่ได้เกลียด ม.วลัยลักษณ์ เรารัก ม.วลัยลักษณ์ ขอให้อธิการบดีและผู้บริหารลดทิฐิ ขอให้มองว่าเราหวังดีต่อท่าน เรื่องนี้ยุติได้ง่ายมาก คือ อย่ามองพระเป็นโจร และอย่ามองโจรเป็นพระ ตอนนี้สิ่งแวดล้อมรอบตัวของท่านเป็นพิษ เราสงสัยมาก ทำไมคนแวดล้อมท่าน ทำไมท่านมองไม่ออก เรามองอย่างคนที่ไม่มีผลประโยชน์ ผมเต็มที่ให้ ม.วลัยลักษณ์มาโดยตลอด ทำอยู่ด้านหลัง” นพ.รังสิต กล่าว