xs
xsm
sm
md
lg

ส่อวุ่น! กรณีขุดลอกทุ่งพรุลานควายบ้านน้ำดำหลังหน่วยงานรัฐยังไม่ลงมติยุติโครงการ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ปัตตานี - กรณีทุ่งพรุลานควายบ้านน้ำดำส่อจะบานปลาย หลังหน่วยงานราชการยังไม่มีท่าทีจะหยุดโครงการขุดลอก ตามที่ชาวบ้านเลี้ยงควายเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ

วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านทุ่งน้ำดำในนาม “ชมรมคนรักษ์ควายไทยบ้านน้ำดำ” อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่ไม่เอาโครงการลักษณะขุดลอกเพื่อการพัฒนาพื้นที่พรุลานควายน้ำดำ เหมือนจะบานปลาย โดยชาวบ้านเตรียมพร้อมจะเดินทางไปพบนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางลงมาในพื้นที่ในช่วงวันที่ 7 สิงหาคมนี้

หลังจากที่ฝ่ายจัดทำโครงการยังคงมีความพยายามจะเดินหน้าโครงการดังกล่าว โดยไม่สนใจเสี่ยงคัดค้านของชาวบ้านที่เลี้ยงในทุ่งพรุลานควายแห่งนี้ อาจมีขั้นฟ้องร้องชาวบ้านที่คัดค้านกับการโครงการดังกล่าวนี้ จากการส่งเสียงข่มขู่ชาวบ้านที่คัดค้านมาเป็นระยะๆ เนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้ได้ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยห้าหุ้นส่วนมะซาสัมพันธุ์ และได้ดำเนินการขุดลอกแล้วบางส่วน แต่ถูกสั่งให้หยุดชั่วคราวก่อน เพื่อเข้าคุยสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ต้องขอบคุณพี่น้องชาวบ้านทุ่งน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ขณะนี้รับทราบข้อมูลที่พี่น้องแจ้งมาแล้ว และจะรีบลงพื้นที่ไปดูด้วยตนเองและจะเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยด่วย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีคณะของ นายสมนึก พรหมเขียว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ปลัดจังหวัด ป้องกันภัยพลเรือนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ยังไม่เป็นผล

นางมาเรียม บีรู ประธานสภา อบต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ทางชาวบ้านเตรียมพร้อมที่จะเดินทางไปยื่นหนังสื่อร้องเรียนนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ด้วย หวังว่าทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าพบ เนื่องจากชาวบ้านทุ่งน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้ยุติโครงการทั้งหมด ที่จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตคน และชีวิตควายทุ่งยางแดง
 

 
โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการเปิดสภาวิสามัญ อบต. สมาชิก อบต. 10 คนที่เข้าประชุม ผลออกมาเสมอ 5 ต่อ 5 ตนจึงได้มีการใช้สิทธิ์ความเป็นประธาน อีก 1 เสียงทั้งที่จริงๆ ประธานต้องตั้งตัวเป็นกลาง แต่ครั้งนี้ต้องช่วยชาวบ้านจึงขอให้ยุติโครงการ เพราะชาวบ้านเรียกร้องมาให้ช่วยเหลือร้องไห้มาตลอดก็เลยใช้สิทธิ์สมาชิก 1 เสียง ทำให้เสมอและใช้สิทธิ์เป็นประธานอีก 1 สรุปคือ 6 เสียงที่ขอให้ยุติโครงการ และ 5 เสียงที่ให้มีการดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทำที่อำเภอแล้วสรุปออกมาชาวบ้านก็ขอให้ยุติโครงการ ต่อมาจะเอามติของสภา อบต.ก็ออกมาเสียงที่ให้ยุติมากกว่า

สำหรับเสียงสมาชิก อบต. 5 คนที่เห็นชอบให้โครงการดำเนินการต่อนั้น พวกเขาก็มีวัวควาย เหมือนกัน ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมเขาถึงยกมือให้ขุด เขาเป็นสมาชิกอบต. เขาเลี้ยงควายด้วย ทำไมถึงยกมือทั้งที่จะเสียประโยชน์ทำลายธรรมชาติ รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างจะเกี่ยวกับรับประโยชน์หรือไม่ อย่างไรที่ทำให้เขาต้องยกมือสนับสนุนโครงการดังกล่าว ทั้งที่โครงการดังกล่าวไม่ได้ผ่านสภามาก่อนเลย

“ก็ขอให้ทางผู้ว่าฯ เห็นใจชาวบ้านด้วย ช่วยชาวบ้านด้วย โครงการนี้ชาวบ้านไม่ต้องการเพราะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตคนทุ่งยางแดงและชีวิตควาย” นางมาเรียม บีรู ประธานสภา อบต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กล่าว

ด้าน นายซัมสุดีน อาลีฮาซัน นายก อบต.นํ้าดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กล่าวว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาทเพื่อขุดคลองส่งน้ำบ้านทุ่งน้ำดำ ยาว 1 กม. กว้าง 20 เมตร ลึก 2 เมตร ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ในการพัฒนาตำบลน้ำดำทั้งตำบล มีการทำวิจัยปี 2558 ในการทำวิจัยตรงนี้มีชาวบ้านส่วนใหญ่จะต้องเห็นด้วยในการพัฒนาทั้งระบบส่งน้ำ ทางระบบการดูแลการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ตามนโยบายจะมีการประชาคมทุกปี ซึ่งตำบลน้ำดำมี 5 ตำบล มี 5 ชุมชน ผมยึดหลักมาเป็นตัวกลางในการพัฒนาทั้งตำบล เรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 มีการประชาคมที่สำนักงาน อบต.ซึ่งประชาคมที่มาทุกหมู่บ้านรวมกัน 106 ชีวิต ในวันนั้นมีการลงลายมือชื่อมีการบันทึกภาพทุกด้านมีหมด เพื่อทำแผนพัฒนาตำบล 4 ปี

ในการทำแผนพัฒนาตรงนี้มีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้นำเสนอปัญหา ให้แก้ไขความเดือดร้อนเรื่องน้ำท่วมเพราะน้ำท่วมที่นี่ โดยเฉพาะในหมู่ 5 เวลาน้ำท้วมน้ำจะค้างมากเป็นเวลานานพอสมควร จึงเกิดการขอโครงการจาก ปภ.จังหวัด บังเอิญปีนี้ได้รับการอนุมัติจึงเกิดปัญหา
 

 
เดิมทีได้แจ้งชาวบ้านแล้วว่าโครงการพัฒนาทุกโครงการจะต้องบรรจุอยู่ในแผน ตรงนี้ก็นำเสนอที่สภา เมื่อนำเสนอที่สภาหลังจากนั้นก็ไม่รับรู้ ทางสภาเห็นชอบก็ทำข้อเสนอ มีประมาณ 100 กว่าโครงการ ทั้ง 4 ปี

เรื่องนี้ก็เสนอให้หน่วยงานป้องกันภัยพลเรือน (ปภ.) ได้เสนอไป 2 เรื่อง คือโครงการทำคูระบายน้ำเป็นแบบคอนกรีต คือโครงการที่เกิดเรื่องตอนนี้ 2 โครงการที่กำลังมีปัญหาอยู่ตอนนี้ ตอนนี้เหมือนผมจะหมดหน้าที่ด้วยเพราะเป็นโครงการของ หน่วยงานป้องกันภัยพลเมือง (ปภ.) ไม่ใช่โครงการของ อบต.

ส่วนตัวผมต้องแล้วแต่ชาวบ้านซึ่งจริง ๆ วัวควาย สัตว์เลี้ยงที่มีตรงนั้น มีประมาณ 1,000 กว่าตัวเท่านั้น ที่ได้ข่าวว่า 4,000 กว่าตัวไม่จริง และผู้เลี้ยงควายในชุมชนมีประมาณ 7- 8 ครอบครัวจากประชากรทั้งหมดในทุ่งน้ำดำ จากที่ได้ไปพูดคุยสัมผัสสองต่อสองตรงนั้นตรงนี้ มีไม่เกิน 10 คนที่ไม่เอาโครงการนี้ และมีคนที่ไม่เลี้ยงควายด้วยที่ไม่เอาโครงการนี้

“ผมต้องดูแลทุกคนมีอะไรต้องปรับแก้ก็ปรับแก้เพื่อจะให้อยู่ร่วมกัน ไม่ใช่จะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการพัฒนาตำบลน้ำดำ ผมได้ทำวิจัยโดยเฉพาะการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมเองที่มหาลัยฟิลิปปินส์” นายซัมสุดีน อาลีฮาซัน นายก อบต.นํ้าดำ

ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี และเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสลงพื้นน้ำดำ ทราบมาว่าจะมีโครงการลงมาในพื้นที่เป็นโครงการขุดลอก มาดูแล้วเห็นบริบทพื้นที่ด้วย อยากให้มีการทำข้อมูลเชิงประจักษ์ ในลักษณะข้อมูลในพื้นที่ ข้อมูลรวมเป็นยังไง ลักษณะพลุเป็นยังไง บริบทของพลุ พื้นที่หมื่นกว่าไร่ตรงนี้ตำแหน่งที่โครงการจะลงอยู่ตรงไหน โครงการที่ลงไปแล้วมีตรงไหนบ้าง แต่ละโครงการมันส่งผลบวกผลลบต่อพื้นที่อะไรบ้าง ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมแต่ละโครงการมากน้อยแค่ไหน มันจะลดความขัดแย้งไปได้

ชาวบ้านมีความกังวลในเรื่องของควาย การข้ามระหว่างคลองมีการทำให้ขอบสูงขึ้น กว่าจะข้ามทำให้มีความลำบาก มันเป็นความขัดแย้งของวิถีชีวิตประชาชนในการเลี้ยงควาย ซึ่งถ้ามองว่าเป็นการระบายน้ำท่วมอาจไม่ตรงนัก เพราะว่าเวลาน้ำท่วมมันท่วมหมดเลยทั้งหมดบริเวณหมื่นกว่าไร่ไปถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านอยู่ด้วยซ้ำ
 

 
ถ้าเป็นไปได้ก็จะต้องมาลงดูพื้นที่เป็นยังไง พูดคุยกับชาวบ้าน เขาต้องการทั้งหมดไหม ผลดีที่เกิดขึ้นในการนำโครงการมีอะไรบ้าง ก็มาพูดคุยกัน พัฒนาพื้นที่ไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข

“จากการสำรวจพื้นที่ทั้งหมดในพลุลานควายหมื่นกว่าไร่ มีโครงการเข้ามาเยอะ ซึ่งถ้าเราไปดูภาพดาวเทียมย้อนหลังประมาณถึง 30 ปีที่แล้ว ที่เป็นพลุจนมาถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายโครงการ ที่ลงมารู้สึกว่าพื้นที่พรุพื้นที่ป่าถูกทำลายหายไปเรื่อยๆ ที่เหลือจำนวนหนึ่งถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะอนุรักษ์เอาไว้” ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี กล่าว

ด้าน นางฮาลีเมาะ ปิ ประธานชมรมรักษ์ควายไทยบ้านน้ำดำทุ่งยางแดงปัตตานี ได้กล่าวว่าตอนนี้ชาวบ้านที่นี่มีความเครียดกับโครงการนี้มาก ไม่รู้จะยุติเมื่อไร ทั้งที่รับรู้เห็นมากับกับตาว่าโครงการขุดลอกที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 20 กว่าโครงการ ซึ่งไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์ให้กับชุมชนใดๆ แต่กลับสร้างความเสียหายกับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านนับไม่ถ้วน เคยมาแสดงความรับผิดชอบไม 

วันนี้ชาวบ้านที่เลี้ยงควายได้รวมตัวกันเพื่อเดินหน้าต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ในการที่จะร่วมอนุรักษ์ควายไทย และวิถีชีวิตของคนทุ่งพรุลานควายแห่งนี้ให้สามารถอยู่คู่ชุมชนน้ำดำสืบไป ทั้งนี้เป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยและทรงรับสั่งให้คนไทยช่วยกันอนุรักษ์ควายไทย ทางชาวบ้านน้ำดำจึงได้รวมตัวตั้งเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงควายในนาม “ชมรมรักษ์ควายไทยบ้านน้ำดำทุ่งยางแดงปัตตานี”

นางฮาลีเมาะ ปิ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ควายที่นี่ไม่เรียนหนังสือ แต่ควายที่นี่สามารถส่งคนเรียนจนจบปริญญา ทุกวันนี้เมื่อลูกเข้าเรียนไม่มีค่าเทอมให้ลูกก็ขายควาย ไม่มีเงินซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูกใช้เรียนก็ขายควาย การเลี้ยงในทุ่งพรุน้ำดำแห่งนี้เหมือนเรากำลังออมเงินธนาคาร นี่บ่งบอกถึงความสำคัญและความผูกพันควายกับคนน้ำดำที่นี่
 


กำลังโหลดความคิดเห็น