xs
xsm
sm
md
lg

มากินกุ้งมังกรกัน! Phuket Lobster Festival 2019 ตลอดเดือนสิงหาคมนี้ คาดเงินสะพัดกว่า 200 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชวนมากินกุ้งมังกรที่ภูเก็ตตลอดเดือนสิงหาคมนี้ กับเทศกาล “Phuket Lobster Festival 2019” ร้านอาหารกว่า 100 ร้านทั่วเกาะ พร้อมใจกันรังสรรค์เมนูจากกุ้งมังกรเสิร์ฟให้ลูกค้าในราคาสุดพิเศษ คาดทำเงินสะพัดกว่า 200 ล้านบาท

นายภัคพงศ์ ทวีพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายประเจียด อักษรธรรมกุล ประธาน บริษัท ประชารัฐรักสมัคคีภูเก็ต จำกัด นายวีระชัย ปรานวีระไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสมัคคีภูเก็ต นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผอ.ททท.สำนักงานภูเก็ต นายศิริพงศ์ พนาสนธิ์ ประมงจังหวัดภูเก็ต ประมงจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงข่าวเทศกาลกุ้งมังกร ครั้งที่ 4 หรือ Phuket Lobster Festival 2019 (Season4) โดยมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ โรงแรม Cloud 19 แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2562 ที่ผ่านมา

เทศกาลกุ้งมังกรภูเก็ต เป็นความร่วมมือระหว่าง จังหวัดภูเก็ต บริษัท ประชารัฐรักสมัคคี จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต สมาคมโรงแรมภาคใต้ ชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารนครภูเก็ต บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในการจัดเทศกาลกุ้งมังกร โดยการเชิญชวนร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมต่างๆ ทั่วทั้งเกาะภูเก็ต ร่วมกันรังสรรค์เมนูกุ้งมังกรที่เป็น Phuket Lobster Signature menu เพื่อขายในร้านอาหาร ในโรงแรมต่างๆ ซึ่งในปีนี้มีร้านเข้าร่วมกว่า 100 ร้าน ตลอดเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมด้วยโปรโมชั่นพิเศษ ที่ลูกค้าทั่วไปสามารถสั่งรับประทานได้ เช่น บางร้านจัดโปรพิเศษราคาเพียงจานละ 499 (แกงคั่วกุ้งมังกรกระท้อน ร้าน ต.ตำส้มตำอินดี้) ห้องอาหารโบตั๋น โรงแรมรามาดาพลาซ่าเจ้าฟ้า จัดเมนู Phuket Lobster Shewers with Sechan Sauce ในราคา 380 บาท ร้านพิเศษ ส่งเมนูมาม่าต้มยำกุ้งมังกรชีส ในราคา 999.บาท ร้านกันเองแอทเพีย นำเสนอเมนูกุ้งมังกรสามฤดู ราคา 1,299 บาท รวมไปถึงเมนูกุ้งมังกรผัดเม็ดมะม่วง จากโรงแรมเดอะรอยัลปาล์มรีโซเทล ในราคา 999 บาท และกุ้งมังกรผัดเม็ดมะม่วงราคา 990 บาท จากรอยัลปาล์มเรสเตอรองแอนด์บาร เป็นต้น รวมถึงเมนูเด็ดๆ ราคาพิเศษๆจากร้านที่เข้าร่วมโครงการอีกมากมาย

เทศกาลกุ้งมังกรภูเก็ต จัดขึ้นเพื่อเป็นกระตุ้นการกินกุ้งมังกรในภูเก็ตมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนผู้เลี้ยงกุ้งมังกรภูเก็ตและจังหวัดในอันดามันในช่วงโลซีซั่น เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กุ้งมังกรภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

นายวีระชัย ปรานวีระไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสมัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจสังคม) กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดงาน Phuket Lobster Festival ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้เกิดกระแสนิยมกินกุ้งมังกรในภูเก็ตในช่วงเดือนสิงหาคมและตลอดทั้งปี ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารคึกคักขึ้น ส่งผลดีต่อผู้เลี้ยงกุ้งมังกรมีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว รวมทั้งส่งผลให้ภาพรวมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในช่วงโลว์ซีซั่นมีเงินสะพัดมากขึ้นกว่า 200 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว เพราะในปีนี้ทางประชารัฐรักสมัคคีได้เข้าไปควบคุมในส่วนของคุณภาพและเมนูกุ้งมังกรกับทางร้านที่เข้าร่วมโครงการมากขึ้นตลอดเดือนสิงหาคมนี้ และแต่ละร้านได้จัดโปรโมชั่นราคาพิเศษในการที่จะส่งเสริมการกินกุ้งมังกรมากขึ้น ในราคาที่สามารถจับต้องได้ ไม่แพงเกินไป เช่น ราคาเริ่มต้นที่จานละ 380 บาท เป็นต้น

ด้าน นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผอ.ททท.สำนักงานภูเก็ต ระบุว่า เทศกาลกุ้งมังกรภูเก็ตนั้น เป็นกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายเงินในภูเก็ตมากขึ้น เพราะราคากุ้งมังกรที่แต่ละร้านจัดทำเป็นเมนูอาหารนั้น เป็นราคาที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติสามารถจับต้องได้ ไม่แพงจนเกินไป และในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เป็นวันหยุดยาวของจีน นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวภูเก็ต ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนนิยมรับประทานกุ้งมังกรกันอยู่แล้ว จะทำให้บรรยากาศเทศกาลกุ้งมังกรคึกคักมากขึ้นและมีเงินสะพัดในเทศกาลดังกล่าวมากขึ้นด้วย

ขณะที่ นายศิริพงศ์ พนาสนธิ์ ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการส่งเสริมเลี้ยงกุ้งมังกรภูเก็ตให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ว่า ความต้องการกุ้งมังกรภูเก็ต หรือ กุ้งมังกรเจ็ดสี นั้น มีจำนวนมาก ที่จับได้ในทะเล หรือเพาะเลี้ยงในกระชังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ เนื่องจากปริมาณการเลี้ยงได้ในขณะนี้มีน้อยมาก เมื่อปีที่แล้วตลอดทั้งปีสามารถเลี้ยงได้เพียง 905 กิโลกรัมเท่านั้น กุ้งมังกรที่บริโภคกันในจังหวัดภูเก็ต เป็นการนำเข้ามาจากจังหวัดใกล้เคียง ทั้ง ระนอง กระบี่ พังงา และนำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับการส่งเสริมเลี้ยงกุ้งมังกรนั้น ทางประมงจังหวัดได้ร่วมมือกับทางศูนย์วิจัยประมง ที่บ้านพาราในการเพาะพันธุ์กุ้งมังกร โดยการนำแม่พันธุ์ทีมีไข่มาดีดไข่ออกจาก จากนั้นก็จะทำการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งขณะนี้สามารถเลี้ยงได้แค่ 60-70 วัน ก็จะต้องปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มจำนวนกุ้งมังกรตามธรรมชาติ เพราะหากเลี้ยงเกินกว่านี้จะพบกับปัญหาตัวอ่อนตายจำนวนมาก ซึ่งในจุดนี้จะต้องมีการพัฒนาในส่วนของเทคนิคการเลี้ยงต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์กุ้งมังกรภูเก็ต หรือ กุ้งมังกรเจ็ดสี ในพื้นที่บริเวณเกาะหงำ อ.ถลาง และเกาะทนาน ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยการห้ามทำประมงในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ยกเว้นเครื่องมือประมงเล็กๆเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มจำนวนกุ้งมังกรเจ็ดสีในธรรมชาติให้มากขึ้น รวมไปถึงการจัดทำธนาคารกุ้งมังกร เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรกุ้งมังกรเจ็ดสีในท้องทะเลภูเก็ตให้มากขึ้น

ส่วนการเพาะเลี้ยงในกระชังนั้น ยังเพาะเลี้ยงได้น้อยมาก เมื่อปีที่แล้วได้เพียง 905 กิโลกรัมเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงในกระชังต้องการนำกุ้งมังกรขนาด 200 - 250 กรัม มาขุนให้ได้ตามน้ำหนักที่ต้องการ แต่กุ้งขนาดที่เกษตรกรต้องการนั้น ในประเทศไทยังไม่สามารถผลิตได้ จะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น จึงมีปริมาณการเลี้ยงได้จำกัด ซึ่งการเพาะเลี้ยงนั้นมีเท่าไรตลาดก็รับซื้อทั้งหมด เพราะปริมาณที่เลี้ยงได้มีน้อยกว่าความต้องการในตลาดมาก

โดยขณะนี้มีเกษตรกรเพาะเลี้ยงในกระชังที่ขึ้นทะเบียนกับทางประมงมีประมาณ 27 รายเท่านั้น บางรายก็ได้หยุดเลี้ยงแต่ยังมีกระชังที่พร้อมจะเลี้ยง จากต้นทุนในการเลี้ยงที่ค่อนข้างสูง ซึ่งการเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชังนั้น เกษตรกรจะต้องสั่งกุ้งมังกรขนาด 200-250 กรัม มากจากต่างประเทศในราคากิโลกรัมละ 1,500 บาท ถ้าซื้อในเมืองไทย 1,700 บาท หลังจากนั้นจะนำมาขุนในกระชัง โดยให้ปลาหลังเขียวและหายกระพงเป็นอาหาร ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 9 เดือนถึง 1 ปี จับขายราคาหน้ากระชังตามฤดูกาลกิโลกรัมละประมาณ 2,600 บาท เมื่อนำสู่ร้านอาหารราคาก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 3,500 บาท ราคาจะสูงกว่ากุ้งที่นำเข้ามาจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่กุ้งมังกรเจ็ดสีของภูเก็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น